เที่ยว “น่าน”…ให้นานๆสนุกดี…!!!

นานๆทีจะได้มีโอกาสมาเที่ยว “น่าน” สักครั้ง ซึ่งไม่ว่าจะมาครั้งใดก็ประทับใจทุกครั้ง จนอยากอยู่…น่าน…ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

มาน่านวันนี้ โชคดีที่มี “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (แพร่ – น่าน)” เป็นไกด์พาเที่ยว โดยที่แรกที่ ททท.แพร่ พามาสัมผัสก็ได้แก่ “หออัตลักษณ์นครน่าน” เพื่อเป็นการเปิดตัวนครน่านให้เราได้รู้จักกัน หออัตลักษณ์นครน่าน เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของเมืองน่าน ภายในมีห้องฉายวีดีทัศน์เกี่ยวกับเมืองน่าน , ห้องแสดงวิวัฒนาการสายสัมพันธ์เมืองน่านสู่รัตนโกสินทร์ สายสัมพันธ์ล้านนาตะวันออก เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา , กลุ่มชาติพันธ์ุคนน่าน ที่ประกอบไปด้วย ม้ง เมี่ยน ก่อ ไทลื้อ ฯลฯ , ผังเมืองน่านและประวัติเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ , วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ , สถาปัตยกรรมเมืองน่าน , มรดกทางธรรมชาติ และอุทยานธรรมชาติต่างๆ เป็นต้น

เรียกได้ว่ามาที่นี่ที่เดียวได้รู้จักเมืองน่านครบ…!!!

หออัตลักษณ์นครน่าน

รู้และเข้าใจในความเป็นเมืองน่านกันไปแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาที่ต้องตะลอนเที่ยวกันแล้ว ซึ่งมาเที่ยวน่านจะให้เข้าถึงเมืองน่าน ก็ต้องเข้าวัด ชมศิลปะอันงดงามที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ให้คนรุ่นหลัง โดยวัดสำคัญๆและสวยๆในเมืองน่านนั้นมีมากมาย อาทิ

 

วัดพระธาตุเขาน้อย

“วัดพระธาตุเขาน้อย” ที่องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปีพ.ศ.2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ ศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่างพ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนั้นเช่นกัน

จากตัววัดพระธาตุเขาน้อย ท่านสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบเมืองน่านได้อย่างชัดเจน โดยบริเวณลานชมวิวของวัดเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ

 

วัดภูมินทร์

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่าน ย่าม่าน”

“วัดภูมินทร์” วัดเอกของเมืองน่านที่ไม่ควรพลาด วัดนี้ตามพงศาวดารของเมืองน่านได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อพ.ศ.2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์”

วัดภูมินทร์มีพระอุโบสถเป็นอาคารจัตุรมุข มีนาคสะดุ้งตัวใหญ่ 2 ตัวเทินพระอุโบสถไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4   องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้ง 4 ทิศ ทั้งนี้ภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือชาวบ้านเรียกว่า “ฮูบแต้ม” ที่งดงามอีกด้วย โดยคาดว่าจะวาดขึ้นในสมัยที่มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ (พ.ศ. 2410) ซึ่งงานจิตรกรรมแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แสดงเรื่องชาดก ชีวิตความเป็นอยู่ และตำนานพื้นบ้านของชาวเมืองน่าน นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสมบูรณ์ หาดูที่ไหนไม่ได้ โดยมีภาพที่น่าสนใจหลายภาพ อาทิ ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วงของชาวไทยลื้อ ที่พ่อแม่จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะที่หญิงสาวกำลังปั่นฝ้ายหรือ “อยู่ข่วง” หากสาวเจ้าตรงลงปลงใจด้วย ก็จะจัดพิธีแต่งงานหรือที่เรียกว่า “เอาคำ ไปป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน

ภาพการค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา “เป๊อะ” ของป่าบนศีรษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง , ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกเรือนมีชานเล็กๆ ตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า “ร้านน้ำ” ชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน , ภาพชาวต่างชาติที่เข้ามาเมืองน่านในรัชกาลที่ 5 ทรงผมและเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น และภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” (คำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อสมัยโบราณ) หรือคนยุคปัจจุบันเรียกติดปากกันว่า ภาพ “เสียงกระซิบบันลือโลก” ที่โด่งดังไปทั่ว โดยภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยม มีการใช้สีแดง สีฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ๆ คล้ายภาพสมัยใหม่

วัดช้างค้ำวรวิหาร

“วัดช้างค้ำวรวิหาร” หรือที่เดิมเรียกว่า “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครน่านใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์เจดีย์ก่ออิฐถือปูน และปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้ง 4 อีก 4   เชือก ดูคล้ายเอาหลังหนุนหรือค้ำองค์เจดีย์ไว้ และภายในวิหารประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย

ตึกรังษีเกษม

นอกจากในตัวนครน่านจะมีวัดที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ “ตึกรังษีเกษม” หอประวัติศาสตร์ โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา โดยตึกหลังนี้เป็นอาคารที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2557 ตึกรังษีเกษมสร้างขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ.1915 โดยการนำของศาสนาจารย์ ดร.นพ.ซามูเอล ซี พีเพิลส์ ดร.ฮิวส์ เทเลอร์ ศาสนาจารย์ แมเรียน บี ปาล์เมอร์ และนาวสาวลูซี่ สตาร์ลิง แล้วเสร็จใน ค.ศ.1916

ในส่วนของตัวกลางตึกเป็นส่วนแรก สร้างโดยดัดแปลงแบบของอาคารเรียนตึกลินกัล์นอะแคเดมี ซึ่งทั้งสองตึกถือเป็นตึกแบบตะวันตกของเมืองน่าน โดยตึกลินกัล์นเป็นโรงเรียนชาย และตึกรังษีเกษมเป็นโรงเรียนหญิง รูปแบบของตึกเป็นอาคารรูปตัวยูสองชั้น สร้างด้วยอิฐ โดยช่างปั้นอิฐที่มาจากเชียงใหม่ พื้นและเพดานสร้างด้วยไม้ แบบการก่อสร้างแบบตะวันตกยุคโคโลเนียล

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1942-1945 รัฐบาลได้ยึดครองกิจการโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องปิดกิจการไปโดยปริยาย และรัฐบาลได้ใช้โรงเรียนเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด ดำเนินการได้ประมาณ 2 ปี ก็ได้ปิดกิจการลงและใช้เป็นที่พักของทหารไทยจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด และในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1946 ตึกรังษีเกษมได้เปิดใช้อีกครั้ง โดยใช้เป็นห้องประชุม ห้องเรียนสำหรับเด็ก และที่ประกอบพิธีทางศาสนา ปัจจุบันชั้นบนและห้องชั้นล่างบางห้องปรับปรุงให้เป็นหอประวัติศาสตร์ จัดแสดงภาพถ่ายสถานที่ต่างๆ ในเมืองน่านในอดีต และประวัติตัวอาคาร เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตึกรังษีเกษมเปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ในเวลาราชการ

หอศิลป์ริมน่าน
ภาพ “ตะโกน”

เสพประวัติศาสตร์และศิลปะอันงดงามในตัวเมืองน่านกันไปจนเต็มอิ่มแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาออกตะลอนยังต่างอำเภอกันบ้าง ที่หมายแรกของเราอยู่ที่ “หอศิลป์ริมน่าน” โดยที่นี่อยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองน่านประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 1080 (ถนนน่าน – ท่าวังผา) เป็นหอแสดงงานศิลปะของเอกชนบนพื้นที่ 13   ไร่ ดำเนินงานโดยคุณวินัย ปราบริปู ศิลปินน่านชื่อดังที่รักในงานศิลปะ

ที่นี่ประกอบไปด้วยอาคารหอศิลป์ สตูดิโอ ร้านกาแฟ และบ้านพักรับรองสำหรับผู้เข้าอบรมศิลปะ  ตัวอาคารหลักแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ รองรับภาพได้ไม่ต่ำกว่า 80-100   ภาพ ส่วนชั้น 2 เป็นสถานที่แสดงผลงานศิลปะ ที่ไฮไลต์ของที่นี่อยู่ที่ภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่มีชื่อว่า “ตะโกน” และอีกหลายภาพ หอศิลป์ฯแห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัส-อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 9 โมงเช้า จนถึง 5 โมงเย็น

วัดหนองบัว

จากหอศิลป์ฯก็มาชมศิลปะอีกหนึ่ง กับศิลปะแบบฉบับจิตรกรรมฝาผนังใน  “วัดหนองบัว” วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา อยู่ท่านกลางหมู่บ้านไทยลื้อ เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีผลงานสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมชิ้นเอกของเมืองน่าน โดยวิหารวัดหนองบัวเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าในแง่สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอันสวยงาม และหาชมได้ยาก โดยจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2405 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 โดยท่านสุนันต๊ะ (ครูบาหลวง) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนำชาวบ้านสร้างขึ้นเป็นวัดประจำหมู่บ้านหนองบัว

สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ “จิตรกรรมฝาผนัง” ในวิหารที่เล่าเรื่องราวในปัญญาชาดก ซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นโดย “ทิดบัวผัน” ช่างเขียนลาวพวนที่บิดาของครูบาหลวงชื่อนายเทพ ซึ่งเป็นทหารของเจ้าอนันตยศ(เจ้าเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. 2395 – 2434) ได้นำมาจากเมืองพวน ในแคว้นหลวงพระบาง นอกจากนี้ยังมีนายเทพและพระแสนพิจิตรเป็นผู้ช่วยเขียนจนเสร็จ

ภาพเขียนฝาผนังของที่นี่เป็นภาพเขียนที่สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งซิ่นลายน้ำไหลหรือซิ่นตีนจกที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีภาพเรือกลไฟและดาบปลายปืนซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 นับได้ว่าภาพเขียนของที่นี่มีคุณค่าทางศิลปะและความสมบูรณ์ของภาพใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์

สำหรับอำเภอท่าวังผาแล้ว ยังมีของดีของเด็ดอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ กับ “ข้าวหลามป้าเพ็ญ” ข้าวหลามขึ้นชื่อรสอร่อย ที่ทำกันวันต่อวัน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวหลามมาแล้ว ในงานวันสาธิตการผลิตข้าวปลอดภัยของสหกรณ์สาขาท่าวังผา โดยข้าวหลามป้าเพ็ญมีให้เลือกอร่อยหลายไส้ ชอบไส้ไหนก็เลือกได้ตามสบาย

วัดหนองแดง

จากอำเภอท่าวังผาก็มาต่อกันที่ “อำเภอเชียงกลาง” ที่มีสถานที่น่าสนใจได้แก่ “วัดหนองแดง” เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2330 โดยชาวไทลื้อร่วมกับไทพวน พระวิหารบูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2492 และบูรณะต่อมาในพ.ศ.2538 วัดแห่งนี้โดดเด่นที่โบราณสถานวิหารไทลื้อ ภายนอกมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด รูปทรงค่อนข้างเตี้ย ช่อฟ้าแกะด้วยไม้สักทองรูปนกหัสดีลิงค์ (นกในวรรณคดีที่มีจะงอยปากยาวคล้ายงวงช้าง) ซึ่งชาวไทลื้อเชื่อว่าเป็นสัตว์ชั้นสูงจากสวรรค์ เชิงชายประดับไม้ฉลุลายน้ำหยาด เป็นลวดลายเฉพาะของชาวไทลื้อ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงทศชาติชาดก และประดิษฐาน “พระบัวเข็ม” องค์พระประธานที่สร้างโดยครูบาสิทธิการ ตั้งอยู่บนฐานชุกชีที่พันรอบด้วยพญานาคเรียกว่า “นาคบัลลังค์” จากความเชื่อที่ว่านาคเป็นเครื่องหมายแห่งความสง่างาม ความดี และเป็นอารักษ์แห่งพุทธศาสนา โดยวิหารแห่งนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ.2524

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเที่ยวน่านในทริปนี้ น่านยังมีอะไรอีกมากมายให้มาสัมผัส ซึ่งหากมีโอกาสอีกเมื่อไหร่ จะมาเที่ยวอีก และจะเที่ยวให้นานกว่านี้ เพราะน่านมีแต่ของดี…ต้องอยู่นานๆถึงจะสนุก…!!!

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *