“รถไฟทางคู่” การลงทุนเพื่อยกระดับภาคขนส่งไทย

รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายสำคัญในการมุ่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และขยายขีดความสามารถการแข่งขันของคนไทยให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาโครงข่าย “รถไฟทางคู่” ทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพและบริการที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดความรวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนการขนส่ง ตลอดจนช่วยกระจายความเจริญ เชื่อมโยงฐานการผลิต และการเดินทางระหว่างภูมิภาคเข้าด้วยกัน

โดยโครงข่ายทางรถไฟในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย “ทางเดี่ยว” 3,687 กิโลเมตร “ทางคู่” 250 กิโลเมตร และ“ทางสาม” 107 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 4,044 กิโลเมตร เป็นสายเหนือ 781 กิโลเมตร สายตะวันออกเฉียงเหนือ 1,094 กิโลเมตร สายตะวันออก 534 กิโลเมตร สายใต้ 1,570 กิโลเมตร และสายแม่กลอง 65 กิโลเมตร

สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่นั้น ในขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ 1 ระยะทาง 993 กิโลเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565 ส่วนระยะที่ 2 นั้นจะกินระยะทางทั้งสิ้น 1,483 กิโลเมตร แล้วเสร็จกรกฎาคม 2566 และยังมีทางรถไฟสายใหม่ ที่สร้างทั้งสิ้น 681 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567

ซึ่งทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 มีทั้งหมด 7 เส้นทางด้วยกัน ได้แก่ 1.ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 2.ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 3.ลพบุรี-ปากน้ำโพ 4.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 5.นครปฐม-หัวหิน 6.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ7.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

ส่วนทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และทางสายใหม่ จะประกอบไปด้วย 9 เส้นทางด้วยกัน เริ่มก่อสร้างในปี 2562 ประกอบไปด้วย 1.ชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ 2.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 3.สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่ –สงขลา 4.ปากน้ำโพ-เด่นชัย 5.ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 6.ขอนแก่น-หนองคาย 7.เด่นชัย-เชียงใหม่ และทางสายใหม่ 1.เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ2.บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม

เส้นทางปากน้ำโพ – เด่นชัย

ในเส้นทาง “สายเหนือ” นั้นเส้นทางปากน้ำโพ – เด่นชัย ลักษณะโครงการกินระยะทางประมาณ 285 กิโลเมตร โดยก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นจำนวน 1 ทาง ส่วนใหญ่เป็นคันทางระดับดินขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิม และก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ (ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร) มีสถานีจำนวน 42 สถานี เริ่มต้นจากสถานีปากน้ำโพ และสิ้นสุดที่สถานีเด่นชัย

พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินรถไฟ มีการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับทุกแห่ง และก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ หรือทางรถยนต์รอดใต้ทางรถไฟแทน ประกอบไปด้วยสะพานรถไฟจำนวน 18 แห่ง สะพานยกระดับข้ามทางรถไฟ 8 แห่ง ทางลอด 2 แห่ง สะพานยกระดับข้ามทางรถไฟตัวยู 16 แห่ง ท่อลอด 69 แห่ง

เส้นทางรถไฟทางคู่ “เด่นชัย – เชียงใหม่” ระยะทาง 189 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร โดยมีทั้งการออกแบบทางใหม่ เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม  รวมเป็น 2 ทาง และการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ให้ได้ 2 ทาง มีสถานีจำนวน 17 สถานี และ 1 ที่หยุดรถ เริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย และสิ้นสุดที่สถานีเชียงใหม่

เส้นทางนี้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินรถไฟ มีการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับทุกแห่ง และก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ และทางรถยนต์ลอดทางรถไฟแทน ประกอบไปด้วยถนนยกระดับข้ามทางรถไฟแนวตรง 1 แห่ง ถนนยกระดับทางรถไฟรูตัวยู 1 แห่ง ท่อ เหลี่ยมรถยนต์ลอดใต้สะพาน 33 แห่ง ท่อเหลี่ยมรถไฟลอดใต้ถนน 54 แห่ง และปิดจุดตัด/ใช้กับจุดตัดใกล้เคียง 29 แห่ง

เส้นทางเด่นชัย – เชียงใหม่
เส้นทางเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ

เส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ” เป็นการพัฒนาโครงข่ายและระบบขนส่งทางรถไฟที่ช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ของประเทศ สนับสนุนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และประเทศจีนตอนใต้ มีระยะทางประมาณ 326 กิโลเมตร เป็นโครงการก่อสร้างทางใหม่เพิ่มขึ้น 2 เส้นทาง มีอุโมงค์รถไฟจำนวน 4   อุโมงค์ ระยะทางประมาณ 13.90 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 26 สถานี เริ่มต้นจากเด่นชัย ไปสิ้นสุดที่สถานีเชียงของ

พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินรถไฟ จึงต้องทำการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตลอดเส้นทาง ในเขตทาง 50   เมตร ประมาณ 9,661   ไร่ ก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟและทางรถยนต์ลอดใต้ทางรถไฟ โดยไม่มีจุดตัดเสมอระดับทาง ประกอบด้วย ถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102   แห่ง

เมื่อเส้นทางรถไฟทางคู่ และสายใหม่แล้วเสร็จ จะก่อเกิดประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ช่วยเพิ่มความเร็วในการเดินรถไฟขนสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 29 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถไฟขนส่งผู้โดยสารเพิ่มจากเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง , โครงการระยะแรก ช่วยส่งเสริมให้เกิดการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางมากขึ้นจาก 10 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 20 ล้านตันต่อปี และกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวหันมาใช้รถไฟเดินทางเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคนต่อปี , โครงการระยะที่สอง ช่วยส่งเสริมให้เกิดการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางมากขึ้นจาก 20 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 30 ล้านตันต่อปี ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวหันมาใช้รถไฟเดินทางเพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านคนต่อปี เป็น 80 ล้านคนต่อปี

ทั้งยังช่วยลดอุบัติเหตุจากจุดตัดทางผ่านเสมอระดับ โดยยกเลิกจุดตัดทางผ่านเสมอระดับทางทั้งหมด และก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ถนนข้ามทางรถไฟ และถนนลอดใต้ทางรถไฟ พร้อมรั้วสองข้างทาง ตลอดแนวเส้นทาง , ช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาการเดินทาง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งของประเทศ และลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และเชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้า และบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *