หนึ่งเดียวในโลก!!! “สลากย้อมเมืองลำพูน” จัดใหญ่อลังการ กับขบวนแห่กว่า 40 ต้น

เมื่อวันที่ผ่านมา “นายนพดล ภาคพรต” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เป็นประธานปล่อยขบวนแห่งานประเพณีสลากย้อมจังหวัดลำพูน ประจำปี 2562 ณ บริเวณถนนอินทยงยศ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ซึ่ง “นายนพดล ภาคพรต” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. นำเสนอการชูภาพลักษณ์ความเป็นวิถีไทย ภายใต้แนวคิด Amazing Thailand Go Local และให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่มีเสน่ห์ด้านวัฒนธรรม และประเพณีที่มีเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่กับงาน “ประเพณีสลากย้อม เมืองลำพูน” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 กันยายน 2562 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

โดย นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า งานประเพณีสลากย้อมจังหวัดลำพูน เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของจังหวัดลำพูน องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน เทศบาลเมืองลำพูน วัดพระธาตุหริภุญชัย พี่น้องชาวลำพูน และททท. นับเป็นงานประเพณีที่มีความเป็นมาและสร้างเสน่ห์ให้กับชุมชนเป็นอย่างยิ่ง งานสลากย้อมเป็นประเพณีที่มีอัตลักษณ์แห่งเดียวในโลก โดยมีรากฐานมาจาก “ชาวยอง” หรือกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อจากสิบสองปันนา ก่อนจะอพยพมาอยู่ที่เมืองยองในพม่า และย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดลำพูน เมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว

ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน เป็นส่วนสำคัญของงานประเพณี “ทานสลากภัตร” ซึ่งเป็นการทำบุญประจำปีก่อนออกพรรษา คนล้านนามักจะจัดทานสลากภัตรในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 “สลากย้อม” เป็นการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว บางพื้นที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นหญิงสาวที่มีอายุ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางพื้นที่ไม่จำเป็น ขอให้เป็นช่วงอายุ 20 ปีโดยประมาณ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าสัก 2-3 ปีก็ได้ แต่สิ่งที่เชื่อเหมือนกันก็คือต้องเป็นหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน และเชื่อกันว่าการถวายสลากย้อมของหญิงสาวได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงยิ่ง เทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย


ลักษณะพิเศษของทานสลากย้อมคือ การนำประวัติของหญิงสาวที่เป็นเจ้าภาพของงาน หรือเป็น “ผู้ทานสลากย้อม” มาแต่งเป็นคำประพันธ์ นำมาผูกเล่าทำนองโบราณเป็นเรื่องตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้รับรู้ถึงประวัติและความดีงามของผู้ทานสลากย้อม ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการ เรียกขวัญ(ฮ้องขวัญ)นาค ที่กำลังจะบวช ซึ่งตามประเพณีล้านนา จะมีการเล่าเป็นทำนองเทศน์ล้านนา บอกเล่าประวัติของผู้ที่กำลังจะบวชให้รู้ว่า เป็นผู้ที่กำลังทำความดี สละทุกอย่าง เพื่อก้าวเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนา

รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ กล่าวเพิ่มเติมถึงงานประเพณีสลากย้อมที่กำลังจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 กันยายนนี้ว่า จะมีการ “ประกวดต้นสลากย้อม สูงไม่เกิน 12 เมตร” เป็นการประกวดการสร้างสลากย้อมที่สมบูรณ์ มีคติความเชื่อในเรื่องศาสนาและความงดงามของการสร้างสลากย้อมที่เน้นความสวยงาม ประณีต บรรจงแต่ทรงคุณค่า ลงตัวในรูปทรงและการใช้วัสดุท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบ , “ขบวนแห่ต้นสลากย้อมสูง 8 เมตร และสูง 4 เมตร” แห่จากหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน ผ่านถนนอินทยงยศ ถึงแยกประตูลี้ผ่านถนนรอบเมืองในเข้าสู่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร โดยมีเจ้าภาพ ผู้มีจิตศรัทธา ที่จะทำทานสลากย้อมออกค่าใช้จ่ายและให้ศรัทธาหัววัดต่างๆเป็นผู้จัดสร้าง พร้อมจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่งดงาม มีคนในชุมชนมาร่วมกันทั้งหมู่บ้าน โดยมีเจ้าภาพสลากย้อมเป็นผู้เดินนำหน้าต้นสลากย้อม และเล่าประวัติผู้ถวายทานด้วยทำนองโบราณที่เรียกว่า “ฮ่ำกะโลง” พร้อมการแสดงประกอบตลอดทาง

และในวันที่ 12 กันยายน 2562 จะมีพิธีทานต้นสลาก และการแสดงแสง เสียงและสื่อผสม เรื่อง “ข้าเจ้าจะทานสลากย้อม” นำเสนอเรื่องความพยายามของหญิงสาวชาวลำพูน ย้อนไปเมื่อ 50 ปี ที่ผ่านมา ที่จะถวายทานสลากย้อมให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เรื่องราวของการแสดงสะท้อนให้เห็นกระบวนการคิดและความศรัทธาของคนในยุคนั้นที่มีต่อการทานสลากย้อม ผสมผสานกับวัฒนธรรมที่งดงามผ่านการเล่าเรื่องตั้งแต่กระบวนการสร้างสลากย้อมและขั้นตอนการเตรียมการ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการถวายทานสลากย้อม

นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวต่อว่า งานประเพณีสลากย้อมที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ภายใต้โครงการ 10 มหัศจรรย์ล้านนาที่ลำพูน ถือเป็นกิจกรรมสุดท้ายของปีงบประมาณ 2562 ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยช่วยกันกับจังหวัดลำพูน องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เทศบาลเมืองลำพูน สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน วัดพระธาตุ หริภุญชัยวรมหาวิหาร รวมไปถึงองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนต่างๆที่มีส่วนร่วมให้การจัดงานในครั้งนี้ นับตั้งแต่วันดาหรือวันฉลองต้นสลากเมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ที่มีขบวนแห่พร้อมการแสดงประกอบตลอดทาง โดยในวันขบวนแห่ถือว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี มีเจ้าภาพต้นสลากย้อมขนาดใหญ่ความสูง 8 เมตร จำนวน 5 ต้น และต้นเล็ก ขนาดความสูง 4 เมตร จำนวน 40 ต้น การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง ตรงกับแนวคิดของ ททท. ที่ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน อันจะนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ Concept : Amazing Thailand Go Local นำเสนอเที่ยวไทยเท่ในมุมมองของคนไทย สร้างปรากฏการณ์ความเติบโตของนักเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยแบบเท่ๆ และมีคุณภาพ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ เป็นการกระจายรายได้ กระจายพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มวันพำนักเฉลี่ย และ ที่สำคัญสามารถตอบโจทย์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้เป็นอย่างดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *