ประเทศไทย ต้องไม่มีการใช้มาตรการรับมือโรคโควิด-19 เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 รัฐบาลไทยเห็นชอบให้ขยายการประกาศใช้อำนาจฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีการประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 และถูกใช้เพื่อควบคุมการเดินทาง การชุมนุมอย่างสงบ ความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีบทลงโทษทั้งจำคุกและ/หรือปรับ ในระหว่างที่รัฐบาลไทยทบทวนมาตรการฉุกเฉินที่จะนำมาใช้รับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 หลังมีการล็อคดาวน์ตลอดช่วงระยะยเวลาสองเดือนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอให้ทางการไทยรับประกันว่าการจำกัดการใช้สิทธิใด ๆ ที่จะมีขึ้น ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วนและเท่าที่จำเป็น นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้ทางการไทยใช้มาตรการพิเศษเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากไม่สามารถปกป้องตนเองได้ในช่วงการระบาดของโรค พวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส และการเข้าถึงการดูแลและบริการด้านสุขภาพที่เพียงพอ หรือขาดศักยภาพที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกระตุ้นทางการไทยให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับบุคคล ซึ่งถูกลงโทษเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ยุติการกักตัวผู้ลี้ภัยและผู้อพยพโดยพลการ และงดเว้นการใช้มาตรการจำกัดสิทธิโดยมีเป้าหมายเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งยังมีการลงโทษด้วยแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไม่ได้สัดส่วน แม้การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้เมื่อจำเป็นและได้สัดส่วน เพื่อคุ้มครองสาธารณสุข แต่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากการชุมนุมอันเป็นการละเมิดมาตรการเพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพ จะต้องไม่ถูกลงโทษด้วยการจำคุก

-สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพด้านข้อมูล การชุมนุมโดยสงบ และเคอร์ฟิว

วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ทางการได้ดำเนินคดีอาญากับอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ นักกิจกรรมทางการเมือง และนพ.ทศพร เสรีรักษ์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยเป็นอดีตสส.ของพรรคเพื่อไทยที่ถูกยุบไปแล้ว พวกเขาถูกดำเนินคดีเนื่องจากได้จัดการประท้วงอย่างสงบ ณ บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสครบรอบหกปีการทำรัฐประหาร ในวันที่ 13 พฤษภาคม ทางการยังดำเนินคดีกับอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ซึ่งจัดพิธีรำลึกการเสียชีวิตของที่ปรึกษาด้านการทหารให้กับผู้ชุมนุมที่ได้เรียกร้องให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เมื่อปี 2553 โดยหากศาลตัดสินว่ามีความผิด พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท ตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายฉุกเฉินที่มีการใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อปิดกั้นและควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งยังควบคุมสื่อในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง

กลุ่มอื่นๆรวมทั้ง กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มขอนแก่นพอกันที และกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้จัดกิจกรรมรำลึกการทำรัฐประหารในหลายสถานที่ ทั้งกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ทางการได้สอดส่องกลุ่มผู้ประท้วงอย่างใกล้ชิด ได้เข้าไปถ่ายรูปผู้เข้าร่วม ถ่ายรูปบัตรประชาชน และยานพาหนะที่ใช้ในการประท้วง พร้อมกับพยายามขัดขวางการจัดกิจกรรม โดยขู่ว่าจะดำเนินคดีตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติจราจรทางบก และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตำรวจยังควบคุมตัวนักกิจกรรมบางคนไว้ชั่วคราว และได้ยึดแผ่นป้ายที่ใช้ในการประท้วงอีกด้วย

กลุ่มสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนได้รายงานเช่นกันว่า ทางการได้คุกคามและข่มขู่จะดำเนินคดีกับพวกเขา เนื่องจากวางแผนหรือเข้าร่วมการประท้วงอย่างสงบในโอกาสดังกล่าว ทั้งนี้รวมทั้งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โดยเมื่อวันที่ 28 เมษายน สมาชิกกลุ่มประมาณ 20 คนได้รวมตัวกันและอ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการตัดสินใจการอนุมัติประทานบัตรทำเหมือง ต่อมาตำรวจในพื้นที่ได้เข้าจับกุมและสอบปากคำหนึ่งในแกนนำผู้ประท้วง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อกำหนดตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติโรคติดต่อ

วันที่ 14 พฤษภาคม พนักงานอัยการมีความเห็นให้สั่งฟ้องดนัย อุศมา ศิลปินวัย 42 ปี ซึ่งถูกจับในเดือนมีนาคม 2563 หลังโพสต์เฟซบุ๊กว่า ไม่พบจุดคัดกรองโรคที่สนามบินสุวรรณภูมิระหว่างเดินทางกลับสู่ประเทศไทย และยังได้โพสต์รูปสนามบินที่เป็นรูปเก่า หากศาลตัดสินว่ามีความผิด เขาอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และ/หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์

เจ้าหน้าที่ยังแจ้งเตือนอีกว่า จะไม่เพียงดำเนินคดีกับบุคคลซึ่งเผยแพร่ “ข่าวปลอม” เท่านั้น แต่จะดำเนินคดีกับผู้ที่กระจายข่าวด้วย ซึ่งอาจหมายถึงการลงโทษบุคคลที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสุจริตบนพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางหลักเพื่อเข้าถึงข้อมูลการระบาดของโรคในระหว่างที่มีการกักตัว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นทางการไทย ไม่ให้ลงโทษบุคคลเพราะแสดงความเห็นด้วยเจตนาบริสุทธิ์บนพื้นที่ออนไลน์ และประกันว่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด โดยให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีสุดด้านสุขภาพ และนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากไวรัสได้ ทางการต้องประกันว่า มาตรการอันจำกัดที่นำมาใช้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการลดปริมาณของการแพร่เชื้อเท่านั้น โดยไม่ได้ถูกนำมาใช้กับนักกิจกรรม และไม่ได้นำมาใช้เพื่อมุ่งลงโทษผู้วิจารณ์รัฐบาล

การจำกัดไม่ให้บุคคลรวมตัวประท้วงในที่สาธารณะโดยใช้มาตรการล็อคดาวน์ ควรเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายที่สามารถนำมาใช้เมื่อจำเป็นถึงขั้นสุด ผู้ประท้วงเองได้ระวังและป้องกันตัวเองโดยใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อระหว่างการชุมนุมของพวกเขา ทั้งการรักษาระยะห่างทางกายภาพและการสวมหน้ากาก ทางการได้ปฏิเสธอย่างต่อเนื่องไม่ให้กลุ่มต่าง ๆ จัดประท้วงอย่างสงบ มาตรการล็อคดาวน์ที่ส่งผลกระทบต่อการชุมนุมประท้วง ต้องเป็นมาตรการเดียวกับมาตรการที่นำมาใช้อย่างสม่ำเสมอเมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวและการจัดกิจกรรมอื่นๆ เท่าที่บุคคลควรได้รับอนุญาตให้กระทำได้ ทั้งนี้โดยให้สัดส่วนที่เหมาะสมกับความสำคัญของสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ทางการไทยใช้อำนาจเพื่อปราบปรามการประท้วงอย่างสงบโดยไม่ได้สัดส่วน

แอมเนสตี้ยังแสดงข้อกังวลอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับการปฏิบัติของทางการไทยต่อคนไร้บ้าน และความบกพร่องในการให้ข้อมูลกับบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงในระหว่างการเกิดโรคระบาดนี้ โดยเมื่อเดือนเมษายน มีคนไร้บ้านอย่างน้อยสองคนถูกดำเนินคดี ได้รับโทษจำคุกแบบรอลงอาญา และถูกปรับเป็นเงินจำนวน 500 และ 3,000 บาทตามลำดับ จากการละเมิดเคอร์ฟิวช่วงสี่ทุ่มถึงตีสี่ ตามข้อ 2 ของข้อกำหนดตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน และต่อมาได้ลดเวลาลงเหลือห้าทุ่มถึงตีสี่ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกระตุ้นรัฐบาลไทย ให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำ ของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ ซึ่งระบุว่ารัฐบาลต้อง “ประกันว่าจะไม่มีการเอาผิดทางอาญากับคนไร้บ้าน ไม่สั่งปรับหรือลงโทษพวกเขาเนื่องจากการการประกาศเคอร์ฟิวหรือมาตรการกักตัวอื่น ๆ”

-ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัย และผู้อพยพ

มีรายงานการติดโรคโควิด-19 ในบรรดาผู้เข้าเมืองทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กที่อยู่ระหว่างการถูกกักตัว โดยมีผู้ถูกกักอย่างน้อย 65 คนที่ศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ทางภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 มีรายงานว่าทางการปฏิเสธไม่ให้หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าถึง และตรวจสอบสถานะของกลุ่มผู้ต้องกักชาวโรฮิงญา 12 คนที่ศูนย์กักตัวผู้ต้องกักของตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยมีข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง ให้รัฐบาลไทยยุติการกักตัวโดยพลการ และโดยไม่มีกำหนดเวลาในบางกรณีต่อผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัย และผู้อพยพเข้าเมืองในประเทศไทย ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ ผู้อพยพและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิที่จะมีอิสรภาพและความมั่นคง การควบคุมตัวใด ๆ ต้องไม่เกิดขึ้นโดยพลการ โดยให้มีลักษณะควบคุมตัวให้น้อยสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รัฐบาลไทยต้องประกันว่า บุคคลจะไม่ถูกเอาผิดทางอาญา ถูกกักตัว หรือถูกลงโทษด้วยเหตุผลเนื่องจากวิธีการเข้าสู่ประเทศไทยเพียงอย่างเดียว โดยควรอนุญาตให้บุคคลทุกคนที่ต้องการความคุ้มครอง สามารถเข้าถึง UNHCR และกระบวนการตรวจสอบสถานะเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่จำเป็น

ในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อสิทธิด้านสุขภาพของผู้อพยพและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ทางการต้องใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้อพยพและเจ้าหน้าที่ในศูนย์กักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทั้งนี้โดยอาจรวมถึงการปล่อยตัวผู้อพยพ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย หรือควบคุมตัวพวกเขาในลักษณะที่สามารถรักษาห่างทางกายภาพได้ ประเทศไทยควรประกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อการเข้าถึงบริการที่จำเป็น การดูแล และความปลอดภัยของผู้อพยพและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย รวมทั้งให้มีการดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอและการมีที่พักอาศัยที่สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม การกักตัวบุคคลด้วยเหตุผลของการเข้าเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่อาจถือว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นหรือได้สัดส่วน การที่รัฐสั่งกักตัวบุคคลทั้งคนไทยหรือต่างชาติเพื่อประโยชน์ด้านการสาธารณสุข ต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดตามหลักการของความได้สัดส่วนและความจำเป็น

ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยของชีวิตในทะเล ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องให้ความช่วยเหลือกับผู้เสี่ยงภัยในทะเล ที่ผ่านมีรายงานว่ามีเรือประมงหลายลำที่บรรทุกผู้แสวงหาที่ลี้ภัยมากถึง 800 คน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวโรฮิงญา ติดอยู่กลางทะเลตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงได้เรียกร้องรัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ให้ประกันว่าพวกเขาสามารถนำเรือขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย และให้ประสานงานเพื่อค้นหาและช่วยชีวิต โดยการจำแนกที่ตั้งและช่วยเหลือเรือที่กำลังเผชิญกับการเสี่ยงภัย ให้สอดคล้องตามปฏิญญาระดับภูมิภาคและกฎหมายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประกันว่า ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยต้องไม่ถูกส่งกลับไปยังที่ ๆ พวกเขาเสี่ยงจะถูกประหัตประหาร รวมทั้งไม่ผลักดันพวกเขากลับสู่ทะเล โดยให้สอดคล้องตามหลักการไม่ส่งกลับตามแนวทางกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้ต่อทุกรัฐ

(https://www.amnesty.or.th)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *