“ศาลหลักเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน” จากวัดร้างสู่เขตแบ่งแดนสองจังหวัด

ท่านที่สัญจรไปมาระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนบนถนนสายต้นยาง (เชียงใหม่ – สารภี – ลำพูน) เป็นประจำ คงคุ้นตากับ “ศาลหลักเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน” กันเป็นอย่างดี ซึ่งบางท่านเมื่อขับรถผ่านก็จะกดแตรรถเป็นการสักการะ เพื่อให้เดินทางไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย โดยศาลหลักเมืองฯแห่งนี้ มีความเป็นมาอย่างไรนั้น เรามาดูกัน!?!

“ศาลหลักเมืองเชียงใหม่ – ลำพูน” ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ 5 บ้านปากกอง ตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และหมู่ 1 บ้านอุโมงค์ ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เดิมทีเป็นที่ตั้งของวัดร้าง นามว่า “วัดนางเหลียว” ปัจจุบันยังปรากฎซากอิฐ ซากปูนที่เป็นแนวเขตกำแพงวัด ซากวิหาร และซากเจดีย์ แต่ว่าอยู่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 1 เมตรเศษ ที่ผ่านมานั้นคณะนักสำรวจจากกรมศิลปากรได้ร่วมกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ (เชียงใหม่ – ลำพูน) ได้ร่วมกันขุดสำรวจ และพบซากดังกล่าวอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม การขุดสำรวจก็มีอันต้องหยุดลง เนื่องมาจากเมื่อขุดต่อไปอีก กรมศิลปากรก็จะกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ จะส่งผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชน ที่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดร้างดังกล่าว รวมทั้งถนนที่ใช้สัญจรกันไปมาทุกวัน

ความเป็นมาจากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่และผู้รู้ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่เด็กๆ สรุปพอสังเขปได้ว่า เริ่มต้นจากเจ้าหลวงเมืองลำพูนขณะนั้น ชื่อ เจ้าอนันตยศ และเจ้ามหันตยศ ได้เดินทางจากเมืองลำพูนขึ้นมาทางทิศเหนือ เพื่อต้องการหาแนวเขตแดนสิ้นสุดของเมืองลำพูน ซึ่งเจ้าหลวงเมืองลำพูนได้นั่งช้างพัง ชื่อ ช้างปู้ก่ำงาเขียว และขณะนั่งช้างมานั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่ช้างปู้ก่ำงาเขียวได้หยุดพักยังบริเวณวัดร้าง คือ วัดนางเหลียว แห่งนี้ ไม่ยอมเดินทางต่อ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าหลวงเมืองลำพูน จึงกำหนดให้เลือกบริเวณวัดร้างแห่งนี้ เป็นแนวเขตแบ่งระหว่างเมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่ โดยเจ้าหลวงเมืองลำพูนได้ใช้ไม้เนื้อแข็งปักเป็นเขตแดนไว้ ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านทั้งสองจังหวัด เรียกว่า “เสาแดนเมืองระหว่างเชียงใหม่และลำพูน”

ต่อมาเสาแดนเมืองฯได้เกิดการผุกร่อนเนื่องจากถูกแดด ถูกฝน เจ้าหลวงฯจึงสั่งให้เกณฑ์นักโทษจากเมืองลำพูนจำนวนหนึ่งให้มาช่วยก่อสร้าง โดยใช้วัสดุ คือ “ดินเผาและปูนขาว” มาโบกแทนหลักไม้เนื้อแข็งเดิม แล้วให้เขียนเป็นสัญลักษณ์ว่า “หลักเขตแดนเมืองเชียงใหม่-ลำพูน” ต่อจากนั้นก็สั่งให้นักโทษนำกล้าต้นไม้ คือ “ต้นขี้เหล็ก” มาปลูก เริ่มจากบริเวณเขตแดนของเฉพาะเมืองลำพูน โดยปลูกทั้งสองฝั่งถนน เพื่อแสดงให้รู้ว่า ฝั่งถนนที่เป็นต้นขี้เหล็ก คือ เขตของเมืองลำพูน ส่วนเมืองเชียงใหม่ ก็มีการปลูก “ต้นยางนา” เป็นสัญลักษณ์ ดังที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จากนั้นเป็นต้นมา พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณทั้งสองฝั่ง คือ เชียงใหม่และลำพูน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน ตลอดจนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันบูรณะ ซ่อมแซม ตกแต่งภูมิทัศน์ พร้อมมีการสร้างศาลาสามัคคีฯ และอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐาน คือ “พระศรีสองเมือง” และที่สำคัญ มีการทำพิธีปั้นรูปช้าง “ปู้ก่ำงาเขียว” ที่เจ้าหลวงลำพูนใช้เป็นพาหนะเดินทาง

ข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม , www.umongcity.go.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *