เชียงใหม่ได้ฝนช่วย!!! ส่งผล 2 เขื่อนใหญ่มีน้ำเพิ่ม เกษตรกรมีน้ำใช้ปลูกข้าว

ฝนถล่มเชียงใหม่ ส่งผล 2 เขื่อนใหญ่ รวมถึงเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็กมีน้ำเพิ่มขึ้น แต่ยังประกาศ 10 อำเภอประสบภัยแล้ง ชาวนาบางพื้นที่เริ่มปลูกข้าวนาปีแล้ว ด้าน ผอ.ชป.ที่ 1 เป็นห่วง ลำพูนและแม่ฮองสอน ต้องสำรองน้ำผลิตประปา

“นายสุดชาย พรหมมลมาศ” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1

“นายสุดชาย พรหมมลมาศ” ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 สรุปสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 30 % ของ 2 เขื่อนใหญ่ ซึ่งหลังจากช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 63 ปริมาณน้ำ 48 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 18.12% ล่าสุดวันนี้ 30 มิ.ย. 63 ปริมาณน้ำ 51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20% มีน้ำไหลเข้า 0.452 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 63 ปริมาณน้ำ 65 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24.91% ล่าสุดวันที่ 30 มิ.ย. 63 ปริมาณน้ำ 67 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 26% มีน้ำไหลเข้า 0.255 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 19 แห่ง ปริมาณน้ำ 24.60 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24% น้ำไหลเข้า 0.075 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำ 80% – 100% จำนวน 1 แห่ง (แม่ฮ่องสอน = 1) , ปริมาณน้ำ 30% – 80% จำนวน 7 แห่ง (เชียงใหม่ = 6 , แม่ฮ่องสอน = 1) , ปริมาณน้ำ 20% – 30% จำนวน 4 แห่ง (เชียงใหม่ = 3 , ลำพูน = 1) และปริมาณน้ำต่ำกว่า 20% จำนวน 6 แห่ง (เชียงใหม่ = 3 ,ลำพูน = 3)

พร้อมกันนี้จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีพื้นที่ประสบภัยภัยแล้ง ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง 10 อำเภอ ได้แก่ อ.กัลยานิวัฒนา อ.ฝาง อ.แม่อาย อ.เชียงดาว อ.แม่แตง อ.สันป่าตอง อ.ดอยหล่อ อ.ดอยเต่า อ.ฮอด และอ.อมก๋อย อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เพื่อเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย และมีแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 75 เครื่อง , รถสูบน้ำ 2 คัน , รถบรรทุกน้ำ 16 คัน , รถขุด 5 คัน , รถบรรทุก 6 ล้อ 25 คัน , รถแทรกเตอร์ 1 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 11 หน่วย

นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ต้องขอชื่นชมการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้น้ำของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ได้รวมกันไม่ปล่อยน้ำ ตามคำแนะนำงดการเพาะปลูกต่างๆ มีเพียงไม้ผลที่ต้องพึ่งพาน้ำจากเขื่อน มีการปล่อยให้ตามรอบเวร หลังจากนั้นได้ช่วยกันรักษาปริมาณน้ำในเขื่อนไว้มาจนถึงฤดูฝน ซึ่งจะเริ่มดำนาปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 หากฝนตกลงมาช่วยเพิ่่มปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำสำรองของเกษตรกร ชาวนาก็จะได้ใช้น้ำฝนในด้านการเกษตรเป็นหลัก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *