ชมวิหารโบราณล้านนา และภาพเขียนตุงค่าว ยาวที่สุดในโลก ที่ “วัดนาคตหลวง”

มีวัดน่าเที่ยวมาแนะนำให้ “สายวัด” แวะเวียนเข้ามาเที่ยวชมและไหว้พระทำบุญกันอีกหนึ่งวัด กับ “วัดนาคตหลวง” ที่โดดเด่นด้วยวิหารโบราณทรงล้านนา และภาพเขียนตุงค่าวหรือพระบฎ เล่าเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก พระชาติที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา

“วัดนาคตหลวง” ตั้งอยู่ ตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของลำปาง สร้างขึ้นโดยครูบาทนันชัย ราวปี พ.ศ.2359 ในวัดโดดเด่นด้วยวิหารโบราณรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ที่สร้างมาตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2401 ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 163 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2523

วิหารหลังนี้เป็นแบบปิดผนังอาคารสูงไม่มากนัก ทรงต่ำตามตำราล้านนา หลังคาทรงจั่ว หน้าจั่วประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นหางวันนาคสดุ้งติดกระจกสี และยอดจั่วประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาทุกจั่ว สันจั่วหลังคาด้านบนยอดสุดประดับตกแต่งด้วยปราสาทเฟื้องมีรูปหน้าเป็นสิงห์ตัวเป็นนกยวนยัง คั่นกลางด้วยมณฑป และมีฉัตรปักอยู่ทั้งสาม นกคู่นี้เป็นสัญลักษณ์ของสามีภรรยาที่รักใคร่กันมายืนนานตามคติในศิลปะจีน หมอบรักษาอยู่ 2 ทิศ ชายคามีไม้แป้นน้ำย้อมฉลุลายทั้งหลัง ทางเข้าหน้าราวบันไดทางขึ้นประดับด้วยรูปปั้นตัวสิงห์หน้านางและถัดไปเป็นรูปปั้นสิงห์อยู่ 2 ข้างเพื่อปกปักรักษาเฝ้าดูแลหน้าวิหาร

ประตูด้านหน้าวิหารเป็นประตูบานเฟี้ยมลูกฟักไม้ทึบสลับกับแซ่เหล็กกันขโมย เหนือประตูมีแผงไม้โก่งคิ้วประดับแกะสลักลวดลายพญานาคพันกัน 4 ตัว ที่ปราณีตสวยงามยิ่งนัก เหนือขึ้นไปจะเป็นดอกคอหน้าแหนบลูกฟักไม้ทึบ มีแหนบของม้าต่างไหมบางส่วนที่ติดกระจกสี มีแผงแลรับหลังคาสลักลวดลายสวยงาม ผนังด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง ผนังด้านข้างด้านขวามือเป็นผนังก่ออิฐถือปูน มีหน้าต่างบานเปิดคู่ขนาดเล็กมากเปิดสู่ภายในมีกลอนยึดแบบไม้หมุนล๊อค มีกรอบไม้สลักลวดลายเหมือนจีนติดลูกกรงไม้ลูกมะหวด เรียกว่า “ลายหุยอวุ๋น” อันหมายถึง ความเป็นนิรันดร์

โครงสร้างวิหาร เสาโดยรอบวิหารเป็นเสาไม้สี่เหลี่ยม มีค้ำยัน นาคขะตัน เป็นไม้แกะสลักรูปนาค ยักษ์ มีบุษบกธรรมมาสน์ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายมืออยู่ 1 หลัง ด้านหน้าประดิษฐานองค์พระประธานนั่งอยู่บนฐานชุกชีปูนปั้นประดับลวดลายลวดตะกั่วติดกระจกสี ผนังด้านหลังพระประธานเขียนสีลวดลายพระจันทร์พระอาทิตย์และเทวดาถือฉัตร มีลวดลายต้นโพธิ์และใบโพธิ์อยู่หลังเศียรพระประธาน ด้านหน้าประดับด้วยหงส์มียอดเครื่องสูง มีสัตตภัณฑ์เชิงเทียนไม้ประดับไว้ด้านล่าง

ซึ่งเสน่ห์ของวิหารโบราณวัดนาคตหลวงนี้ นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านล้านนาแล้ว ยังมีศิลปะจีนผสมผสานกลมกลืนอย่างลงตัวอีกด้วย มีความงดงามและมีคุณค่ายิ่ง

นอกจากวิหารโบราณหลังนี้แล้ว วัดนาคตหลวง ยังมี “ภาพเขียนตุงค่าว” หรือ “พระบฎ” ที่น่าสนใจอีกด้วย โดยภาพเขียนตุงค่าวหรือผ้าพระบฎนี้ เป็นอีกหนึ่งพุทธศิลป์ เป็นจิตรกรรมล้านนาบนผืนผ้าที่วาดเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นพระชาติที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เนื่องด้วยเป็นพระชาติที่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีเต็มเปี่ยม ก่อนจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติต่อมา

บนผืนผ้ามีจำนวนทั้งสิ้น 13 กัณฑ์ 20 ภาพ รวมความยาวได้ 24 เมตร กว้างประมาณ 80 เซนติเมตร เนื้อผ้าเป็นผ้าทอที่มีความยาวเป็นผืนเดียวกันตลอด เขียนจากขวาไปซ้ายด้วยสีฝุ่น สีที่พบในตัวงานจะมีสีแดงชาติ สีเขียวขี้ม้า สีเขียวใบไม้ สีคราม สีครามหม่น สีเหลือง สีดำ สีน้ำตาลแดง/น้ำตาลแก่/น้ำตาลอ่อน และสีขาว เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ผสมผสานกับศิลปะพม่า ที่แพร่หลายในลำปางและเชียงใหม่ ราวๆช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 (พ.ศ. 2401 – 2500) โดยภาพเขียนยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมล้านนาและประวัติศาสตร์ของล้านนาในช่วงกลางพุทธศตวรรษนี้ ผ่านเรื่องราวการแต่งกาย สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตแบบพื้นเมืองล้านนา ที่ไม่ปรากฎแล้วในปัจจุบัน

ในภาพเขียนมีจารึกบนภาพเรียกผ้าผืนนี้ว่า “ผ้าค่าวเวสสันดร” และจารึกไว้ว่าเป็นภาพที่เขียนขึ้นเมื่อจุลศักราช 1221 ( พ.ศ. 2442) รัตนโกสินทร์ศก 118 โดยมี ภยาสีวิไชหรือพระยาสีวิไช เป็นป๋อแคว้น (นายอำเภอ) ซึ่งมีภูมิลำเนาเป็นคนบ้านป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นประธานในการจัดทำ เพื่ออุทิศถวายแก่ศาสนาไว้ตราบเท่าอายุของพระพุทธศาสนาครบ 5,000 ปี ซึ่งผ้าพระบฎผืนนี้เป็นผ้าพระบฎที่ยาวที่สุดของศิลปะล้านนาและในโลกเท่าที่เคยมีผู้ค้นพบ

ปัจจุบันภาพเขียนตุงค่าวหรือพระบฎผืนนี้ มีความเสื่อมโทรมไปมาก ไม่ได้นำออกมาให้ประชาชนทั่วไปได้ชมกัน ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในหีบไม้ แต่ได้มีการจำลองพระบฎผืนนี้มาให้ได้ชมกัน ซึ่งการสร้างพระบฎจำลองนี้สืบเนื่องมาจากการที่ได้เปิดผ้าพระบฎของจริงในเดือนฤษภาคม 2563 โดยคุณสกาวเดือน เกตุแก้ว และคุณครูกันทรากร บุญไทย พบว่าพระบฎมีสภาพยับย่น กรอบ เลอะเลือน เสียหายกัณฑ์ต้นๆ และเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและน่าศึกษาเผยแพร่ต่อไป แต่ด้วยสภาพทำให้ไม่สามารถนำพระบฎของจริงออกให้ประชาชนได้ชมได้ อาจารย์ ดร.นิตยา วงศ์ยศ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันวิทยาการจัดการแห่งแปซิฟิค จังหวัดพะเยา และคุณครูนันทนาพร วงศ์ยศ หัวหน้างานห้องสมุด โรงเรียนลำปางกัลยาณี ซึ่งเป็นลูกหลาน วัดนาคตหลวง จึงได้ริเริ่มโครงการสร้างพระบฎ(จำลอง)ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน

ต่อมาจึงเกิด กลุ่มสารตั้งต้น โดย พระอธิการพรหมพรรชน์ ธีรปัญโญ เจ้าอาวาสวัดนาคต , อดีตกำนันถาวร เครือยศ ประธานวัด , กำนันเสาร์แก้ว ธรรมวันดา อาจารย์ทิพยา จิวกิตติศักดิ์กุล ข้าราชการบำนาญ กลุ่มต้นกล้าอาสา , คุณครูนันทนาพร วงศ์ยศ , อาจารย์ ดร.นิตยา วงศ์ยศ , คุณวิไล สินเปียง , คุณครูวัฒนา ท้าวยศ ทั้งนี้พระอธิการ พรหมพรรชน์ ธีรปัญโญ เป็นผู้จัดตั้งบอกบุญวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 กองทุนละ 280 บาท จำนวน 100 กองทุน ปรากฏว่าได้มา 108 กองทุน จึงปิดรับกองทุน และได้ดำเนินการโดยใช้ระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งได้เปิดอย่างเป็นทางการให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาและได้ชมพระบฎ(จำลอง) เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563 นี้

นอกจาก วัดนาคตหลวง จะมีวิหารโบราณและพระบฎที่น่าสนใจแล้ว ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระธาตุเจดีย์และมณฑปครูบา ในส่วนของพระธาตุเจดีย์นี้ ยังเกิดการหักเหของแสงผ่านช่องเล็กๆ เกิดเป็นพระธาตุกลับหัวที่ไปปรากฏบนผืนผ้าภายในอาคารกุฏิอีกด้วย

วันหยุดสุดสัปดาห์นี้หากเดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดลำปาง และมีโอกาส ลองบรรจุชื่อของวัดนาคตหลวงไว้ในโปรมแกรมท่องเที่ยวดู มาแล้วคุณจะได้เห็นสิ่งที่สวยงามและทรงคุณค่าที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้ให้ เพื่อถวายแก่พระพุทธศาสนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *