ตามรอยกัญชงของแม่ พืชมหัศจรรย์ ที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน

เมื่อพูดถึง “เฮมพ์” (Hemp) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “กัญชง” ซึ่งภายหลังจากที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากเฮมพ์ได้ ประกอบกับหลังจากที่ข่าวได้เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานวิจัยและพัฒนาเฮมพ์ของ “สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)” หรือ “สวพส.” ออกไป ทำให้คนไทยโดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและรายกลุ่ม ล้วนตื่นเต้นกับการใช้ประโยชน์ของกัญชงและกัญชา ก็เป็นโอกาสที่จะสามารถส่งเสริมให้เฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วนของเฮมพ์ ประกอบด้วยเมล็ดนำไปใช้ประโยชน์ทางอาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง ช่อดอกและใบนำมาสกัดสารสำคัญเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ส่วนเปลือกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และแกนนำมาใช้ในการทำวัสดุก่อสร้าง ซึ่งการแปรรูปเฮมพ์เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบันยังเป็นการแปรรูปจากเปลือกและแกนเฮมพ์

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะพาคุณๆมารู้จักกับ “เฮมพ์” กัน ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

เฮมพ์เป็นพืชที่มีความสำคัญในวิถีชีวิตและเป็นภูมิปัญญาของชาวเขาบนพื้นที่สูงมานับแต่โบราณ สำหรับการทำเครื่องนุ่งห่ม โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนนีย์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 ณ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ห้วยแม่เกี๋ยง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “…โดยเฉพาะกัญชง ให้พิจารณาข้อดีและตัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ก็จะส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ เพราะเส้นใยที่มีคุณภาพ…” และในปี พ.ศ. 2547 ว่า “…สมควรศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลุกกัญชง เพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มและจำหน่ายเป็นรายได้…” รัฐบาลโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยจัดทำและดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ฉบับที่ 1 พ.ศ.2552 – 2556 และแผนปฏิบัติการพัฒนาเฮมพ์บนพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2553-2557) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การวิจัยและส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งปัจจุบันพบว่าการดำเนินงานที่สำคัญๆ ประสบผลสำเร็จตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนด ทั้งในด้านงานวิจัยและการพัฒนาพันธุ์เฮมพ์ให้มีคุณสมบัติในการปลูกเป็นการค้าได้ คือ มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้ผลผลิตสูง พร้อมทั้งเทคโนโลยีในการปลูกและดูแลรักษา และได้แก้กฎหมายให้สามารถส่งเสริมปลุกเฮมพ์เป็นพืชที่ใช้สอยในครัวเรือน เพื่อรายได้ให้แก่ชุมชน

จากความสำเร็จของการดำเนินงานในข้างต้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงจึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในระยะต่อไป คือ การผลักดันการส่งเสริมปลูกเฮมพ์เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการสร้างอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมปลูกทดแทนการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเฮมพ์เป็นพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ประโยชน์จากต้นเฮมพ์ได้ทุกรูปแบบ รวมทั้งเป็นพืชสำคัญเชิงนโยบายในการใช้สกัดเพื่อทำยารักษาโรค

คุณสมบัติเด่นของเฮมพ์ คือ เป็นเส้นใยที่ยาว เส้นใยมีความยืดหยุ่นสูง ทนทาน แข็งแรง และมีความสามารถในการซึมซับน้ำและระบายความชื้นได้ดี ด้วยโครงสร้างของเส้นใยที่มีรูพรุนจึงทำให้สวมใส่เย็นสบายในฤดูร้อน และอบอุ่นในฤดูหนาว สามารถป้องกันเชื้อราได้ และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ถึง 95%

ความแตกต่างของกัญชงกับกัญชา เฮมพ์หรือกัญชงในประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเปลือกของลำต้น โดยนำเส้นใยไปใช้และแกนที่เหลือจะนำไปผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น เฮมพ์บล็อก เฮมพ์กรีต เสา หลังคา พาติคิลบอร์ด และฉนวนกันความร้อน ส่วนกัญชาในต่างประเทศนำไปใช้ประโยชน์ทางยาและเพื่อสันทนาการ แต่ในประเทศไทยกฎหมายประกาศให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ แต่ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย

“ดร.สริตา ปินมณี” นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงฯ

โดย “ดร.สริตา ปินมณี” นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงฯ กล่าวว่า “เฮมพ์เป็นพืชที่เจริญเติบโตค่อยข้างเร็ว มีประโยชน์ สามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วน หากนำไปใช้อย่างเหมาะสมและเกิดการผลิตที่เหมาะสม ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาทางสถาบันวิจัยฯได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านหรือชาวเขาเผ่าม้งบนพื้นที่สูง สามารถที่จะปลูกเฮมพ์ได้ มีการแนะนำในเรื่องการขออนุญาตปลูก จนใจปัจจุบันทีมพัฒนาและส่งเสริมของสถาบันฯได้เป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งปัจจุบันนี้กฎหมายได้กำหนดว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นผู้ขออนุญาตให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกเฮมพ์ได้ เพื่อที่จะนำมาใช้สอยในครัวเรือน ใช้ประโยชน์จากเส้นใย หรือแปรรูปเป็นหัตถกรรมต่างๆออกมาจำหน่ายสร้างรายได้”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *