เที่ยว “เถิน” เพลินตา ชมวัดวาโบราณ พร้อมจิบน้ำส้มเกลี้ยงเลื่องชื่อ

คนส่วนใหญ่ต่างมอง “อำเภอเถิน” จังหวัดลำปาง ว่า เป็นเพียง “เมืองผ่าน” ไม่มีอะไรที่น่าสนใจ แต่หากคุณลองเลี้ยวรถเข้าไป ความคิดของคุณจะเปลี่ยนทันที จะพบว่า “เถิน…น่ารัก น่าเที่ยว” มีอะไรดีๆให้สัมผัสมากมาย

แล้ววันนี้เราเลี้ยวรถเข้ามาเที่ยวแถินกัน!!!

“เถิน” มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่เป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรล้านนาก่อนจะถึงเมืองลำปาง และเป็นเส้นทางผ่านของกองทัพกรุงศรีอยุธยา บางคราวก็ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรล้านนา บางคราวก็ขึ้นกับพม่า เนื่องด้วยเถินมีความเป็นมาอันยาวนานนี้เอง ทำให้ในเมืองเถินเต็มไปด้วยวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย ทั้งแต่ละวัดก็ล้วนสวยงามและทรงคุณค่าด้วยศิลปะล้านนาและพม่า อาทิ วัดเวียง วัดอุมลอง วัดดอยป่าตาล และวัดล้อมแรด เป็นต้น

“วัดเวียง”
วัดเวียง เป็นวัดที่งดงามไปด้วยงานนศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมล้านนาอันเก่าแก่ ที่ยังเหลืออยู่ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ โดยสิ่งที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้ ประกอบไปด้วย “ต้นขนุนพระนางจามเทวี” ในปี พ.ศ. 1157 เจ้าดาวแก้วไข่ฟ้า เจ้าเมืองเถิน ได้สร้างวิหารอุโบสถขึ้น พระนางจามเทวี พระสหายของเจ้าเมืองได้ช่วยก่อสร้าง พระนางจามเทวี ได้ปลูกต้นขนุนขึ้น เพื่อเป็นหลักเมืองเรียกว่า “ขนุนนางจามเทวี” ซึ่งต้นขนุนจามเทวีนี้มีปรากฎอยู่ 3 ต้นด้วย ได้แก่ที่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดเวียงแห่งนี้

“ประตูโขง” พัฒนาขึ้นจากเจดีย์แบบมณฑปปราสาท 5 ยอดแบบล้านนา เชื่อว่าเมื่อลอดซุ้มประตูจะเข้าสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ ฐานประตูโขงยกเก็จย่อมุม 16 ขอบซุ้มประตูเป็นลายพันธุ์พฤกษา สองข้างเป็นกินรี ตรงกลางเป็นมังกรคายนาค หางมังกรพันกันเหนือซุ้ม ใต้ซุ้มประตูเป็นวงล้อพระธรรม ด้านข้างเป็นคชสีห์และสกุณไกรสรหัวเป็นนก ตัวเป็นสิงห์ ไม่มีปีก ด้านข้างเป็นกินรีร่ายรำ , “วิหาร” เป็นวิหารโถงล้านนา ที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน ไม่มีฝาผนังด้านข้าง ยกเว้นส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งอยู่หลังสุด ผนังด้านหน้ามีงานประติมากรรมนูนต่ำรูปลิงมีหางเป็นปลาคือ “มัจฉานุ” ซึ่งวิหารโถงลักษณะนี้จะเหมือนกับที่วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดไหล่หิน และวัดปงยางคก , “ซุ้มพระเจ้า” มีลักษณะรูปแบบเหมือนวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดไหล่หิน และวัดปงยางคก ประดิษฐาน “พระเพชร” ปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ซุ้มพระเจ้ายกเก็จย่อมุม ซุ้มด้านข้างลวดลายฐานชุกชี มีเครื่องสูงหรือราชกุธภัณฑ์ และธรรมาสน์ล้านนา

จิตรกรรมฝาผนัง “ฝาน้ำย้อย” เมื่อ พ.ศ. 2534 ทางวัดได้ขออนุญาตทางกรมศาสนา เพื่อซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝาน้ำย้อยด้านในวิหารเป็นลายรดน้ำและขออนุรักษ์รูปแบบลวดลายคงเดิมไว้ ซึ่งช่างเขียนลวดลายจากเชียงใหม่เป็นผู้ซ่อมแซม โดย ฝาน้ำย้อย คือผนังไม้ที่ยื่นลงมาจากขื่อ ลงมาเพื่อกันแดดและฝน เนื่องจากวิหารโถงล้านนาไม่มีผนัง และ “คันทวย” ทางภาคเหนือจะเรียกว่า “ทวยหูช้าง” มีลักษณะการแกะสลักแผ่นไม้รูปสามเหลี่ยมติดกับเสาหรือผนัง บนแผ่นไม้มีการสลักลวดลายพญานาคผสมผสานมังกรเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

“วัดอุมลอง”
วัดอุมลอง เป็นวัดที่สร้างมานานกว่า 2,000 ปี สร้างหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน 250 ปี พระยาอโศกมหาราชเป็นผู้สร้าง ต่อมาได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมตามกาลสมัย สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ “พระธาตุเจดีย์” ที่ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วน “กระดูกกำพร้า” (กระดูกท่อนแขนใต้ข้อศอก) เป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ร่วมกับพระธาตุวัดเวียงและวัดป่าตาล โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “คืนวันเพ็ญเวลาใกล้เที่ยงคืน มักมีคนเห็นลูกไฟกลมๆสีเขียวสว่างสดใสเท่าลูกส้มเกลี้ยง ลอยขึ้นจากองค์พระธาตุ แล้วลอยละลิ่วสู่ทิศใต้ หรือบ้างทีก็ลอยสู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้าใจว่าลูกไฟนี้ คงไปเยี่ยมเยียนกันระหว่างวัดอุมลองและวัดดอยป่าตาล”

“วิหาร” สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2463 เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาแบบปิด ผนังวิหารยกเก็จเพื่อแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 3 ส่วน บานประตู หน้าต่าง และเสาทุกต้นเป็นไม้สักทอง แกะสลักลวดลายสวยงามโดยช่างฝีมือชาวพม่า ชื่อ “หม่องละ” และ “หอพิพิธภัณฑ์” หรือเดิมคือหอจำศีล สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 โดยศรัทธาของนายป้อง มั่นคง เพื่อใช้จำศีลภาวนาในวันโกน และวันพระ สร้างโดย สล่าเจ๊ก คือ ช่างคนจีน ที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาผสมจีน ปัจจุบันใช้เป็นหอพิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บโบราณวัตถุ

“วัดดอยป่าตาล”
วัดดอยป่าตาล เป็นวัดเก่าแก่ที่ตำนานเล่าว่า ในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์เมื่อเสวยพระชาติเป็นพญาวัว อันกำเนิดแต่แม่วัว พ่อวัวแดง ได้เดินทางรอนแรมมาถึงป่าด้านตะวันตกแม่น้ำวัง เป็นที่อาศัยของสัตว์นานาชนิด มียักษ์ใหญ่ 3 ตน รักษาขุมแก้ว เงิน และทองคำ แม่วัวได้มานอน จึงเรียนว่า “ม่อนวัวนอน” ในปี พ.ศ. 2471 ครูบาเจ้าศรีวิชัยหรือครูบาศิลธรรม ได้เดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยท่านได้นำคณะสานุศิษย์และคณะศรัทธาในอำเภอเถินและอำเภอใกล้เคียง ร่วมกันสร้างสิ่งต่างๆขึ้น อาทิ วิหาร เจดีย์ ในเวลาต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีไว้ว่าเป็นโบราณสถานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2477

ภายในวัดนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ “วิหาร” ลักษณะเป็นวิหารปูน ด้านหน้ามีลวดลายแกะสลักเสราอย่างสวยงาม เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาผสมพม่า หลังคามุงด้วยดินขอ สร้างโดยครูบาศรีวิชัยและคณะศิษยานุศิษย์ , “บันไดนาค” เป็นบันไดปูนปั้นยาวประมาณ 90 เมตร มีบันได 50 ขั้น ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยครูบาศรีวิชัย เป็นศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิม และ “หอไตร” เป็นหอที่มีการก่อสร้างแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ เป็นศิลปะล้านนา โดยใช้เป็นหอสำหรับเก็บรวบรวมใบลานและพระไตรปิฎก

“วัดล้อมแรด”
วัดล้อมแรด มีอายุกว่า 528 ปี ภายในวิหารวัดประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปิดทอง ศิลปะเชียงแสน บริเวณด้านหน้าวัดที “ซุ้มประตูโขง” เป็นซุ้มประตูแบบปูนปั้นสถาปัตยกรรมล้านนา ทำการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2472 มีความกว้าง 3.50 เมตร สูง 9 เมตร พร้อมกันนี้ในวัดยังมี “อนุสาวรีย์แรด” ซึ่งเนื่องจากในอดีตบ้านล้อมแรดเป็นแหล่งที่มีแรดอาศัยอยู่ในป่ารอบๆ มักจะรวมฝูงกันลงมากินน้ำที่ห้วยในหมู่บ้านเป็นประจำ ชาวบ้านทั่วไปในอดีตจึงมักเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านฮ่อมแรด และต่อมาเพื้ยนมาเป็น “บ้านล้อมแรด” ดั่งในทุกวันนี้ จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์แรดเพื่อเป็นอนุสรณ์ของหมู่บ้าน

เที่ยววัดโบราณกันจนเพลินแล้ว ทีนี้เรามาหาของอร่อยๆกินกันดีกว่า ซึ่งของกินขึ้นชื่อของอำเภอเถินนี้ คือ “ส้มเกลี้ยง” ที่เป็นส้มเกลี้ยงรสดีไม่มีใครเหมือน เนื่องด้วยเป็นส้มเกลี้ยงที่ปลูกบนดินตะกอนของแม่น้ำวัง ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุนานาชนิดที่เป็นประโยชน์และเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของต้นส้ม ทำให้ได้ส้มเกลี้ยงที่มีคุณภาพ มีรสชาติที่ดี แตกต่างจากที่อื่นๆ โดยชาวสวนส้มเกลี้ยงในอำเภอเถินได้รวมกลุ่มกันแปรรูปส้มเกลี้ยงออกจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งที่นิยมกันก็คือ “น้ำส้มเกลี้ยง” เมื่อได้ดื่มแล้วสดชื่นจับใจ หรือทั้งยังนำส้มเกลี้ยงมาทำเป็นขนมอีกด้วย กับ “วุ้นกะทิ” ที่ได้รสออกมาดีไม่แพ้น้ำส้มเกลี้ยง ให้รสชาติหอมหวานอร่อยชวนลอง

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของความเป็นเมืองเถิน ที่คุณต้องลองเข้ามาสัมผัสสักครั้ง หากเมื่อคุณได้สัมผัสแล้ว ความคิดของคุณจะเปลี่ยนทันที จากความคิดที่ว่า เถินเป็นเพียงเมืองผ่าน จะกลายเป็น “เมืองที่ต้องแวะ….เที่ยว”!!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *