โรค “RSV” อีกหนึ่งภัยร้าย ที่ต้องป้องกัน

โรค RSV คืออะไร?
เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ หรือไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการเหมือนเป็นหวัดในเด็กทั่วไป เป็นได้ทุกวัย แต่เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่จะติดเชื้อ RSV และมักก่อให้เกิดอาการรุนแรง โดยทั่วไปผู้ใหญ่เป็นได้เช่นกัน แต่มักจะมีอาการน้อยกว่าเด็กมาก สำหรับผู้สูงอายุจะกลับมาคล้ายกับเด็กเล็ก อาจจะมีลักษณะอาการที่รุนแรงได้

กลุ่มเสี่ยง คือใคร ?
เด็กคลอดก่อนกำหนด , เด็กโรคหอบหืด , เด็กโรคหัวใจ , เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้สูงอายุ

โรค RSV ติดได้อย่างไร?
โรค RSV ติดได้อยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ
1.ติดทางละอองฝอย เวลาไอ จามรดกัน ซึ่งทำให้เด็กที่อยู่ใกล้กันติดเชื้อและทำให้เกิดโรคได้
2.เกิดจากการสัมผัส อาจมีละออง สิ่งคัดหลั่งต่างๆบริเวณตามพื้น แล้วเกิดการสัมผัส ขยี้ตา แคะจมูก หรือนำเข้าปากได้

โรค RSV ระบาดช่วงเวลาใด?
จะอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอากาศที่เย็น เนื่องจากไวรัสอยู่ในอากาศได้นาน

เมื่อไหร่จะสงสัย ว่าติดเชื้อ RSV?
1.มีอาการไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส
2.มีอาการไอเป็นอย่างมาก
3.มีน้ำมูกมาก ถ้าเด็กที่มีอาการรุนแรงของกลุ่มนี้ จะมีเสียงหายใจลำบากลักษณะคล้ายเสียวี๊ด บางรายจะหายใจแบบกรน ซึ่งเด็กลุ่มนี้จะมีอาการรุนแรง เด็กจะรับประทานอาหารได้น้อยลง หงุดหงิด งอแง ผู้ปกครองควรให้ความสนใจอย่างมาก

ระยะเวลาในการติดเชื้อ ติดเชื้อ RSV นานแค่ไหน?
ประมาณ 3 – 6 วัน สำหรับการติดต่อ เชื้อโรคจะอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษาหรือเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงเยอะ แล้วกลุ่มที่ไม่ค่อยแข็งแรง ภูมิคุ้มกันต่ำ อาการจะอยู่ได้นาน

หากติดเชื้อแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง?
ให้สังเกตุอาการเด็ก จะมีไข้สูง , มีเสมหะมาก ,ไอถี่, ไม่สามารถนอนได้ ,มีน้ำมูกไหล เมื่อสังเกตุว่ามีอาการเหล่านี้ให้รีบพาเด็กมายังโรงพยาบาล ในเด็กบางคนจะหอบเหนื่อยเร็วเนื่องจากเสมหะลงไปที่หลอดลม ลักษณะของไวรัส RSV เสมหะจะเหนียวมาก ข้นมาก เด็กขับเสมหะไม่ค่อยเป็น เพราะมีค่อนข้างมากและเหนียว เด็กจะขับออกเองไม่ได้ มีอาการไอมาก ทำให้หายใจเหนื่อยได้ จึงแนะนำให้รีบพามายังโรงพยาบาล

RSV รักษาให้หายได้อย่างไร?
เนื่องจากเป็นไวรัส จึงไม่มียาจำเพาะ จึงอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาวัคซีน แต่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน สำหรับแนวทางการรักษาจะประคับประคองไปก่อน มีการเช็ดตัว ให้ยาลดไข้ ให้เกลือแร่ หากทานไม่ได้จะให้นอนโรงพยาบาลเติมน้ำเกลือ ให้ยาลดอาการไอ ลดอาการแพ้ เด็กบางคนที่มีอาการเหนื่อยหอบมาก จะมีการพ่นยา เพื่อขยายหลอดลม เมื่อมีการสร้างภูมิคุ้มกันเข้ามาและสามารถประคับประคองช่วงนี้ได้ เด็กจะหายภายในประมาณ 5-7 วัน

การตรวจเชื้อ RSV ทำได้อย่างไร?
เนื่องจาก โรค RSV มีมาหลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่โรคใหม่ แต่สายพันธุ์อาจพัฒนาไปเรื่อยๆ ในอดีตอาจตรวจพบไม่ได้ เนื่องจากไม่มี Lab ในการตรวจรักษา ซึ่งในการตรวจโรค RSV จะใช้สารคัดหลั่งจากบริเวณคอหอย หรือบริเวณช่องจมูก แล้วเก็บสารคัดหลั่งไปตรวจกับ Lab ห้องปฎิบัติการทดลองในเด็ก ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี และพึ่งได้มีการพัฒนามา ในช่วง 5-10 ปี หลังนี้ ทำให้สามารถวินิจฉัยได้เร็วขึ้น ทำให้ระบุได้ว่า โรค RSV เป็นตัวก่อโรค

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะตามมาหลังติด RSV?
ภาวะแทรกซ้อนเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเด็ก เนื่องจากระยะแรกอาจจะมีอาการแค่หวัด อาจจะมีโพรงจมูกอักเสบหรืออาการเหมือนหูอักเสบ และลงมาที่หลอดลมได้ อาการรุนแรงอาจจะมีภาวะการเป็นปอดบวม ภาวะหายใจที่ลำบากเหนื่อย หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่วนใหญ่เกินครึ่งจะมีภาวะของหลอดลมอักเสบ ประมาณ 20-40 เปอร์เซนต์จะมีภาวะปอดบวมลงไปที่เนื้อปอด ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ RSV?
1.ให้ล้างมือบ่อยๆ ไม่ว่าจะตัวเด็กเอง หรือผู้ที่เลี้ยงดู โดยใช้สบู่ธรรมดา
2.เมื่อเด็กป่วย ห้ามไปโรงเรียน พยายามกักตัวอยู่ที่บ้าน เนื่องจากจะไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น เด็กที่ป่วยเอง อยากแนะนำให้ห่างจากคนอื่น ทิ้งระยะห่างทางสังคม
3.อย่ารอให้เป็นโรค ให้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายในเด็ก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศ.พญ.ดร. เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถติดตามรับชม Youtube ได้ที่ https://youtu.be/MXd6lfylnN4

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *