“หอไตรล้านนา” สร้างเก็บพระไตรปิฎกและมุ่งบุญกุศล เชื่อว่าได้อานิสงส์เท่าสร้างวิหาร

หอไตรวัดพระสิงห์

ภายใน “วัด” มีสิ่งปลูกสร้างทางพระพุทธศาสนามากมาย หนึ่งในนั้นก็มี “หอไตร” หรือ “หอธรรม” รวมอยู่ด้วย โดย “หอไตร” คือ อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นหอสูง สำหรับเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกหรือหนังสือธรรมะทางพุทธศาสนา พร้อมกันนี้ หอไตร ยังใช้เป็นที่เก็บจารึกความรู้ต่างๆอีกด้วย เช่น เรื่องตำรายาโบราณ และวรรณคดีโบราณ เป็นต้น ซึ่ง หอไตร ถือเป็นของสูงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ส่วนใหญ่นิยมสร้างเพื่อมุ่งบุญกุศลเป็นสำคัญ ด้วยถือคติความเชื่อว่าการสร้างหอไตรได้อานิสงส์ผลบุญเทียบเท่ากับอานิสงส์ในการสร้างวิหาร นอกจากนี้ หอไตร ยังเป็นสถานที่หวงห้ามสำหรับบุคคลภายนอก ด้วยถือว่าคัมภีร์ที่ได้รับการสังคายนาแล้ว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ควรค่าแก่การเคารพบูชา

สำหรับภาพของ “หอไตร” นั้น หลายๆท่านอาจจะคุ้นตากับภาพที่เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มีเสาสูง ใต้ถุนโล่ง ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ไม่มีสะพานเชื่อม และไม่มีบันไดทางขึ้น ซึ่งรูปแบบเช่นนี้จะเป็นลักษณะของหอไตรมาตราฐานที่พบได้ทั่วไปในแถบภาคกลางของไทย โดยคติการทำหอไตรกลางสระน้ำนี้ มีกุศโลบายเพื่อใช้ป้องกันมด ปลวก แมลง ไม่ให้มากัดกินพระคัมภีร์ อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยงอัคคีภัยอีกด้วย เนื่องด้วยในสมัยโบราณคัมภีร์พระไตรปิฏกมักจารึกลงใบลาน ที่เรียกว่า “คัมภีร์ใบลาน”

หอไตรวัดแม่สา
หอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัย

แต่ “หอไตร” ในล้านนาหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หอธรรม” นั้น มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ต่างไปจากหอไตรในภาคกลาง ซึ่งเอกลักษณ์ของหอไตรในล้านนา ก็คือ การสร้างอาคารด้วยหอสูงสองชั้นบนแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างทำเป็นห้องทึบก่ออิฐถือปูน ไม่มีบันไดขึ้นสู่ชั้นบน ส่วนชั้นบนนิยมทำด้วยเครื่องไม้แกะสลัก เมื่อจะใช้พระคัมภีร์ที่เก็บไว้ในหอ ต้องนำบันไดมาพาดแล้วปีนเข้าไปทางช่องประตูแคบๆ ลักษณะการทำหอไตรทรงสูงเช่นนี้ หนุนเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า คัมภีร์พระไตรปิฏกเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จึงต้องเก็บไว้บนที่สูง ในอดีตเวลาจะหยิบพระคัมภีร์ไปใช้จะต้องเทินแบกเหนือบ่า ห้ามถือในระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องเก็บไว้อย่างมิดชิด ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปหยิบได้ง่าย

หอไตรแบบหอสูงนี้ จัดเป็นหอไตรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในบรรดาหอไตรทุกประเภทของล้านนา โดยสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ตรงกับสมัยของพระเจ้าติโลกราช ผู้ทรงกระทำการสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินไทย ในปี พ.ศ. 2020 ตัวอย่างหอไตรชนิดนี้ ได้แก่ หอไตรวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ , หอไตรวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร , หอไตรวัดช่างฆ้อง จังหวัดลำพูน และหอไตรวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง เป็นต้น

หอไตรวัดน้ำโจ้
หอไตรวัดหนองสี่แจ่ง

หอไตรแบบที่สองของล้านนา คือ หอไตรที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา เป็นหอไตรที่รับเอาวัฒนธรรมการทำหอไตรเรือนไม้ชั้นเดียวกลางสระน้ำของภาคกลางมาใช้ เพียงแต่มีการผสมผสานการประดับตกแต่งหน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย ด้วยลวดลายและเทคนิคแบบล้านนามาประยุกต์เข้าใส่ โดยหอไตรแบบนี้มีหลงเหลืออยู่ไม่มาก อาทิ หอไตรวัดป่าเหียง และหอไตรวัดสันกำแพง จังหวัดลำพูน เป็นต้น

และหอไตรแบบสุดท้าย เป็นหอไตรที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา มีลักษณะหลากหลาย มักจัดวางอยู่บนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส บ้างก็ทำเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว คล้ายกับอุโบสถขนาดเล็ก บ้างก็ทำเป็นอาคารสองชั้นเปิดใต้ถุนโล่งตอนล่าง ชั้นบนทำเป็นจตุรมุขมีระเบียงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน โดยมากจะทำหลังคาด้วยทรงมณฑปซ้อนเป็นชั้นๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปพม่าสกุลอังวะ ซึ่งหอไตรรูปแบบนี้ อาทิ หอไตรวัดดวงดี จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังก่ออิฐถือปูนประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ยอดเป็นหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นกัน ตามแบบศิลปะพม่ารุ่นหลัง หรือหอไตรวัดช่างฆ้อง จังหวัดเชียงใหม่ ลายประดับมีลวดลายจีนปะปน หรือหอไตรวัดหนองเงือก จังหวัดลำพูน ที่ภายในเขียนจิตรกรรมฝาผนังตามแบบสกุลช่างไทยใหญ่

หอไตรวัดป่าตัน
หอไตรวัดศรีบัวเงิน

พร้อมกันนี้การประดับตกแต่งผนังอาคารภายนอกของหอไตรล้านนาทั้งสามแบบ มักจะประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ไม้แกะสลักและลายรดน้ำ ซึ่งลวดลายดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มเทวดายืนพนมกรถือดอกบัว เป็นลักษณะของผู้พิทักษ์ปกป้องศาสนสถาน , กลุ่มลายหม้อดอก เป็นลักษณะของแจกันดอกไม้ที่ใช้บูชาตามหิ้งพระ และกลุ่มสัตว์หิมพานต์ โดยเฉพาะ สิงห์หรือราชสีห์ เป็นสัญลักษณ์ของราชสกุลศรีศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้า

หอไตรวัดช้างค้ำ

ปัจจุบันโลกเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยไป พระไตรปิฏกเปลี่ยนรูปแบบจากคัมภีร์ใบลาน มาเป็นพระไตรปิฏกแบบ “หนังสือ” และ “ดิจิตอล” เก็บง่ายใช้สะดวก ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในหอไตรอีกต่อไป หอไตร จึงถูกลดทอนบทบาทลง เหลือคงไว้เพียงซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมอันงดงาม แต่หอไตรบางวัดถูกลดบทบาทลงไปอย่างมาก ถูกปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา มิหนำยังใช้มรดกอันทรงคุณค่านี้เก็บของเหลือใช้ภายในวัด ดั่งเป็น “ถังขยะใบใหญ่” ซะอย่างงั้น!!!

หอไตรวัดเมืองวะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *