เติมความสุขให้ชีวิต กับการพิชิตความอร่อยใน “เมืองคนช่างกิน”

เขาว่ากันว่า “เมืองตรัง” เป็น “เมืองคนช่างกิน” แต่เพียงฟังคำเขาเล่าว่านั้น ก็ยากจะเชื่อ ต้องมาพิสูจน์ให้เห็นให้รู้ด้วยตนเองถึงจะดี และเมื่อสัปดาห์ก่อนสบโอกาสดี ได้มาพิสูจน์ความอร่อยของเมืองตรังกับ “ปากตนเอง” กับคณะของ “ชมรมภัตตาคารและร้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่” ที่นำโดย “คุณต้อม – ชวลิต ฉ่อนเจริญ” ประธานชมรมฯ ซึ่งพาคณะมาร่วมงาน “ตรังยุทธจักรความอร่อย กับหมูย่างและขนมเค้กจังหวัดตรัง ประจำปี 2561” ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ จังหวัดตรัง หอการค้าจังหวัดตรัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง และอีกหลายภาคส่วน โดยงานนี้เรียกได้ว่าอร่อยกันทั้งงานเลยทีเดียว
คณะชมรมภัตตาคารและร้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมงาน ตรังยุทธจักรความอร่อยฯ โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก คุณนันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผอ.ททท.ตรัง

ความอร่อยของคณะเราในการเดินทางมาเมืองคนช่างกินนี้ เริ่มต้นอร่อยกันตั้งแต่บนเครื่องบินแล้ว กับสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ที่บริการความอร่อยหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวอบใบเตยสไตล์มาเลเซีย , ข้าวมันไก่ย่าง , ข้าวกระเพราไก่หม่อนหน่อย , ข้าวไก่ผัดพริกเฉสวน , สปาเก็ตตี้ต้มยำทะเล , ข้าวปั่นสามเหลี่ยมไส้แกงกะหรี่ไก่ และอีกเพียบทั้งของคาวและหวาน ที่งานนี้จะสั่งรวมกับแพ็คเกจ(น้ำหนัก)กระเป๋า หรือจะไปเปิดเมนูดูบนเครื่องก็ตามสะดวก

อร่อยกับสายการบินไทยแอร์เอเชียกันไปแล้ว เมื่อเครื่องบินแตะพื้นดินที่สนามบินกระบี่ ก็จับรถต่อมาเมืองตรังโดยเร็ว ตามเสียงท้องร้อง เรียกหาความอร่อยของเมืองตรัง

ความอร่อยในแบบฉบับเมืองตรังนั้น เริ่มกันตั้งแต่ “มื้อเช้า”…เช้าตรู่…กันเลยทีเดียว โดยมื้อเช้าของคนตรังนั้นจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยการกิน กาแฟ ติ่มซำ และหมูย่าง โดยวัฒนธรรมการกินมื้อเช้าของคนตรังที่ไม่เหมือนใครนี้เนื่องมาจากรากฐานในอดีตที่ชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน มีอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลัก จำเป็นต้องตื่นแต่มืดเพื่อออกไปกรีดยางจนถึงเช้า เมื่อกรีดยางเสร็จก็ขอกินกันเต็มที่ เพื่อชดเชยกับพลังงานที่สูญเสียไปจากการทำงาน และเป็นการเพิ่มพลังงานรับวันใหม่อย่างเต็มที่ พร้อมรอฟังข่าวราคายางจากหอกระจายข่าวในเมือง จนกลายเป็นที่มาของ “เมืองคนช่างกิน”  เพราะคนที่นี่มักจะ กิน กิน กิน แล้วก็กิน โดยมีค่าเฉลี่ยการกินประมาณวันละ 5-6 มื้อเลยทีเดียว

เมนู “ติ่มซำ” ของคนตรัง แรกเริ่มจะมีแค่ ฮะเก๋า ขนมจีบ เคียงคู่กับซาลาเปา บะจ่าง และปาท่องโก๋หรือที่ชาวตรังเรียกว่า “จาโก๋ย”  วิธีรับประทานคือ ฉีกปาท่องโก๋ให้เป็นช่องตรงกลางเอาขนมจีบมาใส่แล้วราดด้วยน้ำจิ้ม ต่อมาปี 2552 เมนูติ่มซำถูกนำไปเป็นเมนูอาหารเช้าของโรงแรมชื่อดัง และขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย ขนมจีบก็มีการพัฒนาหลากรูปแบบขึ้น ทั้งขนมจีบห่อไส้กรอก ห่อหมูสับ ห่อไข่นกกระทา ห่อกุ้งสับ ปอเปี้ยะทอด และอื่นๆ จนเป็นติ่มซำชุดใหญ่เต็มโต๊ะ

ส่วน “หมูย่าง” นั้น เป็นของดีของขื้นชื่อของเมืองตรังอีกหนึ่ง โดยคนตรังคุ้นเคยกับการกินหมูย่างมาเป็นเวลากว่า 200 ปี ในอดีตคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ที่นี่ได้นำวัฒนธรรมประเพณี วิธีการปรุงอาหารติดตัวมาด้วย โดยเฉพาะวิธีการทำหมูย่างสูตรกวางตุ้ง ที่จะหมักด้วยเครื่องเทศปรุงยาจีนและน้ำผึ้ง ทำให้มีรสชาติหวานกลมกล่อม มีกลิ่นหอมถึงเครื่อง และไม่คาว ส่วนที่หนังหมูจะใช้เข็มเล็กๆแทงให้ทั่ว เพื่อเป็นการระบายอากาศและทำให้น้ำมันได้ซึมออกมา แล้วนำไปย่างในเตาที่ออกแบบพิเศษซึ่งจะทำให้ความร้อนถ่ายทอดเข้าสู่ตัวหมูได้สม่ำเสมอ

เมื่อย่างเสร็จแล้วหมูย่างตรังจะสีแดงสด ส่งกลิ่นหอม ชวนกิน กรอบนอก นุ่มใน ไม่ฉ่ำน้ำ ไม่สุกๆดิบๆ มีชั้นมันน้อย ส่วนถ้าจะกินให้อร่อยต้องกินพร้อมกันทั้งสามชั้น คือ หนัง มัน และเนื้อ โดยไม่ต้องกินคู่กับน้ำจิ้มใดๆ รสชาติหมูย่างจะรสหวานนำนิดๆ หนังกรอบ เนื้อหมูหอมแน่นเหนียว กินแล้วจะติดอกติดใจ

นอกจากอาหารเช้ากับติ่มซำและหมูย่างที่ขึ้นชื่อแล้ว เมืองตรัง…เมืองคนช่างกิน…ยังมีของกินทีเด็ดอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น เคาหยก หมี่หนำเหลี่ยว ขนมเค้กเมืองตรัง และขนมเปี๊ยะซอย 9

“เคาหยก” เป็นอาหารจีนกวางตุ้งชนิดหนึ่ง แปลตรงตัวว่าเนื้อคว่ำ และตรงกับภาษาจีนกลางว่าโค่วโหย่ว เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของหูหนานและกวางตุ้ง เคาหยกแบบจีนนั้นมีสองแบบ แบบแรกใช้หมูสามชั้นหั่นสี่เหลี่ยมผสมกับผักกาดดองเค็มแห้งที่เรียกเหมยไช่หรือไช่กัว อีกแบบหนึ่งใส่เผือกที่หั่นชิ้นเท่าหมู (แบบของเมืองตรัง) แบบที่ใส่ผักกาดดองจะนำผักกาดดองไปผัดกับน้ำปรุงรสก่อน ส่วนแบบที่ใส่เผือกจะนำเผือกชนิดที่เนื้อซุยที่จี่พอสุก ราดด้วยน้ำปรุงรสที่ทำจากเต้าหู้ยี้ น้ำมันหอย น้ำมันงา ผงพะโล้ จากนั้นจะนำหมูกับเครื่องปรุงใส่ชาม ตุ๋นให้หมูเปื่อยนุ่ม เมื่อสุกแล้ว จะนำจากมาปิดปากชามแล้วพลิกกลับด้านให้เนื้อหมูลงไปอยู่ในจาน จึงเป็นที่มาของชื่ออาหารจานนี้

“หมี่หนำเหลี่ยว” หรือ “หลอหมี่” อาหารถิ่นมาแรงของเมืองตรัง ที่ทาง ททท. ยกให้เป็นอาหารถิ่นต้องห้ามพลาด โดยหมี่หนำเหลี่ยว เป็นอาหารจีนฮกเกี้ยนมีรสอร่อยกลมกล่อม หน้าตาคล้ายราดหน้า มีวัตถุดิบใส่ผสมรวมกันมากว่า 20 ชนิด นำโดย เส้นหมี่เหลือง(คล้ายโกยซีหมี่) เนื้อปู เนื้อหมู ตับหมู ไข่ไก่ กะหล่ำปลี และเห็ดหอม เป็นต้น ซึ่งเมนูนี้เดิมชาวตรังจะนิยมกินกันเฉพาะในวันพิธีสำคัญและวันงานส่งศพของชาวจีน ซึ่งเปรียบดังการส่งผู้ตายสู่สวรรค์ เนื่องจากหมี่หนำเหลี่ยวนั้นต้องปรุงกันนานและพิถีพิถันในการทำมาก

“เค้กเมืองตรัง” ของแท้ต้องมีรูตรงกลาง โดยได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ในสมัยก่อนเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “เค้กขุกมิ่ง” ได้ชื่อมาจาก ขุกมิ่ง แซ่เฮง เจ้าตำรับขนมเค้กตรัง ที่ได้เดินทางมาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดตรัง โดยขุกมิ่งได้คิดทำขนมเค้กของตนเองเพื่อกินคู่กับกาแฟ โดยพัฒนาสูตรมาจากร้านขนมในอำเภอทับเที่ยง และคิดค้น พัฒนาต่อ จนกลายมาเป็นขนมเค้กเมืองตรัง โดยขนมเค้กเมืองตรังเป็นขนมที่ใช้วัตถุดิบในการทำเพียงไม่กี่อย่าง ได้แก่ แป้ง เนย น้ำตาล สีผสมอาหาร ผงฟู และไข่ไก่ โดยกรรมวิธีในการทำจะค่อยๆ นำส่วนผสมแต่ละอย่างมาตีให้เข้ากัน    แล้วนำไปเทลงแบบพิมพ์เค้กที่มีรูตรงกลาง เพื่อเวลาอบเค้กจะได้สุกทั่วถึงกันในระยะเวลาที่พอดี

และ “ขนมเปี๊ยะซอย 9” ก็อร่อยไม่เบา อยู่ในซอยห้วยยอด 9 ต.นาตาล่วง อ.เมือง ขนมเปี๊ยะเจ้าดัง สูตรหอมนุ่ม แป้งบางกรอบ มีหลากหลายไส้ให้เลือกชิม เช่น ไส้เผือกหอมไข่เค็ม ไส้ทุเรียนไข่เค็ม ไส้ถั่วแดงไข่เค็ม และไส้พุทราจีนไข่เค็ม เป็นต้น

เมนูทั้งหมดนี้ของเมืองตรัง และอีกมาก รวมไปถึงอาหารทะเลนานาชนิด มีให้อร่อยกันจนพุงกาง ตั้งแต่เช้ายันเย็นกันเลยทีเดียว สมกับเป็นเมืองคนช่างกินจริงๆ แต่จะอร่อยสมคำล่ำลือหรือไม่นั้น อย่าเพิ่งเชื่อ จนกว่าจะได้มาพิสูจน์ด้วยตัวคุณเอง…!!!

 

……………………………………………………………………

ขอบคุณ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง และสายการบินไทยแอร์เอเชีย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *