“แอ่วลำพูน ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีล้านนา”

ถึงเวลาเดินทางท่องเที่ยวอีกแล้ว ครานี้เป็นทริปใกล้ๆ กับเมือง “ลำพูน” เมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์น่าค้นหา โดยมีโอกาสได้เดินทางร่วมกับคณะ ในโครงการท่องเที่ยว “แอ่วเมืองลำพูน ท่องเที่ยววิถีไทย วิถีล้านนา” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมพัฒนายกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวและสินค้า

มาลำพูนครานี้ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ 2 วัน 1 คืน โดยได้สัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวของลำพูน แบบหลากรส ทั้งสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน ช้อปสินค้าพื้นถิ่น กินอาหารอร่อย เข้าวัดเข้าวาทำบุญ และชมธรรมชาติสวยๆ

โดยขอเริ่มต้นกับการเที่ยว “อำเภอลี้” อำเภอที่เต็มไปด้วยรสชาติของการท่องเที่ยว ซึ่งสถานที่แรกที่เรามาเที่ยวลี้ ก็คือ “อุทยานแห่งชาติแม่ปิง” ที่มี “น้ำตกก้อหลวง” เป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญ  น้ำตกแห่งนี้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปประมาณ 22 กิโลเมตร เป็นน้ำตกหินปูน ที่เกิดจากห้วยแม่ก้อ ไหลผ่านหน้าผาหินปูนสูงประมาณ 20 เมตร ไหลลดหลั่นกันลงมา มีทั้งหมด 7 ชั้น และตกลงมายังแอ่งน้ำขนาดใหญ่ สีเขียวมรกต น่าดูชม แปลกตากว่าที่ไหนๆ

เนื่องด้วยบริเวณดังกล่าวมีหินปูนและมีน้ำไหลตลอดปี จึงทำให้บริเวณน้ำตกมีหินงอกหินย้อยมากมาย และมีความสวยงามตาม ทั้งยังมีปลาชนิดต่างๆอาศัยอยู่มากมาย งานนี้หากมาในช่วงที่มี แสงอาทิตย์ตกลงมายังน้ำตก จะเห็นเป็นประกายระยิบระยับสวยงามแปลกตา

 

เสร็จจากเที่ยวน้ำตก เราก็ออกจากป่ามาหาชาวบ้าน เลี้ยวรถเข้ามายัง “ชุมชนพระบาทห้วยต้ม” ชุมชนท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดลำพูน ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนของ “ปกากะญอ” ที่รวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็ง โดยที่แห่งนี้ท่านจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่โดดเด่นในเรื่องของ “หัตถกรรม” ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอ เครื่องเงิน และเครื่องจักรสาน ที่มีให้ชม และช้อป ยัง “ศูนย์หัตถกรรมบ้านห้วยต้ม” ทั้งนี้ยังจะได้ศึกษาบ้านแบบโบราณ และวิถีดั้งเดิมของชาวปกากะญอ ที่ปฏิเสธไฟฟ้าและน้ำประปา ณ บ้านน้ำบ่อน้อย และหากมายังชุมชนแห่งนี้ จะให้เข้าถึงวิถีชุมชนจริงๆ ต้อง “ชิม” อาหารพื้นบ้าน ซึ่งชุมชนแห่งนี้ เขากิน “มังสวิรัติ” กันทุกหลังคาเรือน ถือปฏิบัติกันมาอย่างเคร่งครัด และยาวนานหลายสิบปีเลยทีเดียว

นอกจากจะเที่ยวสัมผัสวิถีชาวบ้านแล้ว ที่นี่ยังมีวัดที่น่าสนใจอีกด้วย ได้แก่” พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” เป็นเจดีย์สีทองเหลืองอร่าม จำลองมาจากพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า และ “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม”  วัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ ภายในวัดมีวิหารที่บรรจุร่างของครูบาวงศ์ ซึ่งไม่เน่าไม่เปื่อยไว้ในโรงแก้ว มีรอยพระพุทธบาทที่เชื่อว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ณ ที่นี่

และอีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจก็ได้แก่ “วัดพระพุทธบาทผาหนาม” ที่ออกจากฃุมชนปกากะญอพระบาทห้วยต้มมาไม่ไกล  วัดนี้นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอลี้ มี 2 จุด ให้แวะชมคือ ตัววัดที่ตั้งอยู่ด้านล่างมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของ ครูบาอภิชัย (ขาวปี) ศิษย์ของ ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นจุดเด่นตรงหน้าวัด และอีกหนึ่งจุดคือองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอย 2 องค์ โดยมีสะพานเชื่อมถึงกัน และเป็นจุดชมวิวซึ่งสามารมองเห็นเมืองลี้ได้ในมุมสูงแบบ 360 องศา ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น เคล้าสายหมอกยามเช้าที่สวยงามไม่แพ้ที่ไหนๆ

สัมผัสอำเภอลี้ไปก็สมควรแล้ว ถึงเวลาที่ต้องลาลี้ กับเข้าเมืองลำพูนกัน เมื่อถึงเมืองลำพูนก็เวลายามเย็นแล้ว อาหารที่กินมาตอนมื้อเที่ยงก็ย่อยหมดแล้ว ได้เวลาที่ต้องเติมพลังกัน และ “กาดฮิมน้ำลำพูน” เป็นที่หมายในการจับจ่ายของกินของคณะ โดย กาดฮิมน้ำลำพูน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกวง (ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัย) บริเวณศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

ซึ่งกาดแห่งนี้ เปิดทำการทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 10 โมงเช้า เรื่อยไปจนถึง 2 ทุ่ม ในกาดมีอาหารการกินมากมาย ทั้งคาวและหวานให้เลือกลิ้มรส ทั้งยังมีผัก ผลไม้ ที่ชุมชนต่างๆขนมาขายให้เลือกอีกเพียบ และเท่านี้ยังไม่พอ ในกาดยังเมืองเสื้อผ้าพื้นเมืองให้เลือกซื้ออีกด้วย

นี่ก็หมดไปหนึ่งวันสำหรับทริปนี้

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากที่นอนหลับสบายในโรงแรมดีๆแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางเที่ยวอีกครั้ง โดยจุดหมายแรกของวันที่สองอยู่ที่ “สะพานขาวทาชมพู” ซึ่งสะพานนี้เปรียบเสมือนเป็นน้องของอุโมงค์ขุนตาน เนื่องจากเกิดหลังจากที่สร้างอุโมงค์ขุนตานเสร็จได้ไม่นาน  ด้วยในปี พ.ศ.2462 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงรับสั่งให้ก่อสร้างสะพานบ้านทาชมภูขึ้น ต่อจากอุโมงค์รถไฟขุนตาน  เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อให้รถไฟสามารถข้ามผ่านลำน้ำแม่ทา

ปัจจุบันนอกจาก สะพานทาชมภู จะเป็นทางรถไฟที่ทอดข้ามแม่น้ำแล้ว ยังใช้เป็นจุดแบ่งเขตแดนระหว่างอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน กับเขตป่าสงวนแห่งชาติอีกด้วย อีกทั้งสะพานแห่งนี้ยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญจุดหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย

ชมความงามของสะพานโค้งสีขาวกันไปแล้ว ก็มาแอ่วกาดกันอีกครั้ง กับ “กาดแม่ทา” กาดที่ขึ้นชื่อในเรื่องของ “ของป่า” กาดแห่งนี้ได้ความจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า แต่เดิมชาวบ้านจะออกมาหาของป่าแถวป่าแม่ทาแห่งนี้  และยามบ่ายหลังจากที่ได้ของป่าจนพอใจแล้ว ก็เดินกลับบ้าน โดยใช้เส้นทางถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง เมื่อคนขับผ่านไปผ่านมาเห็น ก็มักจะจอดถามขอซื้อของป่า นานๆไปก็เลยตั้งเพิงไม้ขึ้น เป็นจุดขายของป่ากัน จนปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้ามากขึ้น ดั่งที่เห็นในทุกวันนี้

ของป่าของที่นี่มีมากมาย ที่มีมากและเป็นจุดเด่นของกาด ก็คือ หมูป่า ผักพื้นบ้าน ผักที่หาได้จากป่า เห็ด และหน่อไม้ เป็นต้น

ยังอยู่แม่ทากันต่อ ทีนี้มาเที่ยวชมงานฝีมือของชาวแม่ทา กับงาน “แกะสลักไม้” กัน ณ หมู่บ้านหนองยางไคล โดยงานแกะสลักไม้ของอำเภอแม่ทา เริ่มมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2348 ในสมัยที่ชาวยองถูกเกณฑ์มาบูรณะเมืองลำพูน แล้วย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามลุ่มน้ำต่างๆ รวมทั้งน้ำแม่ทา ในเขตอำเภอแม่ทาด้วย โดยงานนี้สล่าชาวแม่ทาทุกหมู่บ้านสืบทอดจิตวิญญาณด้วยการแกะสลักไม้มาจากบรรพบุรุษชาวยองมานานกว่า 200 ปี เป็นแหล่งแกะไม้ฉำฉา เพื่อป้อนสู่ตลาดหลายๆแห่งทั้งในและต่างประเทศ โดยงานแกะสลักของที่นี่มีมากมายหลากหลายรูปแบบและขนาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ และของตกแต่งบ้าน

รสชาติของลำพูน ยังไม่หมดอยู่เท่านี้ ทางคณะยังเดินหน้าเที่ยวต่อ สถานที่ต่อไปเป็น “พิพิธภัณฑ์ชุมขนเมือง” พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่หลังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญชัย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้พื้นที่ของ “คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ลำพูน”เป็นอาคารเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาอันยาวนานของเมืองลำพูน เมืองที่มีความศรัทธา ทางพระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่จัดแสดงประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก 1.พื้นที่ชั้นล่างอาคาร จัดแสดงประวัติคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ครั้งสมัยเจ้าราชสัมพันธวงษ์ ได้พำนักพร้อมครอบครัว บริวาร การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้งานของคุ้มตั้งแต่อดีตจนกระทั่งมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมือง นอกจากนี้ยังนำแผนที่เก่ามาขยาย แสดงให้เห็นพัฒนาการของเมืองลำพูน และภาพถ่ายเก่าที่สะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ของเมืองลำพูน  2. พื้นที่ด้านหลังอาคารเป็นการจำลองโรงภาพยนตร์เก่าของลำพูน “หริภุญชัยรามา” และจำลองห้องเรียน ที่แสดงหนังสือที่ใช้ใน การเรียนการสอนระดับประถมศึกษา โต๊ะ เก้าอี้ไม้ และกระดานดำ ชอล์ก และโรงแรมแห่งแรกของเมืองลำพูน โรงแรมศรีลำพูน และ 3.พื้นที่ชั้นสองของอาคารเป็นพื้นที่เปิดโล่งใช้ทำกิจกรรมต่างๆของพิพิธภัณฑ์  รวมถึงแสดงภาพประวัติของเจ้าสัมพันธวงศ์ และอาคาร บ้านเรือนเก่าแก่ที่น่าสนใจชองลำพูน

และสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ ก็ไม่พลาดที่จะเที่ยวชมและนมัสการ “วัดพระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุประจำปีเกิด “ปีระกา” ซึ่ง ณ วันนี้บริเวณวัดสวยงามไปด้วย “โคม” นับหมื่นนับแสนดวง กับ “เทศกาลโคมแสนดวงเมืองลำพูน” ซึ่งจะสวยแค่ไหนต้องลองมาดูด้วยตาตนเอง

นี่เป็นเพียงทริปสั้นๆ 2 วัน 1 คืน กับเมืองลำพูน โอกาสหน้าหากมาเยือนลำพูนอีกครั้ง จะเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง ลำพูนยังมีที่เที่ยวอีกเพียบ แต่ละที่แต่ละแห่งล้วนแต่น่าสนใจทั้งนั้น

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *