เที่ยวตามรอย “ยุคลบาท” ในโครงการพระราชดำริ แม่ฮ่องสอน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จทรงงานพัฒนาในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมากมาย โดยมีสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ จำนวน 4 แห่งด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส ศึกษา และเรียนรู้พระอัจฉริยะภาพในการทรงงาน ได้แก่ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย (ศูนย์ท่าโป่งแดง) , ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง , ศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน และศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยวันนี้จะขอพาทุกท่านเที่ยวไปเรียนรู้ไป ยัง ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย (ศูนย์ท่าโป่งแดง) , ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง และศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย” หรือ “ศูนย์ท่าโป่งแดง” ซึ่งศูนย์นี้เกิดขึ้นด้วย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความห่วงใยราษฏรและความมั่งคงปลอดภัยของประเทศ จึงได้มีพระราชดำริให้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มี ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ตามพระราชดำริ ตั้งแต่ พ.ศ.2522

ในศูนย์ประกอบไปด้วยศูนย์เรียนรู้ 9 ฐานด้วยกัน ได้แก่ ฐานเรียนรู้ด้านพืช , ฐานเรียนรู้ข้าว , ฐานการเรียนรู้ด้านดินและปุ๋ย , ฐานการเรียนรู้ปศุสัตว์ , ฐานเรียนรู้ด้านการประมง , ฐานเรียนรู้ด้านไฟป่า , ฐานเรียนรู้ด้านการจัดการฟาร์ม , ฐานเรียนรู้ด้านป่าไม้ และฐานเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ

สำหรับศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้ มีพืชอยู่ชนิดหนึ่งที่โดดเด่นไม่น้อย ได้แก่ “โกโก้” โกโก้ของที่นี่ เป็นพันธุ์ที่พัฒนามาจากโกโก้ 3 พันธุ์ดังนี้ สายพันธุ์คริโอโล มีผลใหญ่สีแดงหรือเขียว ผลสุกมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมและรสชาติดี , สายพันธุ์ฟอรัสเทอร์โร่ แบ่งเป็น 2 พวก คือ เวสห์อัฟริกัน อมีโลนาโด และอับเปอร์อะเมซอน และสายพันธุ์ตรินิทาริโอ ผลค่อนข้างใหญ่ เนื้อเมล็ดมีสีม่วงอ่อน

โดยพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาจากทั้ง 3 พันธุ์ คือ พันธุ์ลูกผสมชุมพร 1 มีลักษณะผลป้อม เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีลักษณะเด่นตรงที่ ออกผลเร็ว ให้ผลผลิตสูง เมล็ดมีขนาดตรงตามมาตรฐานสากล ส่วนอีกพันธุ์ได้แก่ พันธุ์ UITI x NA32 ผลแก่มีสีเขียวส่วนผลสุกสีเหลือง มีลักษณะเด่นคือมีผลที่ค่อนข้างใหญ่

ซึ่งโกโก้ของที่นี่สามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดโกโก้คั่ว และช็อคโกแลต เป็นต้น

………

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 053-684377

………

“ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ศูนย์ปางตอง” เป็นโครงการตามพระราชดำริที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2,500 ไร่ เป็นศูนย์ฯแห่งที่ 2 ต่อจากศูนย์ท่าโป่งแดง ซึ่งศูนย์แห่งนี้มีวิสัยทัศน์ในการเป็น “แหล่งสืบสานเรียนรู้ ตามรอยยุคลบาท ตามแนวทางของการอยู่ร่วมกันของคนและป่า เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเสริมสร้างความมั่นคงของชุมชนบนพื้นที่สูง”

ภายในศูนย์ปางตอง ประกอบไปด้วยศูนย์เรียนรู้ต่างๆมากมาย ถึง 12 ฐานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฐานเรียนรู้ด้านป่าไม้ตามพระราชดำริ , ฐานเรียนรู้ด้านการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ท้องถิ่นและเฟิร์น , ฐานเรียนรู้ด้านการประมงบนพื้นที่สูง , ฐานเรียนรู้ด้านการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง , ฐานเรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า , ฐานเรียนรู้ด้านการผลิตต้นพันธุ์พืชบนพื้นที่สูง , ฐานเรียนรู้ด้านการปลูกพืชบนพื้นที่สูง , ฐานเรียนรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง , ฐานเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ , ฐานเรียนรู้ด้านการปลูกข้าวบนพื้นที่สูงและธัญพืชเมืองหนาว , ฐานเรียนรู้โครงการศูนย์ไผ่ศึกษา และฐานเรียนรู้ด้านการจัดระบบโรงเรียนพึ่งพาตนเอง ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับฐานเรียนรู้ข้างต้น หากอยากสัมผัสให้ครบ คงต้องใช้เวลาเป็นวันๆ วันนี้จึงขอพามาสัมผัสเพียงบางฐานเท่านั้น ได้แก่ “ฐานเรียนรู้ด้านการประมงบนพื้นที่สูง” โดยฐานแห่งนี้จะเป็นสถานีทดสอบ สาธิต การเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนและปลากดหลวงบนพื้นที่สูง พร้อมทั้งเป็นสถานีอนุรักษ์สัตว์น้ำท้องถิ่น ได้แก่ เขียดแลวและสัตว์น้ำท้องถิ่น , ฐานเรียนรู้ด้านการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ท้องถิ่นและเฟิร์น เป็นฐานการผลิตและขยายพันธุ์กล้วยไม้ท้องถิ่น แล้วกลับนำคืนสู่ป่า พร้อมด้วยพัฒนาการผลิตเป็นกล้วยไม้เชิงการค้า

ฐานเรียนรู้ด้านการปลูกพืชบนพื้นที่สูง มีแปลงสาธิตการปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ กาแฟอราบิก้า ไม้ผลเขตหนาว การผลิตผักปลอดสารพิษ การผลิตไม้กระถาง กล๊อกซีเนีย กล้วยไม้เขตหนาว การจัดทำแปลงปลูกกาแฟในพื้นที่เกษตรกร , ฐานเรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ศึกษา วิจัย ค้นคว้าทางวิชาการและขยายพันธุ์ด้านสัตว์ป่าจำนวน 30 ชนิด ทั้งสัตว์ปีกและสัตว์กลีบ เผยแพร่ความรู้แก่ผู้สนใจและขยายผลการเพาะเลี้ยงไปสู่พื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งฐานแห่งนี้ จัดว่าเป็นสวนสัตว์ย่อมๆกันเลยทีเดียว มีสัตว์ป่าให้ชมทั้งนกกก ไก่ฟ้า นกยูง แมวดาว ฯลฯ และฐานเรียนรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง ศึกษา วิจัย ปรับปรุงพันธุ์แกะ การเลี้ยงแกะพ่อ-แม่พันธุ์และการผลิตลูกแกะ บำรุงรักษาแปลงพืชอาหารสัตว์ และผลิตขนแกะเพื่อสนับสนุนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในพื้นที่โครงการ

นอกจากนี้ ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ยังมีพื้นที่ที่เกี่ยวพันกับ โครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือที่เรียกกันว่า “ปางอุ๋ง” ด้วย โดย ปางอุ๋ง มีลักษณะเป็นพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนยอดเขาสูง ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวสนที่ปลูกเรียงรายกัน ซึ่งคำว่า “ปาง” หมายถึง ที่พักของคนทำงานในป่า ส่วน “อุ๋ง” เป็นภาษาเหนือ หมายถึง ที่ลุ่มต่ำ โดยที่นี่จะมีไอหมอกยามเช้าที่สวยงามลอยอยู่เหนือทะเลสาบ นักท่องเที่ยวทุกท่านสามารถมาเที่ยวพักค้างแรมที่นี่กันได้ มีให้เลือกทั้งกางเต้นท์ในทิวสวนสน หรือใช้บริการบ้านพักของทางโครงการ หรือทั้งโฮมสเตย์ของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง

………

ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตั้งอยู่ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ประมาณ 36 กิโลเมตร เปิดให้เข้าเที่ยวชมทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 053-611244

………

“ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพระบรมราชินูปถัมภ์” ตั้งอยู่ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานระหว่างกองศิลปาชีพ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กับสมาชิกศิลปาชีพของศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสาขาอำเภอต่างๆ , เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรที่ยากจน มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้น , เพื่อเป็นการอนุรักษ์งานด้านศิลปกรรม งานหัตถกรรม ตลอดจนการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น , เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการฝึกอบรมให้แก่สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพ

อาคารศูนย์ศิลปาชีพฯ เป็นอาคาร 3 ชั้น ที่แต่ละชั้นมีการจัดแสดงที่แตกต่างกันออกไป โดยชั้นที่ 1 จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพต่างๆภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน อาทิ ผ้าทอขนแกะ ผ้าทอชนเผ่าต่างๆ เครื่องจักสานไม้ไผ่ และกาแฟ เป็นต้น , ชั้นที่ 2 ห้องทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และนิทรรศการผลการดำเนินงานของคณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน และชั้นที่ 3 พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาทิ กระเหรี่ยง ไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ละว้า จีนยูนาน ปะโอ เป็นต้น

………

ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น. สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 053-611244

………

ในแม่ฮ่องสอนยังคงมีเรื่องราว “โครงการพระราชดำริ” ให้ได้เรียนรู้อีกมากมาย ซึ่งท่านใดสนใจก็แวะมากันได้ งานนี้มาเที่ยวแล้วได้ทั้งความสุขอิ่มเอิบใจ ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และได้เรียนรู้ไปในขณะเดียวกัน เรียกได้ว่า…มาแล้วคุ้มสุดคุ้ม…!!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *