เที่ยวเรียนรู้การกินการอยู่ หมู่ชาติพันธุ์ ในดินแดนหมอกสามฤดู

ว่ากันว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้ “แม่ฮ่องสอน” งดงามและมีเสน่ห์ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยือนอยู่เนืองๆ ซึ่งดินแดนแห่ง…หมอกสามฤดู…นี้ อุดมไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย กว่า 12 ชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ไทใหญ่ ปกาเกอะญอ ลาหู่แชแล ลาหู่แดง เลอเวือะ ม้ง ลีซู จีนยูนนาน กะเหรี่ยงโปว์ กะยัน กะยา และปะโอ เป็นต้น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณๆมาเที่ยวแม่ฮ่องสอน มารู้จักกับผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อวดสีสันอยู่ในดงดอย 3 ชาติพันธุ์ด้วยกัน ได้แก่ ไทใหญ่ จีนยูนาน และกะยัน

“ชาวไทใหญ่” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฉาน” นั้น ได้มาอาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมานานกว่า 150 ปีเข้าไปแล้ว ปัจจุบันอาศัยอยู่ในทุกอำเภอ ยกเว้นสบเมย  คนไทใหญ่เป็นคนสนุกสนาน จึงการละเล่น การแสดงที่แอบอิงไปกับประเพณีต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฟ้อนนกกิงกะหร่า รำโต ศิลปะการต่อสู้ ก้าลาย ก้าแลว ซึ่งชวนให้ตื่นตาตื่นใจยามได้ชม

 

นอกจากนี้ชาวไทใหญ่ยังเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ในหนึ่งปีมีงานบุญประเพณีเกือบทุกเดือน ประเพณีที่สำคัญๆ คือ ประเพณีตานข้าวหย่ากู้ ปอยส่างลอง ปอยเหลินสิบเอ็ด บูชาจองพารา ปอยหมังกะป่า หรือประเพณีเขาวงกต เป็นต้น นักท่องเที่ยวใครพลาดที่จะมาร่วมประเพณีของพวกเขา

สำหรับในเรื่องของงานฝีมือ ศิลปหัตถกรรมแล้ว ชาวไทใหญ่ไม่เป็นรองใคร ทั้งการปลูกบ้านสร้างเรือน การทำเครื่องประดับตกแต่งอาคารทั้งวัดวาอาราม การแกะสลักไม้ การต้องลายบนแผ่นโลหะ การฉลุลายบนกระดาษ ล้วนละเอียดลออสวยงาม เครื่องบูชาทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นจองพารา หรือปราสาทำพระพุทธ ตำข่อน หรือตุง ก็มีความวิจิตรบรรจง สบกับที่เป็นของเซ่นไหว้บูชา

เสื้อผ้าอาภรณ์ของชาวไทใหญ่ก็งดงามตามแฟชั่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากเพื่อนบ้านในแต่ละยุคสมัย แต่เอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอน คือ กุ๊บไต หรือหมวกสาน สวนใส่แล้วนี่แหละใช่เลย คนเมืองสามหมอกร้อยเปอร์เซ็น

ในด้านของอาหารการกิน อาหารไทใหญ่ต้องยกนิ้วให้ ทั้งของคาว หวาน และของว่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกถั่วเน่า ข้าวส้ม ข้าวกั๊นจิ้น แกงอุ๊บ ข่างปอง ถั่วพู่ซิง ขนมส่วยทะมิน อาละหว่า และอีกมากมาย ที่สามารถทำให้ผู้ที่พบเห็นน้ำลายหกได้ง่ายๆ

“ชาวกะยัน” เป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า รัฐกะยา โดยคนไทยเรานิยมเรียกพวกเขาว่า “กะเหรี่ยงคอยาว” เนื่องจากผู้หญิงของเผ่านี้จะสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอจนดูเหมือนว่าคอยาว ปัจจุบันจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีชาวกะยันอาศัยอยู่ในพื้นที่สำคัญ 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ บ้านห้วยปูแกง (น้ำเพียงดิน) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวสามารถชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด , บ้านห้วยเสือเฒ่า เป็นหมู่บ้านกะยันที่อยู่ใกล้เมืองมากที่สุด รถยนต์สามารถเข้าถึง มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเที่ยวชมวิถีชีวิตเป็นจำนวนมาก  และบ้านในสอย เป็นชาวกะยันที่อพยพมาจากบ้านน้ำเพียงดิน

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะยันนั้น เนื่องจากอพยพหนีภัยสงครามเข้ามา ทำให้พวกเขามีสถานะเป็นเพียง “ผู้อพยพหนีภัยสงคราม” ซึ่งเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ทางการไทยจึงไม่อนุญาตให้ครอบครองที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ที่ผ่านมาจึงไม่มีที่ดินทำกิน ผู้ชายส่วนมากจึงรับจ้างทั่วไป ล่าสัตว์และหาของป่ามาขาย และผู้ชายบางคนที่เก่งงานฝีมือก็อาจจะทำการแกะสลักตุ๊กตากะเหรี่ยงคอยาว ตุ๊กตาอื่นๆ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อจำหน่าย ส่วนผู้หญิงและเด็กก็จะทอผ้าพันคอรวมถึงจำหน่ายของที่ระลึก

การแต่งกายของชาวกะยัน ผู้ชายจะแต่งกายเหมือนกะเหรี่ยงชนเผ่าอื่นๆ คือ นุ่งกางเกงขาก๊วยแบบจีน เสื้อที่สวมใส่เป็นสีขาวคอวีทรงกระสอบ ตัวยาวถึงสะโพก ด้านหลังสีขาว ส่วนด้านหน้าท่อนบนจะเป็นสีขาวตั้งแต่อกลงมาจะเป็นสีแดง ศีรษะโพกผ้าสีขาว ถ้ามีกิจกรรมหรืองานประเพณีจะสวมกำไลข้อเท้าที่ทำจากลูกปัดสีขาว น่องตอนบนจะใส่กำไลไม้ไผ่หรือหวาย

ส่วนผู้หญิงบริเวณรอบคอจะสวมใส่ห่วงทองเหลืองที่มีการขดม้วนเรียงกันหลายชั้น ตั้งแต่ไหปลาร้าจรดคาง ด้วยลักษณะนี้จึงทำให้ชนเผ่าอื่นๆ เรียกพวกเธอว่า “ปาดอง” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้สวมห่วงทองเหลือง”ส่วนทรงผมด้านหน้าจะไว้หน้าม้า ด้านหลังจะมัดเป็นมวยแล้วใช้ผ้าสีเขียว สีชมพูคาดทับทิ้งชายห้อยระบ่า แขนจะใส่กำไลที่ทำจากอลูมีเนียม และที่ขาบริเวณใต้หัวเข่าจะสวมห่างทองเหลืองไว้ รองด้วยผ้าสีชมพูและจากน่องลงมาถึงข้อเท้าจะพันด้ายผ้าสีน้ำเงิน เสื้อที่สวมใส่เป็นสีขาวคอวีทรงกระสอบ ตัวยาวถึงสะโพกล่าง ผ้าถุงสีกรมท่าสั้นแค่หัวเข่า มีลวดลายเป็นเส้นสีชมพูรอบชายผ้าถุงแคบ และนุ่งพับทบกันด้านหน้า

ในเรื่องของ “ห่วงทองเหลือง” ที่สวมใส่คอของผู้หญิงชาวกะยัน มีเรื่องเล่าอยู่หลายเรื่องด้วยกัน อาทิ เรื่องที่ 1. ในอดีตดินแดนของพม่าเคยถูกปกครองโดย “แลเคอ” ชนเผ่านักรบผู้กล้าหาญและยึดถือคำสัตย์เสมอด้วยชีวิต (แลเคอ คือ ชนเผ่ากะยัน หรือกะเหรี่ยงคอยาวในปัจจุบัน) ต่อมาพม่าได้ผนึกกำลังกับชนเผ่าบังการี (ต้นตระกูลของชาวบังคลาเทศ) ทำสงครามขับไล่ชนเผ่าแลเคอ จนเป็นเหตุให้แลเคอต้องอพยพหลบหนีจากถิ่นฐานเดิม โยกย้ายไปอยู่ยังดินแดนแห่งใหม่ ในระหว่างการหลบหนีนั้นราชธิดาของผู้นำเผ่าได้นำเอา “ต้นปาดอง” ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวแลเคอติดตัวมาด้วย ต้นปาดองนี้มีสีเหลืองอร่ามดุจทอง ครั้นเมื่อหลบหนีมาจนถึงดินแดนซึ่งปลอดภัยจากการติดตามของข้าศึกศัตรูแล้ว ราชธิดาจึงสั่งให้ไพร่พลหยุดทัพ

หลังจากนั้นก็นำต้นปาดองมาพันไว้รอบคอพร้อมทั้งประกาศว่าจะนำเอาต้นปาดองออกจากคอก็ต่อเมื่อชนเผ่าแลเคอสามารถกู้แผ่นดินเกิดกลับคืนมาได้ ด้วยเหตุนี้เองกะเหรี่ยงคอยาวซึ่งเป็นลูกหลานของชนเผ่าแลเคอผู้ยึดถือคำสัตย์เสมอด้วยชีวิตจึงนิยมทำพิธีกรรมใส่ห่วงรอบคอให้แก่เด็กหญิงในเผ่าตั้งแต่อายุ 5 – 9 ปี (เป็นช่วงอายุซึ่งคาดว่าตรงกันกับช่วงอายุของราชธิดาในขณะที่นำต้นปาดองมาพันรอบคอเป็นครั้งแรก) และในระหว่างทำพิธีกรรมหมอผีประจำเผ่าจะท่องคาถากล่าวเตือนใจให้พยายามกลับไปกู้แผ่นดินคืน

เรื่องที่ 2. ว่ากันว่าในสมัยก่อนชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวได้ทำให้ภูตผีไม่พอใจ ภูติผีดังกล่าวจึงส่งเสือมากัดกินผู้หญิงในเผ่า บรรพบุรุษของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวเกรงว่าหากผู้หญิงถูกกัดตายหมดก็จะทำให้เผ่าของตนไร้ซึ่งคนสืบเชื้อสายชาติพันธุ์ จึงตกลงให้ผู้หญิงในเผ่าของตนสวมใส่ห่วงทองเหลืองไว้โดยรอบลำคอ ข้อมือ และบริเวณน่องใต้ข้อเข่าเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากคมเขี้ยวเสือ และเรื่องที่ 3. เล่าว่า มารดาของชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว คือ มังกรและหงส์ พวกเขาจึงต้องใส่ห่วงทองเหลืองไว้โดยรอบบริเวณลำคอเพื่อให้มีคอที่ยาว สวยงาม ดุจดั่งเช่นลำคอของมังกรและหงส์

ส่วนอีกเรื่องเป็นการคาดเดาตามหลักเหตุผลของนักวิชาการว่า การสวมใส่ห่วงทองเหลืองของหญิงชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาวนั้น ใช้บ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่างตนเองกับหญิงของชนเผ่าอื่นๆ เพื่อป้องกันการแต่งงานข้ามเผ่า (วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่าจะไม่นิยมการแต่งงานข้ามเผ่าครับ) ทั้งนี้การสวมใส่ห่วงทองเหลือง ยังอาจถูกใช้เพื่อแสดงถึงฐานะทางสังคม และประดับประดาเพื่อความสวยงามด้วย

“ชาวจีนยูนนาน” หรือ “หยุนหนาน” เป็นคำในภาษาจีนที่มีความหมายว่า “ทางใต้ของเมฆหมอก” โดยทั่วไปเราจะเรียกชาวจีนซึ่งเดินทางมาจากมลฑลยูนนานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนว่า “ชาวจีนยูนนาน” ส่วนชาวจีนในแม่ฮ่องสอนนั้นสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวของอดีต “กองกำลังทหารจีนคณะชาติ” ซึ่งเคยเข้ามาตั้งฐานที่มั่นอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย

ชาวจีนขยันขันแข็ง ชอบทำมาค้าขาย เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของพวกเขา คือ อาหารจีนยูนนาน และที่มีชื่อเสียงที่สุด โด่งดังจนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนแม่ฮ่องสอนจะพลาดไม่ได้เลยก็คือ ขาหมูยูนนานกินกับหมั่นโถวร้อนๆ จิบชาจีนหอมๆ ที่เติบโตอยู่ในขุนเขาเมืองสามหมอก เป็นอันเข้ากันที่สุด

หากสนใจเรียนรู้และสัมผัสวัฒนธรรมการกินการอยู่แบบชาวจีนยูนนาน ก็สามารถแวะมาเที่ยวมาชิมกันได้ที่หมู่บ้านสันติชล อำเภอปาย และหมู่บ้านรักไทย อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยกัน

ไม่ว่าจะวันไหนๆ หากสนใจอยากรู้จักพวกเขาทั้ง 3 ชาติพันธุ์ และอีกหลายชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็แวะมาเที่ยวหาพวกเขาได้ทุกเมื่อ…มารู้จักกันไว้ ได้เพื่อนใหม่ที่ดี ได้ประสบการณ์ใหม่ เป็นกำไรชีวิตอันล้ำค่า…!!!

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *