ครึ่งวัน ที่ “ขอนแก่น”

การเดินทางมีสิ่งดีๆให้ได้จดจำอยู่เสมอ ทั้งเพื่อนดีๆ อาหารดีๆ หรือว่าสถานที่ท่องเที่ยวดีๆ ซึ่งวันนี้มีโอกาสได้เดินทางมา “ขอนแก่น” ประตู่สู่ “อีสานตอนกลาง” แม้การมาครั้งนี้จะมีเวลาไม่มากนัก แต่ครึ่งวันที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ก็มีสิ่งดีๆให้ได้จดจำ

เริ่มด้วยยามเช้าต้องหาอาหารดีๆมาเติมพลังให้ร่างกาย ซึ่งของกินอร่อยๆในขอนแก่นก็มีมากมาย อย่างที่ร้าน “เอมโอช” เขาก็มีให้กินเพียบ ร้านนี้ทางร้านเขาบอกว่า เป็นร้าน “อาหารเช้าที่เป็นที่ 1 ตลอด” โดยมีอาหารเช้าให้เลือกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นไข่กระทะ ขนมปังสอดไส้ ขนมปังปิ้ง ซาลาเปา หมูยอ/กุนเชียงทอด หรือทั้งอาหารจานหลัก อาทิ เกาเหลาเซี่ยงจี้เลือดหมู ก๋วยเตี๋ยวหมู ข้าวต้มซี่โครงหมู ข้าวต้มปลา ก๋วยจั๊บญวน ก๋วยจั๊บปลา ปากหม้อญวน พร้อมทั้งเครื่องดื่มอีกหลากหลาย

นอกจากที่นี่จะเป็นที่ฝากท้องยามเช้าอย่างดีแล้ว หากใครจะซื้อของฝากไปฝากคนที่บ้านที่นี่ก็มีให้ มีให้เลือกเพียบ ได้แก่ กุนเชียงหมู ไส้กรอกอีสาน แหนมซี่โครงหมู แหนมหมู หมูยอ หมูหยอง ขนมปังสอดไส้ และขนมปังเปล่า

ทั้งหมดนี้ทั้งของกินและของฝาก ทางร้านเอมโอชจัดให้ไม่แพง ราคาน่าคบ เพียงเริ่มต้นที่ 20 – 30 บาทเท่านั้น

เมื่ออิ่มแล้ว การมาเดินทางมาเที่ยวหรือว่าทำธุระต่างๆนานาแบบไทยๆ ก็ต้อง “ไหว้พระ – ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ขอพร เมื่อมาขอนแก่นก็ต้องสักการะ “ศาลหลักเมือง” เที่ยวัดพระธาตุหนองแวง และชมวัดทุ่งเศรษฐี

“ศาลหลักเมืองขอนแก่น” หรือ “ศาลเทพารักษ์หลักเมือง” หรือที่ชาวขอนแก่นเรียกสั้นๆว่า “อินทร์ตา”
ศาลหลักเมืองแห่งนี้ เกิดจากการสร้างที่รวมเอาวัฒนธรรมจีนและไทยเข้าไว้ด้วยกัน โดยคนจีนเรียกว่า “ศาลหลักเมืองกง” ส่วนคนไทยเรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” ที่นี่ประดิษฐาน “หลักเมือง” ไว้ภายในศาลาสุขใจ ซึ่งหลักเมืองมีลักษณะเป็นเสาหินทราย รูปทรง 8 เหลี่ยม สูงประมาณ 3 เมตร มีลายสลักตัวหนังสือขอม

ตัวอาคารศาลาสุขใจ มีศิปละและสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ ที่เป็นการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของท้องถิ่นอีสานเอาไว้ โดยอาคารเป็นรูปทรงโถงจัตุรมุข โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงจั่วจัตุรมุขซ้อน 3 ชั้น ชั้นเครื่องยอดเป็นรูปเจดีย์ศิลปะพื้นบ้านงอีสาน สัณฐานเป็นเจดีย์จำลองจากองค์พระธาตุขามแก่น ผสมผสานกับการสร้างเสาฟ้าดิน ซึ่งเปรียบเสมือนสถานที่รับราชโองการจากสวรรค์มายังโลกมนุษยของเง็กเซียนฮ่องเต้ เพื่อประธานโชคลาภให้ผู้ที่มากราบไหว้

ศาลหลักเมืองแห่งนี้ ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเมืองขอนแก่น ที่มักจะมาสักการะเพื่อขอพรต่างๆนานา เราผู้มาเยือนดินแดนแห่งนี้ ก็ไม่ควรพลาดที่จะมาสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล

“วัดพระธาตุหนองแวง”
วัดพระธาตุหนองแวง ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง เป็นพระอารามหลวง มี “พระมหาธาตุแก่นนคร” ให้เห็นโดนเด่นเป็นสง่า พระมหาธาตุแก่นนคร เป็นพระธาตุ 9 ชั้น ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุสูง 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุม และมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานตากแห

ภายในองค์พระมหาธาตุแก่นนครแต่ละชั้นนั้น ประกอบไปด้วย

ชั้นที่ 1 หอประชุม มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ 100 องค์ ประดิษฐานอยู่ บานประตู หน้าต่าง แกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น แบบ 3 มิติ และมีจิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น

ชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวอีสาน โดยเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ที่ค่อนข้างหาดูได้ยากในปัจจุบัน พร้อมทั้งที การวาดลวดลายบนผนังที่เกี่ยวกับข้อห้ามของคนอีสาน ที่เรียกว่า “คะลำ” ซึ่งเป็นแนวประพฤติตนในการอยู่ร่วมกันของชาวอีสาน แต่ละภาพก็หมายถึงข้อห้ามแต่ละข้อ ซึ่งมีทั้งหมด 35 ข้อ บานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์ และภาพแกะสลัก นิทานเรื่องสังศิลป์ชัย

ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติบานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม เป็นนิทานที่ได้เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวอีสาน และในชั้นที่สามนี้ได้รวบรวมตาลปัตร พัดยศ และเครื่องอัฐบริขาร ของพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในจังหวัดขอนแก่น

ชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า ภาพวาดที่บานประตู หน้าต่าง เป็นภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศ และตัวพึ่ง-ตัวเสวย

ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 6 บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพ พุทธชาดก

ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร

ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันต์สาวกบานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้

ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรมเป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา พระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น

และชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้น

“วัดทุ่งเศรษฐี”
วัดทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่ใน ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 โดย “หลวงตาอ๋อย” (สวาสดิ์ ศีลอุดมทรัพย์) หรือรู้จักกันในนาม หลวงตาอ๋อย ย่ามแดง ที่ใช้ที่ดินมรดกในการสร้างวัด ซึ่งเมื่อหลวงตาไปเที่ยวมาในจังหวัดต่างๆทางภาคอีสานหลายปี ท่านได้ช่วยทำนุบำรุงพระศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อม ครั้นกลับมายังขอนแก่นได้ไม่นาน หลวงตาระลึกได้ว่ามีที่ดินเก่าเก็บอยู่ผืนหนึ่ง เนื้อที่ราว 5 ไร่ จึงไปสำรวจดู จากการสำรวจในครั้งนั้น ท่านเกิดรู้ด้วยญาณวิถีขึ้นว่าเป็นผืนดินศักดิ์สิทธิ์ด้วยว่าเป็น “ผืนดินสามโลกธาตุ” ท่านจึงร่วมกับลูกศิษย์ซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพื่อสร้างเป็นวัด โดยตรงจุดสำคัญสามโลกธาตุนั้น ท่านกำหนดให้สร้างพระมหาเจดีย์ครอบไว้ ชื่อวัดทุ่งเศรษฐีนี้ หลวงตาท่านว่า “เพราะจะมีเศรษฐีที่มาทำบุญกับเรา มีทั้งเศรษฐีน้อย เศรษฐีใหญ่ และว่าที่เศรษฐีน้อยทั้งนั้น แม้วันนี้บางคนยังไม่ได้เป็น วันหน้าก็ต้องได้เป็นอยู่ดี”

วัดทุ่งเศรษฐี สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย มี “มหาเจดีย์รัตนะ” หรือ “มหาเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุ” ตั้งเด่นสวยงาม ความโดดเด่นของมหาเจดีย์นี้ เป็นรูปแบบการก่อสร้างที่สะท้อนถึงความเชื่อต่างๆ เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างองค์เจดีย์สำคัญทั้งสามโลก คือ เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นครเจดีย์ในนาคพิภพ และมหารัตนเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุบนโลกมนุษย์

พระมหาเจดีย์นี้สร้างขึ้นจากความเชื่อที่ว่า จุดนี้คือบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่าง 3 โลกธาตุ ทั้งสวรรค์ มนุษย์ และเมืองบาดาล ตั้งอยู่ท่ามกลางบึงน้ำล้อมรอบ ตกแต่งบันไดทั้ง 4 ด้าน ด้วยลวดลายของสัตว์ 4 ตระกูล เรียกว่า บันไดธาตุสี่ พร้อมผู้ดูแลทั้ง 4 ทิศ องค์พระเจดีย์ออกแบบเป็นเจดีย์โถงโล่ง ทรงระฆังคว่ำ แบบนานาชาติ ทั้งไทย ธิเบต จีน และฝรั่ง ผสมผสานกันอย่างสวยงาม ภายในมหาเจดีย์ ประดิษฐาน “พระพุทธนีลวรรโณศีโลทรัพยุดม” หรือหลวงปู่ดำ พระพุทธรูปเนื้อทองเหลืองผิวสีดำ ทรงเครื่องปิดทองประดับพลอยสีต่างๆ ปางสมาธิ ศิลปะแบบลพบุรี ขนาดหน้าตักกว้าง 155 นิ้ว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงครึ่งวันเท่านั้นที่อยู่ขอนแก่น ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายจริงๆที่มีเวลาน้อย หากมีเวลาเที่ยวมากกว่านี้ คงได้พบเจอสิ่งดีๆของขอนแก่นมากกว่านี้ แต่ไม่เป็นไร เอาไว้โอกาสหน้าเจอกันอีกครั้งนะ “ขอนแก่น”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *