เที่ยววัดวิถีพุทธ ที่ “ป่าซาง” ลำพูน

“อำเภอป่าซาง” จังหวัดลำพูน เป็นอำเภอที่มีความเจริญเป็นอันดับสองรองจากอำเภอเมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่ในอดีตเมื่อครั้งสมัย “พระเจ้ากาวิละ” ทรงขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินล้านนาได้แล้ว ในยุคของการ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ทรงรวบรวมสะสมไพร่พลไว้ที่ป่าซาง โดยใช้ชื่อว่า “เวียงเวฬุคาม”

ด้วยความเก่าแก่ของป่าซางนี้เอง จึงก่อให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย อย่างในเรื่องของ “วัดวาอาราม” ก็น่าสนใจไม่น้อย ที่ป่าซางแห่งนี้มีวัดเก่าแก่และสวยงามให้เข้าเที่ยวชม ในแบบฉบับ “เที่ยววัดวิถีพุทธ” หลายสิบวัด ซึ่งวันนี้จะขอพาเข้าวัด 3 วัดด้วยกัน ได้แก่ วัดพระพุทธบาทตากผ่า วัดป่าตาล และวัดหนองเงือก

“วัดพระพุทธบาทตากผ้า”
วัดพระพุทธบาทตากผ้า ตั้งอยู่ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เดิมเป็นวัดราษฎร์ ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2521 เป็นปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน โดยมี “รอยพระพุทธบาท” ประดิษฐานอยู่ ตามตำนานที่กล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ในดินแดนสุวรรณภูมิ (ประเทศไทยในปัจจุบัน) พระองค์ได้เสด็จไปในที่ต่างๆ กระทั่งเสด็จถึงบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้าแห่งนี้ซึ่งเป็นผาลาด จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาทลง ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมวลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และพระองค์ได้ตรัสให้พระอานนท์เอาจีวรไปตากบนผาลาด ใกล้บริเวณที่ประทับ ซึ่งปรากฏเป็นรอยเลือนลางอยู่ ดังนั้น วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดพระพุทธบาทตากผ้า” มาถึงทุกวันนี้

นอกจากรอยพระพุทธบาทแล้ว วัดนี้ยังมีปูชนียสถานที่สำคัญอีกหนึ่ง ได้แก่ “พระธาตุเจดีย์สี่ครูบา” ที่สร้างขึ้นบนม่อนดอยเบื้องหลังวัด โดยสร้างเป็นอนุสรณ์แก่ 4 ครูบา คือ ครูบาพ่อเป็ง โพธิโก วัดป่าหนองเจดีย์ , ครูบาอินทจักรรักษา วัดน้ำบ่อหลวง , ครูบาพรหมมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า และครูบาคัมภีระ วัดพระธาตุดอยน้อย ซึ่งลักษณะของเจดีย์เป็นศิลปะที่ผสมผสานพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัยเข้าด้วยกัน มีบันไดนาค 469 ขั้น เชื่อมระหว่างเจดีย์กับวัดพระบาทตากผ้า ปัจจุบันสามารถนำรถขึ้นไปได้ และเมื่อถึงวันอัฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือนแปด วันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่วัดจะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี

สำหรับในทุกวันนี้ วัดพระพุทธบาทตากผ้า เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ของพระภิกษุสามเณรในภาคเหนือ นอกจากนี้ทางวัดได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมควบคู่ไปกับการศึกษา ได้จัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้น เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และผู้สนใจทั่วไป

“วัดป่าตาล”
วัดป่าตาล ตั้งอยู่บ้านป่าตาล ตำบลม่วงน้อย อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2219 ในพื้นที่ที่มีต้นตาลขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อตามสภาพแวดล้อมวัดว่า “วัดป่าตาล” วัดแห่งนี้เป็นแหล่งศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมแบบพม่า ได้แก่ พระเจดีย์ที่มีประติมากรรมปูนปั้นประดับทั้งที่องค์เจดีย์และส่วนประกอบรอบองค์เจดีย์ที่ลานตาเป็นอย่างมาก โดยพระเจดีย์เป็นองค์สีขาวโดยรอบสี่ทิศจะมีซุ้มประตูโขงตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายนูนต่ำ ปลายยอดมีฉัตรสีทอง

นอกจากวัดป่าตาลจะมีพระเจดีย์ที่สวยงามแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย ได้แก่ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์สีทอง ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณใกล้ๆเจดีย์ , พระร่วงโรจนฤิทธิ์ พระพุทธรูปปางห้ามญาติทำด้วยทองเหลือง ประทับยืนบนฐานดอกบัวสีทอง และปฏิมากรรมนูนต่ำ ที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ บริเวณกำแพงด้านหน้าวัด

“วัดหนองเงือก”
วัดหนองเงือก ตั้งอยู่ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สร้างขึ้นตามแบบศิลปกรรมพื้นบ้านเมืองเหนือ โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2371 ซึ่งตามประวัติวัดกล่าวไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2371 ปีกุน เด็กชายอุปะละ บุตรของนายใจ ประสงค์ที่จะบวชเป็นสามเณรเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย แต่ขณะนั้นหมู่บ้านหนองเงือกยังไม่มีวัด นายใจจึงมีความคิดในการสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้น จึงได้นิมนต์ครูบาปาระมีมาเป็นประธานสร้างวัด โดยตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า “วัดหนองเงือก”

ความสวยงามของวัดเริ่มที่ ซุ้มประตูหน้าวัด สร้างขึ้นตามแบบศิลปะล้านนาเป็นซุ้มประตูโขงประดับด้วยลวดลายวิจิตรพิศดาร แสดงให้เห็นถึงฝีมือทางสถาปัตยกรรมของช่างสมัยโบราณ พระวิหารของวัดเป็นอาคารทรงไทยล้านนา บานประตูมีลวดลายแกะสลักไม้ที่สวยงามไม่แพ้ที่อื่นๆ ภายในวิหารมีเสาไม้สักทั้งต้นขนาดหนึ่งคนโอบสูง 12 ศอก ด้านหลังของวิหารวัดเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุ โดยพระเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยของครูบาญาณะ เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 (พ.ศ.2453-2490)

ด้านทิศใต้ของพระเจดีย์เป็น “หอพระไตรปิฏก” เป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดภายในวัด เป็นอาคารสี่เหลี่ยมคอนกรีต 2 ชั้น ศิลปกรรมล้านนาประยุกต์อายุประมาณ 200 ปี ปัจจุบันเป็นที่เก็บพระธรรมคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งจารึกลงในใบลานเป็นภาษาล้านนาด้วยตัวอักษรพื้นเมือง นอกจากนั้นยังเป็นที่เก็บของโบราณวัตถุมีค่าสำคัญของวัดเช่น พระพุทธรูปไม้ เชิงเทียน ตู้พระธรรม เทวรูป ระฆัง กังสดาลและโบราณวัตถุอีกหลายอย่าง ภายในตัวอาคารชั้นล่างยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสกุลล้านนาที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุด โดยภาพเขียนฝาผนังในหอไตรวัดหนองเงือกเป็นภาพเขียนเรื่องราวทางพุทธประวัติและเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพลักษณะ 2 มิติ คล้ายกับภาพฝาผนังวัดพระแก้วมรกตในพระบรมมหาราชวัง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *