พระพุทธรูปสำคัญ เมืองเชียงใหม่

“พระพุทธรูป” หมายถึง รูปที่สร้างขึ้นแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อกราบไหว้บูชา อาจใช้การแกะสลักจากวัสดุต่างๆ หรือใช้การปั้นหรือหล่อด้วยโลหะก็ได้ โดยทั่วไป คำว่า พระพุทธรูปมักจะหมายถึง รูปขนาดใหญ่พอที่จะวางบูชาได้ สำหรับรูปขนาดเล็กมักจะเรียกว่า พระเครื่อง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบสามารถเรียกว่า พระพุทธรูป ได้เช่นกัน ซึ่งแต่เดิมนั้นพุทธศาสนาไม่มีรูปเคารพแต่อย่างใด ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งมีมาก่อนศาสนาพุทธ ก็ไม่มีรูปเคารพเป็นเทวรูปเช่นกัน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา อยากจะมีสิ่งที่จะทำให้รำลึกถึง หรือเป็นสัญญลักษณ์ขององค์ศาสดา เพื่อที่จะบอกกล่าวเล่าขาน เรื่องราวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงศึกษาค้นคว้าหาทางดับทุกข์ และทรงชี้แนะสอนสั่งผู้คน ถึงการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นอยู่ ที่ก่อให้เกิดความผาสุกในหมู่มวลมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลก

โดยครั้งแรกชาวพุทธก็ได้แต่นำเอาสิ่งของอันได้แก่ ดิน น้ำ และกิ่ง ก้าน ใบโพธิ์ จากบริเวณสังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) , ตรัสรู้ (พุทธคยา) , ปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา) เก็บมาไว้เป็นที่ระลึกบูชาคุณพระพุทธเจ้า

ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปนั้น เริ่มมีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ระหว่าง พ.ศ. 500 ถึง 550 เมื่อชาวกรีกที่ชาวชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) เรียกชาวต่างแดนว่า “โยนา” หรือ “โยนก” โดยพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 หรือ พระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก ยกทัพกรีกเข้ามาครอบครองแคว้นคันธารราฐ (ปัจจุบันเป็นดินแดนของอัฟกานิสถาน) จากนั้นพระองค์ก็แผ่อาณาเขตไปทั่วบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป และสร้างเมืองหลวงเป็นที่ประทับ ณ เมืองสากล หลังจากที่ได้พบพระสงฆ์ท่านหนึ่งนามว่า นาคเสน จึงมีเรื่องราวแห่งการตั้งคำถามของพระเจ้ามิลินท์ต่อพระนาคเสน จนทำพระเจ้ามิลินท์ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้มีการสร้างสถาปัตยกรรม และประติมากรรมทางพุทธศาสนามากมายในแคว้นคันธารราฐ ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปนั้นมีลักษณะต่างๆ ตามพุทธประวัติ (ปางพระพุทธรูป) พระพุทธรูปรูปแรกจึงเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ามิลินท์ หรือเมนันเดอร์ที่ 1 ชาวกรีกที่มาครอบครองแคว้นคันธารราฐ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 หรือ 2,000 ปีที่แล้วนั่นเอง

สำหรับในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ที่มีความรุ่งเรื่องในพระพุทธศาสนามาอย่างช้านาน ก็มี “พระพุทธรูป” สำคัญให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชามากมายดังนี้ ได้แก่

“พระแก้วขาว”
“พระแก้วขาว” หรือ “พระเสตังคมณี” ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นปูชนียวัตถุชิ้นสำคัญยิ่งของเชียงใหม่ ที่ได้ชื่อว่า “พระแก้วขาว” เนื่องด้วยเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยแก้วผลึกสีขาว หน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูงประมาณ 6 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือปฏิมากรรมของเมืองละโว้หรือมอญ (บ้างก็ว่าขอม) ในสมัยที่ยังมีอำนาจปกครองบริเวณดินแดนสุวรรณภูมิ และตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองละโว้

พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองป้องกันอันตราย และอำนวยความสุขสวัสดิมงคลแก่ผู้ที่เคารพสักการะบูชา และปรากฏว่าในอดีตกาลเคยเป็นพระพุทธรูปสำหรับบูชาประจำพระองค์ของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย และพญามังราย ปฐมวงศ์มังรายผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา และกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัยหรือนครเชียงใหม่ในยุคต่อๆมา ก็ได้นับถือเป็นพระบูชาประจำพระองค์ทั้งสิ้น

ตำนานได้กล่าวถึงการสร้างพระแก้วขาวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานล่วงแล้วได้ 700 ปี ในวันเพ็ญเดือนเจ็ด พระสุเทวะฤาษีได้เอาดอกจำปา 5 ดอกขึ้นไปบูชาพระจุฬามณียังดาวดึงส์สวรรค์ ได้พบปะสนทนากับพระอินทร์ พระอินทร์จึงบอกแก่ฤาษีว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญ ที่ละวะรัฎฐ (ละโว้) จะสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วขาว ครั้นสุเทวฤๅษีกลับจากดาวดึงส์เทวโลกแล้ว จึงไปสู่เมืองละโว้ ขณะนั้นพระยารามราชเจ้าเมืองละโว้กับพระกัสสปเถรเจ้าปรารภการที่จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันทเทวบุตรแล้วขอพระวิษณุกรรมมาเนรมิต สำเร็จรูปเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤๅษีและฤๅษีอื่นๆก็ได้ไปประชุมช่วยในการสร้างพระด้วย เมื่อสำเร็จแล้วจึงได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 4 องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) 1 องค์ พระนลาต (หน้าผาก) 1 องค์ พระอุระ (หน้าอก) 1 องค์ พระโอษฐ์ (ปาก) 1 องค์ รวม 4 แห่ง

เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระแก้วขาวจึงได้ประดิษฐานที่เมืองละโว้มาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งสุเทวฤๅษีสร้างนครหริภุญชัยขึ้นแล้ว จึงได้เชิญเสด็จพระนางจามเทวี พระราชธิดาพระเจ้ากรุงละโว้มาครองนครหริภุญชัย พระนางจามเทวีจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงประดิษฐาน ณ นครหริภุญชัยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี

พญามังรายได้ยึดครองนครหริภุญชัยได้ใน พ.ศ. 1824 และได้เผาเมือง ต่อมาพญามังรายได้เสด็จตรวจความเสียหาย พบว่าหอพระในพระราชวังไม่ได้ถูกเพลิงไหม้ เมื่อทอดพระเนตรดูพบว่าพระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ ณ ที่หอพระ จึงเกิดพระราชศรัทธาและอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานยังที่ประทับของพระองค์ และบูชาเป็นพระพุทธรูปพระจำพระองค์

เมื่อพญามังรายสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานีในปี พ.ศ. 1839 จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชวัง คือบริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน จนกระทั่งในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โปรดฯให้สร้างหอพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) และพระแก้วขาวตามอย่างโลหะปราสาทของกรุงลังกาไว้ในพระอารามราชกุฎาคารเจดีย์หรือวัดเจดีย์หลวง

ประมาณ พ.ศ. 2035 ในรัชสมัยพระยอดเชียงรายครองนครเชียงใหม่ มีคนร้ายขโมยพระแก้วขาวไปถวายกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยอดเชียงรายจึงยกทัพติดตามไปอัญเชิญพระแก้วขาวกลับมาประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ตามเดิม

พ.ศ. 2089 พระแก้วขาวตกไปอยู่กับอาณาจักรล้านช้างเป็นเวลากว่า 225 ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยกทัพไปปราบล้านช้างสำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น อันเป็นที่ซึ่งพญามังรายมีพระราชศรัทธาอัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก

“พระศิลา”
“พระศิลา” ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระพุทธรูปศิลาจำหลักปางปราบช้างนาฬาคีรี เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบลังกา ประดิษฐานอยู่ ณ วัดเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คู่กับพระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในประเทศอินเดีย เป็นของเก่าแก่ครั้งสมัยพญามังรายทรงครองนครเชียงใหม่ราชธานีของล้านนาเมื่อ พ.ศ. 1839

ในตำนานพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐาน ณ แผ่นดินล้านนา เมื่อ พ.ศ. 1833 โดยพระมหากัสสปเถรเจ้าอันเชิญมาจากลังกา นำมาถวายให้พญามังราย ซึ่งขณะนั้นครองเวียงกุมกาม อยู่พร้อมด้วยพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้โปรดให้เอาพระบรมธาตุนั้นบรรจุในพระเจดีย์วัดกานโถมองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งบรรจุไว้ในพระเมาฬีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้น ส่วนพระพุทธรูปศิลานั้น เมื่อพระองค์ย้ายมาตั้งเมืองเชียงใหม่ ก็ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น พร้อมด้วยพระแก้วขาว และมีองค์จำลององค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหัวข่วง

“พระพุทธเมิงราย”
“พระพุทธเมิงราย” ประดิษฐาน ณ วัดชัยพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างเชียงแสนชั้นต้น สร้างขึ้นในสมัยที่ล้านนาตกอยู่ใต้อำนาจของพม่า ตามที่ปรากฎจากอักษรพื้นเมืองที่จารึกไว้บอกว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2105 ตรงกับสมัยพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ (เจ้าฟ้าเมืองนายผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าขุนเครือราชโอรสของพญามังราย) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์มังราย ซึ่งเสียเอกราชให้แก่บุเรงนองกษัตริย์พม่าเมื่อปี พ.ศ. 2101

ต่อมาในปี พ.ศ. 2106 คือหลังจากที่พระองค์โปรดให้สร้างพระพุทธเมิงราย อันเป็นพระนามของพญามังราย การสร้างพระพุทธรูปองค์นี้คงมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นการขอขมาต่อพญามังราย ในการที่พระองค์ไม่สามารถรักษาความเป็นเอกราชของล้านนาไว้ได้ และประการหนึ่งคงจะเพื่อบนบานขอให้พระองค์ทำการกู้อิสรภาพได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากที่พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เสร็จเพียง 1 ปี พระองค์พร้อมด้วยเจ้ากมลราช (พระยารัตนกำพล) พระญาติซึ่งครองเมืองเชียงแสน และชาวล้านนาทั้งมวลพากันจับอาวุธต่อสู้ขับไล่อิทธิพลของพม่าออกไปได้ โดยพระพุทธเมิงราย เชื่อกันว่าผู้ใดสักการบูชากราบไหว้ จะคุ้มครองรักษาให้มีชัยชนะในการทั้งปวง

“พระเจ้าเก้าตื้อ”
“พระเจ้าเก้าตื้อ” ประดิษฐาน ณ วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างเชียงแสน สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2047 เริ่มทำพิธีตั้งแต่วันพฤหัสบดีขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด ฉศก หล่อแล้วทำการตกแต่งจนถึงวันพฤหัสบดีขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปีฉลู สัปตศก พ.ศ. 2048 จึงเสร็จสมบูรณ์ องค์พระมีที่ต่อ 8 แห่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากองค์พระมีน้ำหนักมาก เมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชะลอเข้าเมืองได้ พระองค์จึงโปรดฯให้สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐาน ณ บริเวณใกล้ๆกับพระอารามวัดบุปผารามหรือวัดสวนดอก ครั้นถึงวันพุธเดือน 5 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก พ.ศ
2052 จึงได้มีการชักพระพุทธปฏิมากรองค์นี้ เข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถในวัดบุบผาราม

ซึ่งที่ได้ชื่อว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ” นั้น ก็เนื่องด้วยองค์พระมีน้ำหนัก 9 ตื้อ โดย ตื้อ เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโลหะของล้านนาในสมัยโบราณ ซึ่ง 1 ตื้อ เท่ากับ 1,000 กิโลกรัม (บางตำรากล่าวว่า 1 ตื้อ หนักเท่ากับ 1,200 กิโลกรัม) 9 ตื้อ จึงหนัก 9,000 กิโลกรัมหรือ 9 ตัน

“พระเจ้าทองทิพย์”
“พระเจ้าทองทิพย์” ประดิษฐาน ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธปฏิมาฝีมือช่างเชียงแสนชั้นหลัง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระเจ้าทองทิพย์เป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ของพระเจ้าติโลกราช มีอายุประมาณ 478 ปี องค์พระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดง เจือด้วยทองคำและนาก พระนาภีฝังเพชรประมาณ 1 กะรัต รอบๆฐานฝังด้วยเพทาย ไพฑูรย์ แก้วมรกตต่างๆโดยรอบ หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอก สูงประมาณ 1 ศอกเศษ

“พระพุทธสิหิงค์”
“พระพุทธสิหิงค์” หรือพระสิงห์ ประดิษฐาน ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร เป็นพระสกุลช่างเชียงแสนศิลปะล้านนา ขนาดหน้าตักกว้าง 31 นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม 51 นิ้ว

ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2338 โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

ตามตำนานเล่าสืบต่อกันถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระพุทธสิหิงค์ว่า “การสร้างได้ประกอบขึ้นด้วยแรงอธิษฐาน 3 ประการคือ 1.คำอธิษฐานของพระอรหันต์ผู้ร่วมพิธี 2.แรงอธิษฐานของพระเจ้ากรุงลังกาผู้สร้าง 3.อานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่พระพุทธสิหิงค์เสด็จประทับอยู่ที่ใด พระพุทธศาสนาย่อมรุ่งเรืองดังดวงประทีปเสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่”

“พระอัฏฐารส”
“พระอัฏฐารส” พระประธานในพระวิหาร วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปยืนสูง 18 ศอก สร้างขึ้นด้วยทองเหลืองปนสัมฤทธิ์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ประมาณปี พ.ศ. 1955 ซึ่งในขณะนั้นพระเจ้าสามฝั่งแกนยังทรงพระเยาว์ พระราชมารดาของพระองค์ทรงพระนามว่า “พระนางติโลกะจุดา” เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ได้เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปอัฏฐารสและพระอรรคสาวกทั้งสองขึ้น โดย พระอัฏฐารส แปลว่า พระสิบแปด หมายถึงพุทธธรรม 18 ประการ อันเป็นพระคุณสมบัติเฉพาะพระองค์

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมได้กล่าวถึง พระอัฏฐารส ว่า “เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ศิลปะเชียงใหม่ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลต้นแบบจากศิลปะปาละ (อินเดีย) หล่อด้วยทองสำริดสูงใหญ่ ปางห้ามญาติ มีพระพุทธลักษณะสง่างามที่สุดในอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์มีลักษณะอ่อนโยนงดงามยิ่งนัก เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนหรือพระสิงห์ซึ่งได้วิวัฒนาการงานศิลป์มาจากปาละด้วยเช่นกัน”

ในขณะที่ทำพิธีหล่อพระอัฏฐารสนี้ ในตำนานได้กล่าวถึงอภินิหารว่า “ขณะเมื่อทำการหล่อพระพุทธรูปนั้นพระเถระชื่อ นราจาริยเถระ ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงในสมัยนั้น ใคร่จะทดลองบุญญาภินิหาร จึงกระทำสัตยาธิษฐานแล้วอุ้มเอาเบ้าทองซึ่งกำลังเดือดพล่านอยู่นั้นด้วยมือเปล่า แล้วยกขึ้นทูลศรีษะนำเข้าไปเทลงเบ้าหลอม ด้วยบุญญาภินิหารเป็นที่อัศจรรย์ของพระอัฏฐารส เบ้าที่ควรจะร้อนอย่างที่สุดนั้น หาได้ทำให้พระเถระเจ้ามีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ชนทั้งหลายที่มาชุมนุมในที่ทำพิธีได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้น ต่างพากันแซ่ซ้องร้องสาธุอนุโมทนาการ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างล้นเหลือ”

เมื่อทำการหล่อพระอัฏฐารสเสร็จแล้ว พระนางติโลกะจุดาก็ทำการฉลองอย่างมโหฬาร หลังจากที่พระนางติโลกะจุดาทรงสร้างเสร็จได้ 37 ปี ก็เสด็จสู่สวรรคาลัย

“พระเจ้าฝนแสนห่า”
“พระเจ้าฝนแสนห่า” ประดิษฐาน ณ วัดช่างแต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยเชียงแสนลังกา มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้ว สูง 35 นิ้ว หนา 15 นิ้ว อายุประมาณ 1,000 กว่าปี ชาวเชียงใหม่ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่อดีต ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมืองเชียงใหม่ จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญต่างๆของเชียงใหม่แห่ไปรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนร่วมสรงน้ำ ในจำนวนนั้นมี “พระเจ้าฝนแสนห่า” เข้าร่วมพิธีด้วย

วันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 วันเริ่มประเพณีใส่ขันดอกบูชาอินทขิล ประเพณีบูชาเสาอินทขิลของวัดเจดีย์หลวงก็ได้มีการอัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่าขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกศรีเมืองเชียงใหม่ แห่ไปรอบเมืองเพื่อให้พี่น้องได้สรงน้ำและดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จากนั้นจึงได้นำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าวิหารวัดเจดีย์หลวงติดกับวิหารเสาอินทขิล ให้ประชาชนบูชากราบไหว้เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน เพื่อนำความร่มเย็นเป็นสุขและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ชาวเชียงใหม่

“พระดับภัย”
“พระดับภัย” หรือ “หลวงพ่อดับภัย” ประดิษฐาน ณ วัดดับภัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะล้านนาเชียงแสนยุคแรกๆ หรือพระสิงห์ ปางมารวิชัย หล่อขึ้นด้วยทองสัมฤทธิ์

ตามตำนานได้ถูกบันทึกไว้ว่า “ในสมัยกาลก่อนนั้น มีพระยาท่านหนึ่งที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สร้างพระพุทธปฏิมาเพื่อเป็นที่สักการบูชาขึ้นมาองค์หนึ่งชื่อว่า พระเจ้าดับภัย ไม่ว่าท่านจะย้ายไปอยู่ที่ไหนท่านก็จะอันเชิญพระเจ้าดับภัยไปด้วยทุกที่ เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและเหล่าข้าราชบริวาร ต่อมาพระยาอภัยเกิดล้มป่วยลงอย่างหนัก ซึ่งไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีการใดก็ไม่หายหรือบรรเทาลงได้ พระยาอภัยจึงได้ทำการตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าพระเจ้าดับภัยขอให้ช่วยปกป้องรักษาตนให้หายจากอาการเจ็บป่วย หลังจากนั้นต่อมาพระยาอภัยก็หายจากอาการเจ็บป่วยลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ครั้นในเวลาต่อมาท่านก็ได้พาเหล่าข้าราชบริวารมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณวัดตุงกระด้าง จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ให้มีสภาพดียิ่งขึ้น พร้อมกับอัญเชิญพระดับภัยมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ จึงได้รับการขนานนามใหม่ว่าวัดดับภัยมาจนถึงทุกวันนี้”

(อ้างอิง : หนังสือตำนานเมืองเหนือ โดย สงวน โชติสุขรัตน์)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *