“แบงค์ชาติ” แถลง พิษโควิด-19 ส่งผลภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือหดตัว ภาคท่องเที่ยวหนักสุด

ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2 ปี 2563 ขึ้น มี นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ พร้อมด้วย นางสาววรางคณา อิ่มอุดม ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ร่วมแถลง โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมแถลงมากมาย

ซึ่งภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนมิถุนายน 2563 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศคลี่คลายดีขึ้นต่อเนื่อง สนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ตามการใช้จ่ายหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันและหมวดบริการ ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่หดตัวน้อยลงจากผลผลิต ผลไม้ และปศุสัตว์ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตามความต้องการจากต่างประเทศ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูง โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากยังมีการประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวในระดับต่ำตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคากลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ สำหรับตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานของสำนักงานประกันสังคมที่ยังคงเพิ่มขึ้น ทางด้านภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 เงินฝากขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐ ด้านสินเชื่อขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

โดยมีรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

“การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน” หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน และหมวดบริการ จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทยอยปรับดีขึ้นภายหลังกิจกรรมภายในประเทศได้รับการผ่อนปรนเกือบเข้าใกล้ภาวะปกติ รวมทั้งรายได้ในภาคเกษตรปรับดีขึ้น และมาตรการเยียวยาของภาครัฐยังช่วยพยุงการใช้จ่ายครัวเรือน อย่างไรก็ตามจากปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนโดยรวมที่ยังอ่อนแอ ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์หดตัวต่อเนื่อง

“รายได้เกษตรกร” หดตัวน้อยกว่าเดือนก่อน ตามผลผลิตเกษตรที่หดตัวลดลงจากปริมาณผลผลิตลำไยและลิ้นจี่ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และปศุสัตว์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากราคาจูงใจในช่วงก่อนหน้า สำหรับข้าวนาปรังลดลงจากภาวะแล้ง ด้านราคาสินค้าเกษตรขยายตัวชะลอลง ตามราคาข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกเหนียว ภายหลังประเทศผู้ส่งออกหลักกลับมาส่งออกได้ตามปกติ ส่วนราคาไก่เนื้อลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก

“การผลิตภาคอุตสาหกรรม” ขยายตัวจากเดือนก่อน ตามการผลิตในหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปจากการผลิต เพื่อส่งออกไปจีนเป็นสำคัญ ด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสิ่งทอยังหดตัว แต่เริ่มเห็นการปรับดีขึ้นบ้าง ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการผลิตเครื่องดื่มหดตัวน้อยลงจากผลของมาตรการผ่อนปรนการจำหน่าย

“การใช้จ่ายภาครัฐ” ขยายตัวจากเดือนก่อน จากการเร่งเบิกจ่ายทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานและงบกลาง สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการใช้จ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน

“ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว” ยังหดตัวสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีการบังคับใช้ สะท้อนจากจำนวนเที่ยวบินของทุกสายการบิน จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ และอัตราการเข้าพักแรม อย่างไรก็ดีผู้เดินทางภายในประเทศหดตัวน้อยลงภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคคลี่คลายขึ้น

“การลงทุนภาคเอกชน” ยังหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ซบเซา รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากการระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการจึงชะลอการลงทุนออกไป สะท้อนจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ยังหดตัว

“มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากร” การส่งออกในรูปเงินบาทหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปเมียนมาที่หดตัวต่อเนื่อง และการส่งออกผลไม้สดไปจีนที่เร่งไปมากในเดือนก่อนหน้า ด้านการนำเข้าหดตัวตามการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เป็นสำคัญ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคากลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ด้านราคาอาหารสดขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน สำหรับตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานของสำนักงานประกันสังคมที่ยังเพิ่มขึ้นแม้ในอัตราชะลอลง

ภาคการเงิน ณ เดือนพฤษภาคม 2563 ยอดเงินฝากคงค้างของสถาบันการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบัน การเงินเฉพาะกิจขยายตัวจากเดือนก่อน ตามการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนและเงินโอนช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงเม็ดเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวสูงขึ้นจากสินเชื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงจากสินเชื่อเพื่อธุรกิจตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยการระบาด ของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวอย่างรุนแรง หลังหลายประเทศรวมทั้งไทยประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกตามอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ลดลง มีเพียงการผลิตในหมวดอาหารที่ขยายตัวได้ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ สำหรับรายได้เกษตรกรหดตัวตามผลผลิตที่ เสียหายจากภัยแล้ง ซึ่งปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่อ่อนแอลงข้างต้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวมาก สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดีมีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว ตามการเร่งเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ สำหรับตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานของสำนักงาน ประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *