มา “แจ้ห่ม” กิ๋นน้ำปู๋ ดูวัด ดูเวียง
ไปเที่ยวที่ไหนดี??? เป็นคำถามที่ตอบยากพอๆกับกินอะไร??? ซึ่งจะให้ดีต้องมาที่นี่สิครับ ที่ “อำเภอแจ้ห่ม” จังหวัดลำปาง ได้ทั้งเที่ยวทั้งกินของดีประจำอำเภอไปพร้อมๆกัน โดยอำเภอแจ้ห่มนี้จัดเป็น 1 ในเส้นทางท่องเที่ยวที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง แนะนำในช่วง “กรีนซีซั่น” (Green Season) เพื่อสร้างการรับรู้อัตลักษณ์ในพื้นที่
“อำเภอแจ้ห่ม” เป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 3 ของจังหวัดลำปาง รองจากอำเภองาวและอำเภอเถิน โดยในการเดินทางมาอำเภอแจ้ห่มนี้ หากเดินทางมาจากอำเภอเมืองลำปาง ท่านจะได้รับการต้อนรับและทักทายจาก “อนุสาวรีย์ปูนา” ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมทางก่อนเข้าตัวอำเภอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยนา ปูนา และของกินของคนเมืองที่ทำจากปูนา อย่าง “น้ำปู” (หรือน้ำปู๋) ดั่งที่ว่ากันว่า “แจ้ห่ม คือ น้ำปู๋ น้ำปู๋ คือ แจ้ห่ม”!!!
เมื่อแจ้ห่มมี “น้ำปู๋” เป็นของดีเช่นนี้ หากได้มาเยือนเมื่อไหร่ต้องห้ามพลาดที่จะหามากิน ซึ่ง “น้ำปู๋” สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ใส่แกงหน่อไม้ ส้มตำหรือตำส้มโอ ใช้ทำน้ำพริกน้ำปู๋ กินกับผักได้หลากหลาย ทั้งถั่วฝักยาว มะเขือ ผักกาดกวางตุ้ง แตงกวา ผักกูด กะหล่ำปลีนึ่ง หน่อไม้ต้ม มะขาม หรือจะเป็นหมูทอด ปลาทอด ก็เหมาะ
โดย “น้ำปู๋” จัดเป็นอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนเมือง เป็นอาหารที่เกิดจากการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินเป็นแรมปี น้ำปู๋ที่มีชื่อเสียงนั้น ได้แก่ น้ำปู๋อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และน้ำปู๋ จังหวัดพะเยา
วัตถุดิบในการทำ น้ำปู๋ สามารถหาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ ปูดิบ 100 กิโลกรัม ตะไคร้ ประมาณ 3 กิโลกรัม ใบมะกอก 10 กิโลกรัม จะทำให้น้ำปู๋มีสีดำสนิท ใบฝรั่ง 2 กิโลกรัม จะทำให้น้ำปู๋ข้นและเหนียว ใบขมิ้นหรือใบข่า 2 กิโลกรัม จะทำให้มีกลิ่นหอม การทำน้ำปู๋ในขั้นเเรก ต้องมีปูนาเป็นจำนวนมาก หากต้องการน้ำปู๋ 1 กิโลกรัม ก็ต้องใช้ปูนาประมาณ 5 กิโลกรัม ปูนาที่ใช้ทำก็ได้มาโดยการจับปูนาในท้องนา แต่ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งชาวบ้านมักจะไปจับปูนาในวันที่มีเเดดจัดเเละอากาศร้อน เนื่องด้วยจะมีปูนาเป็นจำนวนมากที่หลบหนีความร้อนจากน้ำในนาขึ้นมาเดินบนคันนา ทำให้ชาวบ้านจับได้ง่าย
เมื่อได้ปูนามาแล้วต้องนำมาแช่น้ำไว้ เพื่อให้ปูนาคายสิ่งสกปรกออกเเละล้างด้วยน้ำซ้ำหลายๆครั้งให้สะอาดขึ้น จากนั้นนำไปตำในครกที่เรียกว่า “ครกมอง” บดปูไปก็ใส่ใบฝรั่ง ใบตะไคร้ ใบขมิ้น หรือใบข่าไป บดส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียดเเละนำมากรองลงในหม้อดินหรือถังพลาสติก กรองเสร็จก็นำกากปูมาตำซ้ำอีก 2-3 ครั้ง แล้วกรองลงในหม้อดินเช่นเดิม จากนั้นนำไปกรองใส่ถังทิ้งไว้ให้เกิดปฏิกิริยา ช่วงนี้เรียก “น้ำปู๋ดิบ” ชาวบ้านมักเอาใบตองหรือผ้าขาวบางมามัดปากหม้อหรือถังไว้ เพื่อกันไม่ให้แมลงหรือสัตว์เล็กๆลงไป ทิ้งไว้ 1 คืน หรือ 1 วัน เพื่อให้น้ำปูมีกลิ่นเเละรสชาติที่ดีขึ้น จากนั้นก็นำมาเคี่ยว ซึ่งต้องไปเคี่ยวในที่ห่างไกลผู้คน เพราะน้ำปู๋จะมีกลิ่นแรงมาก เมื่อได้ที่ก็จะได้น้ำปู๋ที่สมบูรณ์แบบจับกันเป็นก้อนสีดำ
กินน้ำปู๋แจ้ห่มจนอิ่มกันแล้ว ก็ได้เวลาเที่ยว ดูวัด ดูเวียงกัน แต่ก่อนไปดู เรามาสักการะ “พระอนุสาวรีย์ของเจ้าพ่อพญาคำลือ” กันก่อน ซึ่ง เจ้าพ่อพญาลือ เป็นวีรกษัตริย์แห่งล้านนา ผู้ครองเมืองวิเชตนคร ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 1881 (667 ปีมาแล้ว) เป็นโอรสของเจ้าพ่อพญาคำแดง และเป็นพระราชนัดดาของพญางำเมืองแห่งภูกามยาว (พะเยาในปัจจุบัน) มารดาชื่อ นางอินเหลา แห่งเชียงดาว ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์เจ้าพ่อแสนภูแห่งเวียงพิงค์ สืบเชื้อสายราชวงศ์เชียงแสน และเป็นผู้สร้างเมืองสยมภูนครินทร์ คือเมืองแจ้ซ้อน เมืองปานและห้างฉัตรในปัจจุบัน เมื่อเจ้าพ่อพญาคำแดงไปครองเมืองสยมภูนครินทร์ เจ้าพ่อพญาคำลือซึ่งเป็นอุปราชจึงได้ครองเมืองวิเชตนคร เป็นต้นมา
เจ้าพ่อพญาคำลือมีสายเลือดนักรบ มีเจ้าสุดใจเป็นคู่ชีวิตแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ในปี พ.ศ. 1881 พวกเงี้ยวตั้งตนเป็นใหญ่ในดินแดนภาคเหนือ โดยมีเจ้าคำฟูสมคบกับพญากาวน่าน ยกทับมาตีขนาบเมืองใหญ่น้อย ได้แผ่อำนาจมาถึงเมืองภูกามยาว ซึ่งเจ้าพ่อพญางำเมืองครองอยู่ (พะเยา) เจ้าพ่อพญาคำลือในฐานะพระราชนัดดา ยกทับไปช่วยปราบปราม โดยมีพญาผาแดง พญาวัง พญากาบกล้วย พญาอำพองและเจ้าพ่อประตูผา (เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก) พระสหายไปช่วยรบเป็นเวลานาน 2 เดือน จึงได้รับชัยชนะ พวกเงี้ยวถอยร่นกลับแคว้นสิบสองปันนา
ต่อมาศึกพม่ากับเชียงใหม่ได้อุบัติขึ้นหลายครั้ง พม่ายกทับมาตีเมืองสยมภูนครินทร์ (ตำบลแจ้ซ้อนปัจจุบัน) กินอาณาเขตถึงดอยสะเก็ด เมืองนี้ตกเป็นเมืองขึ้นกับพม่านานเกือบ 10 ปี พม่ายกทับมาตีเมืองวิเชตนคร ซึ่งเป็นเมืองเอกหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ด้วยพระปรีชาสามารถของเจ้าพ่อพญาคำลือที่ต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างแข็งขัน ยามสงบเจ้าพ่อพญาคำลือก็ปกครองชาวเมืองให้เป็นสุขด้วยความรักและเมตตา เจ้าพ่อพญาคำลือจึงเป็นที่รักและบูชาของชาวเมืองดุจพ่อเจ้า นอกจากนั้นเจ้าพ่อพญาคำลือยังใฝ่ใจในธรรม ได้ทำนุบำรุงวัดวาอารามหลายแห่ง โดยเฉพาะวัดอักโขชัยคีรี ที่ประดิษฐานพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งในปี พ.ศ. 2527 ชาวอำเภอแจ้ห่มและอำเภอใกล้เคียงได้พร้อมใจกันสร้างพระอนุสาวรีย์ของเจ้าพ่อพญาคำลือขึ้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน โดยมีนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอำนวยการ วันที่ 19 ตุลาคม 2527 สมเด็จพระเจ้าญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ฯ เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ
มาต่อกันกับ “วัด” ที่น่าสนใจในอำเภอแจ้ห่ม โดยงานนี้จะพาไปดู “วัดผาแดงหลวง” และ “วัดอักโขชัยคีรี”
“วัดผาแดงหลวง” ตั้งอยู่ ณ ตำบลแจ้ห่ม ประวัติการสร้างวัดนั้นไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด โดยคาดการณ์ว่า แต่ก่อนวัดผาแดงหลวง เคยเป็นวัดร้างมาก่อน จนถึงช่วงสมัยครูบาเจ้าหลวงอินตา เป็นเจ้าอาวาสก็ได้ชักชวนชาวบ้านในเขตบ้านม่วง มาทำการแผ้วถางและบูรณะซ่อมแซมศาสนวัตถุภายในวัดร้างจนมีพระสงฆ์ สามเณรอยู่จำพรรษาตลอดมา และจากคำบอกเล่าของพ่อหลวงหนานอินตา ชาวบ้านม่วง เล่าว่า “ปู่ทวดของท่านได้เล่าสืบต่อกันมาจนถึงตัวของท่านเองว่า วิหารวัดผาแดงหลัง หลังเดิมเมื่อแรกสร้างวัดตลอดถึงศาสนวัตถุ โดยเฉพาะพระวิหารได้รับความอุปถัมภ์ในการก่อสร้างจากพญาคำแดง กษัตริย์แห่งเมืองพะเยา”
ภายในวัดผาแดงหลวงนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระวิหารหลวง พระเจดีย์ และวิหารจตุรมุขที่ประดิษฐานพระนอนที่แกะด้วยไม้สุก ซึ่งใช้เวลาแกะทั้งสิ้น 8 วันด้วยกัน
“วัดอักโขชัยคีรี” ตั้งอยู่ที่ ตำบลวิเชตนคร บนเนินเขาริมถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม ที่ ณ จุดนี้สามารถชมวิวทิวทัศน์ของแจ้ห่มได้ โดยสิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ โบสถ์ พระเจดีย์ และวิหารพระยืน ซึ่งโบสถ์และเจดีย์ภายในวัดเป็นศิลปะแบบล้านนา บริเวณด้านหลังโบสถ์ จะเป็นที่ตั้งของ วิหารพระยืน หรือ วิหารพระศากยมุณี เป็นวิหารไม้ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่เรียกว่า “พระศากยะมุณีคีรีอักโข” มีความสูง 5 วา 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่เป็นที่นับถือของชาวแจ้ห่ม
นอกจากในวิหารไม้จะประดิษฐานพระยืนแล้ว ยังปรากฎให้เห็นภาพเงาสะท้อนของพระเจดีย์อีกด้วย โดยเป็นภาพเงาสะท้อนสีสันสวยงาม ซึ่งจากคำบอกเล่าของพระนั้น ภาพเงาสะท้อนพระเจดีย์จะอยู่ทางทิศตะวันออกเสมอ ไม่ว่าพระอาทิตย์จะเคลื่อนองศาไปแล้วก็ตาม ชาวอำเภอแจ้ห่มจึงมีความเชื่อด้านความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก ดังเช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดพระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และภาพเงาสะท้อนของพระธาตุเจดีย์ยังปรากฎให้เห็นอีกหนึ่ง คือ “วิหารชมเงา” วิหารเล็กๆใกล้กับวิหารพระยืน
เที่ยวชมวัดกันไปแล้ว ทีนี้เรามาชมวิวกันบ้าง กับ “ไร่ห่มฟ้า” ซึ่งไร่แห่งนี้เพิ่งเปิดให้เข้าชมได้ไม่นาน มีวิวสวยๆของทุ่งดอกไม้และทุ่งนาให้ได้ถ่ายรูป มีร้านกาแฟให้นั่ง และมีผลไม้นานาชนิดที่ผลิตจากไร่ มาให้เลือกซื้อเลือกหากันตามชอบ
วิวสวยๆของแจ้ห่มใช่เพียงแค่มีเฉพาะที่ไร่ห่มฟ้าแห่งนี้เท่านั้น หากถ้าท่านได้มีโอกาสขับรถเข้ามาบริเวณบ้านม่วง ริมแม่น้ำวัง ท่านก็จะได้พบกับบรรยากาศสุดฟินริมน้ำวัง ที่มีขัวไม้ของร้านอาหารสวนริมวังให้ได้สัมผัส ทั้งยังจะได้สัมผัสวิถีของชาวบ้านที่หากินจับปลาอยู่ริมน้ำ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเที่ยวแจ้ห่มเท่านั้น แจ้ห่มยังมีของดีและสถานที่ท่องเที่ยวดีๆรอคุณมาเที่ยวอีกเพียบ แล้วจะรออะไรอยู่ครับ ว่างเมื่อไหร่ก็แวะมา มาหาแจ้ห่มกัน มาแล้วคุณจะต้องชอบและอยากจะมาอีก!!!