สดร. ชี้แจงวัตถุประหลาดแม่แจ่ม ไม่ใช่อุกกาบาต คาดอาจเป็นหินภูเขาไฟ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้แจงกรณีมีผู้พบวัตถุประหลาดในพื้นที่ป่าชุมชน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นคาดว่าไม่ใช่อุกกาบาต คาดอาจเป็นหินภูเขาไฟ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า ตามที่มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา มีชาวบ้านพากันไปเก็บวัตถุรูปร่างคล้ายอุกกาบาตในบริเวณพื้นที่ป่าชุมชน เขตติดต่อหมู่บ้านแม่สะต๊อก บ้านนาฮ่อง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากมีชาวบ้านในพื้นที่พบเห็นลำแสงพุ่งตกจากฟ้าลงมาในบริเวณดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา จึงสันนิษฐานว่าเป็นอุกกาบาตและพากันออกตามหา ก่อนพบวัตถุประหลาด แต่เก็บไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ใครทราบ จนกระทั่งมีข่าวแพร่สะพัดขึ้นมา ทางอำเภอแม่แจ่มจึงนำวัตถุดังกล่าวส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

จากหลักฐานที่รวบรวมได้ พบว่าวัตถุที่พบมีลักษณะเป็นรูพรุน น้ำหนักเบากว่าหินและโลหะทั่วไป รูปร่างคล้ายวัตถุที่ถูกเผาไหม้ด้วยความร้อนจนหลอมละลายแล้วเย็นตัวลง หลังจากสังเกตและวิเคราะห์ด้วยลักษณะทางกายภาพ เบื้องต้นคาดว่า ไม่ใช่อุกกาบาต เนื่องจากอุกกาบาตจะมีลักษณะไม่เป็นรูพรุน และอาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นหินประเภทหินอัคนีพุ (Extrusive Rock) หรือหินภูเขาไฟ (Volcanic Rock) ที่เกิดขึ้นนานมาแล้วในอดีต เกิดจากการเย็นตัวและตกผลึกของลาวาเหลวที่มีไอน้ำ แก๊สและสารละลายอื่นๆปนอยู่มาก เมื่อลาวาขึ้นมาบนผิวโลกและเย็นตัวลง ฟองแก๊สเหล่านี้จึงทำให้เกิดโพรง ดูเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ นอกจากนี้ จากข้อมูลแผนที่ธรณีวิทยาของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าหินอัคนีสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงบริเวณอำเภอแม่แจ่มด้วย

นายศุภฤกษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นลำแสงพุ่งตกจากฟ้าในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนั้น คาดว่าเป็นดาวตก ตามปกติแล้วเราสามารถสังเกตเห็นดาวตกได้ทุกคืน เนื่องจากในอวกาศมีเศษฝุ่นละอองที่ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางเหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า จึงนับเป็นเหตุการณ์ปกติที่จะมีโอกาสสังเกตเห็นได้ดาวตกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่มีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ หรือฝนดาวตกวันแม่ ก็จะมีโอกาสเห็นดาวตกที่มีลักษณะเป็นแสงวาบผ่านพาดท้องฟ้าได้มากกว่าช่วงเวลาปกติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *