ประชุมวิชาการ “เหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้าพัฒนาบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินการแพทย์”

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “เหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร จาก ล่างสู่บน” ณ ห้องเชียงใหม่ ชั้น 2 ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่

โดยงานนี้ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์” คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานแผนงานบริหารแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม : แผนงานระบบบริการสุขภาพ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยความเป็นมาของการจัดงานประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยแบบ Block Grant ต่อเนื่อง 3 ปี (ปลายปีพ.ศ.2562-2565) ภายใต้โครงการวิจัยแบบบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาขับเคลื่อนให้เกิดงานวิจัยที่มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ยังเป็นจุดอ่อนสำคัญของประเทศ และมีความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งจากการปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องในระบบการจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ จึงได้มุ่งเป้าไปที่

“การวิจัยพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร” ทั้งภาวะฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ และจากโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันระบบฯ ดังกล่าว ยังมีช่องว่างของตัวระบบบริการสุขภาพที่ต้องการการวิจัยพัฒนาในหลายประเด็น ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชน การป้องกันเหตุล่วงหน้า การเฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินวิกฤต การเข้าถึงบริการเมื่อเกิดเหตุ การดูแลรักษาในระยะเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมไปถึงการดูแลต่อเนื่องหลังพ้นระยะฉุกเฉินวิกฤตทั้งในระหว่างสถานบริการสาธารณสุขระดับต่างๆ ไปจนถึงที่บ้านของผู้เจ็บป่วยและชุมชน โดยหวังว่า ผลของโครงการวิจัยพัฒนาระบบบริการการดูแลภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เชื่อมต่อแบบครบวงจรนี้ จะเป็นประโยชน์สำคัญในการช่วยลดช่องว่างของระบบบริการที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนทุกระดับ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียจากความพิการ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในที่สุด

ในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 – 2563 มีโครงการวิจัยย่อยที่พัฒนาขึ้น จำนวน 33 โครงการ ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานของมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและน่าน ซึ่งการจัดประชุมเสวนาทางวิชาการในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รับผิดชอบโครงการย่อยแต่ละโครงการ และสามารถนำผลงานวิจัยพัฒนาไปปรับปรุง ต่อยอด ขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพต่อไปในอนาคต

สำหรับกลุ่มโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินของผู้ประสบเหตุ การพัฒนาระบบศูนย์สั่งการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อให้สามารถออกปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามจุดหมายต่างๆในพื้นที่รับผิดชอบได้รวดเร็วมากขึ้น พัฒนาอุปกรณ์ติดตามวัดสัญญาณชีพแบบเคลื่อนที่สำหรับรถฉุกเฉินที่สามารถส่งสัญญาณเชื่อมต่อกับระบบบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินของโรงพยาบาลเพื่อติดตามสัญญาณชีพที่สำคัญ และอาการของผู้ป่วยวิกฤตในขณะนำส่งไปที่โรงพยาบาลได้ การพัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อคัดกรองและประเมินระดับความรุนแรงของผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลให้แม่นยำมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไปและผู้ป่วยฉุกเฉินเฉพาะโรค การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล/ทุรกันดารในจังหวัดเชียงใหม่ การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการระดับต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้สามารถจัดระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มคัดกรอง ติดตามดูแลผู้ป่วย/ผู้สงสัย ในช่วงระบาดของโรค COVID19 ระหว่างหน่วยบริการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ส่วนโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในกลุ่มประชาชน ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรการอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) แบบฝังรากลึกในประชาชน การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการช่วยฟื้นคืนชีพในนักเรียนระดับชั้นมัธยม ในจังหวัดเชียงราย การพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับนักวิ่งเพื่อการดูแลอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างการร่วมงานวิ่ง การพัฒนาแผนที่ระบุพิกัดของเครื่อง AED แบบออนไลน์ 3 ภาษา นำร่องในจังหวัดเชียงใหม่ การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุใช้กดปุ่มเรียกเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในบ้าน การพัฒนากลไกอาสาสมัครในการดูแลผู้ป่วยกระดูกข้อสะโพกหักของจังหวัดน่าน รวมทั้งการพัฒนารูปแบบสื่อสาธารณะโดยคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ในหลากหลายรูปแบบผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์

“โครงการวิจัยพัฒนาเหล่านี้ เกิดจากความต้องการแก้ปัญหาระบบริการของหน่วยงานระดับต่างๆ ในพื้นที่ คิดค้น วางแผน ลงมือพัฒนาโดยนักวิจัยในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหา ซึ่งสามารถนำไปเรียนรู้ต่อยอด และขยายผลต่อได้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบบริการในพื้นที่ทั่วประเทศ จึงถือเป็นงานวิจัยพัฒนาที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้ตรงเป้าที่สุดในช่วงปีแรกของโครงการ สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เปิดโอกาสให้มีโครงการดีๆ เช่นนี้เกิดขึ้น” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ กล่าวในที่สุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *