“เป๊ปซี่โค” หนุนยุทธศาสตร์ “มันฝรั่ง” ส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มั่นคง สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่าย

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบเลย์ นำโดย นายชวาลา วงศ์ใหญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเกษตร ภูมิภาคเอเชีย นางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้จัดการอาวุโสองค์กรสัมพันธ์ และนายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการเกษตร ต้อนรับคณะผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางอังคนา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 นางสาวณัฐวณี ยมโชติ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชสวน และคณะฯ เข้าเยี่ยมชมแปลงปลูกมันฝรั่งสายพันธุ์โรงงานของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญากับบริษัทเป๊ปซี่ฯ ณ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

โดย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เลย์” มันฝรั่งทอดกรอบอันดับหนึ่งของไทย และขนมขบเคี้ยวในเครือ “เป๊ปซี่โค” เดินหน้าสานต่อ “นโยบายส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งสนับสนุนเกษตรกรแบบครบวงจร เน้นพัฒนาเพิ่มศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถการผลิตการจัดการ และการใช้เทคโนโลยีช่วย จนสามารถเพิ่มผลผลิตให้มีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยของแปลงปลูกมันฝรั่งทั่วไปเกือบ 2 เท่า ลดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น สร้างความมั่นคงทางอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

นายชวาลา วงศ์ใหญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเกษตร ภูมิภาคเอเชีย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด

นายชวาลา วงศ์ใหญ่ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเกษตร ภูมิภาคเอเชีย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรไทยทำการเกษตรอย่างยั่งยืนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินพอดี ไม่สร้างมลภาวะ ตามพันธสัญญาการทำการเกษตรยั่งยืนของเป๊ปซี่โค ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีช่วย แปลงเกษตรสาธิตนี้มีการพัฒนารูปแบบการปลูกด้วยระบบน้ำหยด คือการปลูกที่ให้น้ำและสารอาหารพืชในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้เกษตรกรควบคุมทั้งปริมาณน้ำและสารอาหารที่พืชต้องการได้ อีกทั้งมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตต่อไร่มีปริมาณที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของแปลงปลูกมันฝรั่งทั่วไปเกือบ 2 เท่า เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว

นางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้จัดการอาวุโสองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด

นางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้จัดการอาวุโสองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมธุรกิจมันฝรั่งแปรรูป เป๊ปซี่โคเล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำการเกษตรที่สามารถสร้างรายได้ต่อเกษตรกรให้สามารถดำรงชีวิตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาทักษะและความรู้ ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ในการมุ่งเน้นการส่งเสริมอาชีพ การสร้างรายได้ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรและสร้างความยั่งยืนให้กับทุกชุมชนที่เราดำเนินธุรกิจ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2538 เป๊ปซี่โคได้ยึดถือนโยบายการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด โดยเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสนับสนุนเกษตรกรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำผ่าน ‘โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งที่กำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศในด้านเทคนิคการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรและช่วยเพิ่มผลิตผลต่อไร่ให้สูงขึ้น การสนับสนุนหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมทั้งรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยที่ผ่านมามีเกษตรกรที่เข้าร่วมกว่า 3,800 ราย ครอบคลุมพื้นที่การปลูกรวมกว่า 22,000 ไร่ ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ อันได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก และบางจังหวัดในภาคอีสาน อาทิ จังหวัดสกลนคร และนครพนม เป็นต้น

นายมงคล ศรีวรรณตัน เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

นายมงคล ศรีวรรณตัน เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โดยทั่วไป การเพาะปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยนั้นมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 – 3 ตันต่อไร่ แต่ที่ไร่ของเราซึ่งมีพื้นที่ปลูกกว่า 1,000 ไร่ ส่วนหนึ่งอยู่ที่อำเภอสันทราย เราได้พัฒนาเรียนรู้และทดลองการเพาะปลูกร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีจนสามารถสร้างผลผลิตมันฝรั่งได้สูงสุดถึง 5 ตันต่อไร่ ด้วยความใส่ใจและการให้ความสำคัญการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการเพาะปลูก จนเกิดเป็นการพัฒนารูปแบบการปลูกด้วยระบบน้ำหยด ช่วยให้เกษตรกรควบคุมทั้งปริมาณน้ำและสารอาหารที่พืชต้องการได้ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่มีปริมาณที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของแปลงปลูกมันฝรั่งทั่วไปเกือบ 2 เท่า ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรลดลงจากการปรับตัว ทำเกษตรกรแบบใช้องค์ความรู้เทคโนโลยี เหล่านี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการทำเกษตรกรรมอย่างแท้จริง และเป็นการถ่ายทอดวิชาชีพที่มีความมั่นคงและต่อเนื่องไปยังคนรุ่นต่อไป ซึ่งตอนนี้ก็มีลูกชายเข้ามารับช่วงต่อแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *