สดร. จับมือ อพวช. เนรมิตนิทรรศการโซนใหม่ใน “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” พร้อมเปิดตัวในมหกรรมดาราศาสตร์สุดยิ่งใหญ่แห่งปี 27 มี.ค.นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ “Astronomy Insight” และ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมให้บริการตั้งแต่ วันที่ 27 มีนาคมนี้ และชวนเที่ยวงานมหกรรมดาราศาสตร์ประจำปี 2564 NARIT AstroFest 2021 จัดเต็มหลากหลายกิจกรรมดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ สำหรับทุกเพศทุกวัย ลุ้นรับกล้องโทรทรรศน์และรางวัลพิเศษมากมายภายในงาน พร้อมเตรียมมาตรการคัดกรองและเฝ้าระวังโควิด 19 เต็มรูปแบบ

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้บริการท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการดาราศาสตร์ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ในปีนี้ สดร. เตรียมเปิดนิทรรศการดาราศาสตร์โซนใหม่ ในชื่อชุด Astronomy Insight มีแนวคิดต่อยอดจากนิทรรศการชุดเดิม​ที่จัดแสดงอยู่ นำเสนอองค์ความรู้ดาราศาสตร์เชิงลึกมากขึ้น รวมถึงหลักการและวิธีการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ ถ่ายทอดผ่านอุปกรณ์การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสนุกกับการเรียนรู้ และมองเห็นภาพการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ ประโยชน์ของการศึกษาดาราศาสตร์และการต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับนิทรรศการดาราศาสตร์ชุดใหม่ แบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ๆ ได้แก่ โซนที่ 1 นำเสนอเรื่องราวของพื้นฐานฟิสิกส์ดาราศาสตร์เกี่ยวกับแสง อาทิ การกระเจิงแสง การหักเหของแสง และการรวมแสงมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ , โซนที่ 2 ชวนมาพิสูจน์ทฤษฎีทางดาราศาสตร์ด้วยตัวเอง ผ่านอุปกรณ์จำลองหลักการและตัวอย่างการสร้างชิ้นงานทางดาราศาสตร์ อาทิ อัตราเร็วเสียง กล้องรูเข็ม นาฬิกาแดด การสร้างกระจกกล้องโทรทรรศน์ ดาราศาสตร์ในหลายช่วงคลื่น รังสีอินฟราเรด และการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ , โซนที่ 3 ตัวอย่างการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์เชิงลึก อาทิ การศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หลุมดำ ขอบเขตของเอกภพ หรือการศึกษาปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง (Gravitational Lensing) ที่ช่วยยืนยันว่าสสารมืดมีอยู่จริง และโซนที่ 4 นำเสนอเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตผ่านสื่อการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ยังได้ต่อยอดสร้างพื้นที่การเรียนรู้ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร บนพื้นที่กว่า 1,430 ตารางเมตร ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มนิทรรศการดาราศาสตร์ของ สดร. ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อพวช. ยังคงขับเคลื่อนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับเยาวชนและคนไทยทั่วประเทศ ในการเปิดแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของประเทศ ในชื่อ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” เราได้รับความร่วมมือจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ในการเข้ามาตั้งแหล่งเรียนรู้อยู่ในพื้นที่ของ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ผศ.ดร. รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า อพวช. มีภารกิจในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เข้าชมสามารถมาเรียนรู้และค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันเราเปิดให้บริการ 4 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ที่คลองห้า ปทุมธานี และล่าสุดกับแหล่งเรียนรู้ใจกลางกรุง “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา” กรุงเทพฯ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการกระจายโอกาสด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปสู่วงกว้างมากขึ้น

สำหรับ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” ถือเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์และแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชน ด้านอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เรียนรู้ทักษะสู่อาชีพแห่งอนาคต ผ่านนิทรรศการสื่อสัมผัส และกิจกรรมที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย อาทิ เปิดเส้นทางสายอาชีพนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาใน The Career of the Future กิจกรรม Inspire Lab ห้องทดลองที่ทดลองแล้ว จะได้เห็นผลด้วยตัวเองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และกิจกรรม Innovation Space พื้นที่พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และปลดปล่อยจินตนาการในการออกแบบและสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นต้น อพวช. หวังว่าแหล่งเรียนรู้แห่งนี้จะช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนในระดับภูมิภาคของภาคเหนือ ที่เปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังจะเป็นสถานที่ที่จะสร้างความสุขสนุกสนานให้กับทุก ๆ คนในครอบครัวในการได้เล่น เรียนรู้ และได้ใช้เวลาร่วมกัน

พิเศษสุด! สำหรับในช่วงเปิดตัวเราเปิดให้เข้าชมนิทรรศการฟรี! จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 นี้ เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันศุกร์ 09.00 – 16.00 น. และวันเสาร์ – วันอาทิตย์ 10.00 – 17.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่โทรศัพท์ 093-7458550

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สดร. เตรียมจัดงานมหกรรมดาราศาสตร์สุดยิ่งใหญ่แห่งปี NARIT AstroFest 2021 วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 เวลา 09:00-22:00 น. ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นอกจากจะเปิดตัวนิทรรศการชุดใหม่ Astronomy Insight และ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่ พร้อมให้บริการประชาชนในวันดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรมดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ หนึ่งปีมีครั้งเดียวกับการเปิดหลังบ้านชมห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์สุดล้ำ : ศึกษาวัตถุใกล้โลกผ่านท้องฟ้าจำลองสามมิติ เครื่อง CMM ละเอียดแค่ไหนก็วัดได้ จากดาราศาสตร์สู่เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง CNC สรรค์สร้างชิ้นงานความละเอียดสูง อยู่ที่ไหนก็ดูดาวได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ระยะไกลอัตโนมัติ สถานีหุ่นยนต์ล้างกระจก ฯลฯ / ครั้งแรกกับการเปิดห้องวิจัยดาราศาสตร์ : ห้องแล็บใหญ่ที่เรียกว่าโลก เรียงร้อยเรื่องดาว ยอดนักสืบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ผจญภัยในอวกาศด้วยแว่น VR 3D สำรวจจักรวาลผ่านกล้องโทรทรรศน์วิทยุจากญี่ปุ่น ฯลฯ / เรียนรู้เทคโนโลยีการรับสัญญาณจากดาวเทียม : เสียงกระซิบจากฟากฟ้า / Astronomy Fun Fair เกมดาราศาสตร์แสนสนุก : ยิงกระสวยอวกาศจิ๋ว ปาโป่ง Big Bang! โยนวงแหวนดาวเคราะห์ อุกกาบาตปะทะขยะอวกาศ / กิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับเด็ก และครอบครัว : แต่งสีแต้มฝันปันดาว ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ / เสวนาพิเศษ “ผู้หญิงในแวดวงดาราศาสตร์” / ช่วงค่ำ ชมดาวเคล้าเสียงเพลง : ดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ แนะนำการดูดาวเบื้องต้น และวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ เพลินเพลินกับกาดดารา สารพันสินค้าอาหารในธีมดาราศาสตร์ และลุ้นรับของรางวัลสุดพิเศษ : กล้องโทรทรรศน์ และของรางวัลมากมาย

มหกรรมดาราศาสตร์ในปีนี้ สดร. ได้ขยายไปส่วนภูมิภาคด้วย จัดพร้อมกัน 4 แห่งได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/NARITpage หรือสอบถามที่โทรศัพท์ 081-8854353

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *