“วัดบุพพาราม” อารามตะวันออก

บนถนนท่าแพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีวัดสำคัญๆที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นก็มี “วัดบุพพาราม” รวมอยู่ด้วย โดยวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สมัยกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 12 ราชวงส์มังราย มีความโดดเด่นที่วิหารหลังเล็กกับเครื่องไม้แบบล้านนา

“วัดบุพพาราม” หรือ วัดเม็ง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพญาเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 12 ในราชวงศ์มังราย ในปีพ.ศ. 2039 โดยมีบันทึกใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ถึงการสร้างวัดนี้ว่า หลังจากที่พญาเมืองแก้วได้อภิเษกแล้วในปีที่สอง ได้โปรดให้สร้างอารามขึ้นอารามหนึ่ง ในหมู่บ้านที่พระราชปัยกาครั้งเป็นยุพราช และพระบิดาของพระองค์เคยประทับมาก่อน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง จุลศักราช 858 พระองค์ตั้งชื่ออารามว่า “บุพพาราม” มีความหมายว่า “อารามตะวันออก” ซึ่งหมายถึงอารามนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของราชธานีนครเชียงใหม่ ต่อมาในปีที่ 3 ของการครองราชย์ พญาเมืองแก้วทรงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นองค์หนึ่งท่ามกลางมหาวิหารในอารามนั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเงิน และย่างเข้าปีที่ 4 พญาเมืองแก้วทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทอง และหอพระมณเฑียรธรรม ที่พระองค์โปรดให้สร้างไว้ในวัดบุพพาราม

ในปีจุลศักราช 866 ปีฉลู เดือน 8 วันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ พญาเมืองแก้วทรงรับสั่งให้ทำการหล่อมหาพุทธรูปไว้ ณ วัดบุพพาราม 1 องค์ ต่อมาในปีขาลเดือน 5 วันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ มีการหล่อพระมหาพุทธรูปด้วยทองแดงล้วน น้ำหนัก 1 โกฏิ ซึ่งมีสนธิ 8 แห่ง หรือข้อต่อ 8 แห่ง ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 5 ปี คือ สำเร็จในปี จ.ศ. 871 เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ วันพุธ โดยมีการฉลองอย่างใหญ่โตและได้รับการประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระประธานในวิหาร

ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่

“วิหารหลังเล็ก” ที่เป็นศิลปกรรมล้านนา เจ้าหลวงช้างเผือกธรรมลังกาโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2362 ภายในประดิษฐานพระพุทธไชยลาภประสิทธิโชค (พระประธาน) ซึ่งก่อด้วยอิฐถือปูน หน้าตักกว้าง 7 ศอก สูง 9 ศอก ภายหลังเมื่อวิหารหลังเล็กได้รับการดัดแปลงแก้ไขในสมัยครูบาหลาน หรือต่อมาเจ้าแม่ทิพผสม ณ เชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะวิหารหลังเล็ก เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445 ต่อมาเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดองค์ปัจจุบันได้ทำการบูรณะซ่อมแซมในรูปเดิมและเสริมในบางส่วน คือ ปั้นมอม (สัตว์หิมพานต์) 2 ตัว ไว้ที่บันได รวมทั้งบานประตูใหญ่ของวิหารซึ่งปั้นปูนเป็นเทพนม วิหารหลังเล็กนี้โดดเด่นด้วยเครื่องไม้ศิลปะล้านนา มีหน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระจก และแกะลายสลักไม้อย่างงดงาม

“วิหารหลังใหญ่” เป็นศิลปกรรมล้านนา ประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นแบบพม่า ภายในประดิษฐานพระพุทธมหาปฏิมากร ศิลปะล้านนา หล่อด้วยทองแดงล้วนมีน้ำหนัก 1 โกฏิ และสนธิ (ต่อ) 8 แห่ง และมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนขนาบซ้ายขวาอีก 2 รูป โดยหล่อด้วยทองสำริดทั้งคู่ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติและพระเวสสันดรชาดกที่เขียนด้วยสีฝุ่น

“หอมณเฑียรธรรม” เป็นมณฑปปราสาทจัตุรมุขทรงล้านนา 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานว่า พระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. และพระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ แกะด้วยไม้สัก ขนาดหน้าตักกว้าง 1 วาเศษ มีอายุประมาณ 400 ปี ตามประวัติสร้างโดยพระนเรศวรมหาราช นับเป็นพระพุทธรูปไม้สักองค์ใหญ่และสวยงามที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย ชั้นล่างของหอมณเฑียรธรรมจัดเป็นห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา ชั้นล่างเป็นห้องสมุดห้องสมุดศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา จัดแสดงวัตถุต่างๆ อาทิ หีบธรรมใส่พับสาใบลาน และหนังสือในสมัยปัจจุบัน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก เครื่องปั้นดินเผา กลอง กระจกคันฉ่อง และเครื่องดนตรี เป็นต้น

“เจดีย์” เป็นเจดีย์แบบพม่า ตั้งอยู่บนฐานย่อเก็จ 2 ชั้น ลักษณะลวดลายและการย่อเป็นแบบพม่า รวมทั้งตัวองค์ระฆังและส่วนปล้องไฉนด้วย และมีเจดีย์บริวารอยู่มุมฐาน 2 ชั้น ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์สร้างเมื่อ พ.ศ. 2053 ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์โดยหลวงโยนวิจิตร (หม่อนตะก่า อุปโยคิน) ในปี พ.ศ. 2441 โดยเปลี่ยนรูปทรงเจดีย์ใหม่ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ขยายฐานให้กว้าง 38 ศอก ความสูง 45 ศอก มีฉัตรขนาดเล็กจำนวน 4 ฉัตร รวมทั้งมีต้นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง อย่างละ 4 ต้น และมีฉัตรขนาดใหญ่ตรงยอดสูดขององค์เจดีย์ 1 ฉัตร และได้มีการบูรณะเจดีย์อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2499 โดยพระพุทธิญาณ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *