“ทุเรียน” กินถูกวิธีได้ประโยชน์ ไม่อ้วน ไม่ร้อนใน
“ราชาแห่งผลไม้ไทย” อย่าง “ทุเรียน” ออกอาละวาดตามท้องตลาดมาได้สักพักแล้ว ซึ่งในช่วงนี้ราคาขายอยู่ที่ราวๆกิโลกรัมละ 130 บาทขึ้นไป แต่มีพ่อค้าแม่ค้าบางรายหัวใส นำทุเรียนมาแบ่งขาย มีสตางค์หลักสิบก็สามารถซื้อกินให้หายอยากได้
“ทุเรียน” มีประโยชน์มากพอตัว สมกับรสชาติและราคา โดยทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง พร้อมวิตามินซี โพแทสเซียม และกรดอะมิโนซีโรโทเนอร์จิก ทริปโตเฟน และยังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันชั้นดีด้วย ซึ่งทุเรียนถือเป็นแหล่งไขมันสดที่ดีในอาหารไม่ผ่านความร้อนหลายๆชนิด ในตำราสมุนไพรไทยได้กล่าวไว้ว่า ส่วนต่างๆของทุเรียนสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ โดยใบมีรสขม เย็นเฝื่อน มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ และทำให้หนองแห้ง เนื้อทุเรียนมีรสหวาน ร้อน มีสรรพคุณให้ความร้อน แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิ เปลือกทุเรียนมีรสฝาดเฝื่อนใช้สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง แก้ฝี ตาน ซาง คุมธาตุ แก้คางทูม และไล่ยุงและแมลง ส่วนรากมีรสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ท้องร่วง
โดยในช่วงปี พ.ศ. 2463 มีบริษัทในนครนิวยอร์กได้ทำผลิตภัณฑ์จากผลทุเรียนเรียกว่า “Dur-India (เดอร์ อินเดีย)” เป็นอาหารเสริม แต่ละเม็ดประกอบไปด้วยทุเรียน พืชสกุลกระเทียมบางชนิดจากอินเดียและวิตามินอี บริษัทได้โฆษณาอาหารเสริมนี้ว่า “เปี่ยมไปด้วยพลังงานที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเข้มข้นในรูปแบบอาหารมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในโลกที่สามารถจะมีได้”
พร้อมกันนี้ ทุเรียนยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ กินทุเรียนในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และเส้นใยของมันมีส่วนช่วยในระบบขับถ่ายให้สะดวกยิ่งขึ้น
ทุเรียนนั้นมีประโยชน์มากมายก็จริง แต่ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องด้วยหากกินเข้าไป จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ร้อนในและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ดังนั้นควรกินทุเรียนในปริมาณที่พอดี ควรกินทุเรียนไม่เกิน 2 เม็ดต่อวัน และไม่ควรกินทุกวัน กินได้ประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็พอ ไม่เช่นนั้นความอ้วนจะถามหาเอาได้ง่ายๆ
เท่านี้ยังไม่พอ ผู้รู้แนะนำว่า ทุเรียนห่ามๆน้ำตาลน้อยกว่า โดยทุเรียนสุกพอดี ไม่สุกมากจนเกินไป จะมีดัชนีน้ำตาลน้อยกว่า และหากหลีกเลี่ยงได้ควรงดข้าวเหนียวทุเรียน เนื่องด้วย “ข้าวเหนียวทุเรียน” ที่ราดกะทิ จะทำให้อ้วน น้ำหนักเพิ่มขึ้น และมีอาการร้อนในตามมา
นอกจากนี้เมื่อได้กินทุเรียนไปแล้วต้องงดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มันจัด หวานจัดด้วย และข้อห้ามโดยเด็ดขาด ห้ามกิน “ทุเรียน” กับแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะทุเรียนมีสารกำมะถันมาก ซึ่งเป็นสารที่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ สารนี้จะเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว ทำให้เมาเร็ว ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อระบบหายใจ เกิดอาการร้อนใน และทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูงมากกว่าปกติ ถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการขาดน้ำได้ โดยข้อนี้ต้องระวังให้มาก
พร้อมกันนี้หากกินทุเรียนแล้วไม่อยาก “ร้อนใน” ก็ไม่ยาก เพียงกินทุเรียนพร้อมผลไม้เย็น ซึ่งในขณะที่คุณกินทุเรียน ควรกินผลไม้ที่มีธาตุเย็นหรือผักมีน้ำมากและพลังงานต่ำ ควบคู่กันไปด้วย เช่น แตงโม บวบ รากบัว มังคุด มะนาว ส้ม มะระ และสะเดา เป็นต้น หรือกินทุเรียนพร้อมน้ำเปล่าเยอะๆ เพื่อลดความร้อนในร่างกาย และควรกินน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นเข้าไปด้วย เช่น น้ำมะนาว น้ำใบบัวบก น้ำใบเตย เฉาก๊วย น้ำเก๊กฮวย น้ำหล่อฮั่งก๊วย และน้ำรากบัว เป็นต้น เพื่อป้องกันการร้อนใจ
สำหรับการเลือกซื้อทุเรียนนั้น วันนี้ “กรมวิชาการเกษตร” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวิธีการสังเกตลักษณะภายนอกของทุเรียนอย่างง่ายๆมานำเสนอ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของพ่อค้าแม่ค้าที่นำทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย โดยผลทุเรียนแก่พร้อมรับประทาน “ปากปลิง” จะบวมโตเห็ฯรอยต่อชัดเจน , “ก้านผล” แข็ง สีเข้ม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกสากมือ , “หนาม” ปลายหนามแห้ง สีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย , “ร่องหนาม” จะห่าง เมื่อบีบหนามเข้าหากันจะรู้สึกเหมือนว่ามีสปริง และ”พู” สังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้ชัดเจน
เพียงเท่านี้คุณๆก็จะได้กิน “ทุเรียน” อย่างเป็นสุข ไม่อ้วน ไม่ร้อนใน และได้ประโยชน์แบบเต็มๆ