“กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ” วัดสวนดอก
“กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ” เป็นสุสานหลวงที่ “เจ้าดารารัศมี” พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้อัญเชิญรวบรวมพระบรมอัฐิและพระอัฐิของเจ้าหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ครองนครเชียงใหม่มาประดิษฐานรวมกันไว้ ณ บริเวณลาน วัดสวนดอก พระอารามหลวง
ซึ่งเกิดจากพระดำริเมื่อปี พ.ศ. 2452 โดยพระราชชายา “เจ้าดารารัศมี” ทรงเห็นว่า กู่หรืออนุสาวรีย์เจ้าผู้ครองนครและพระญาติพระวงศ์ทั้งหลาย ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางทิศตะวันตก (บริเวณตลาดวโรรส แถวตรอกข่วงเมรุ) ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงคิดที่จะหาสถานที่ใหม่ ซึ่งก็คือบริเวณวัดสวนดอกในปัจจุบันที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง
ภายหลังเมื่อ “เจ้าดารารัศมี” พระราชชายา สิ้นพระชนม์ ก็ได้อัญเชิญแบ่งพระอัฐิของพระองค์มาประดิษฐานไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือแห่งนี้ และอีกส่วนหนึ่งประดิษฐานไว้ในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
การนำพระอัฐิและอัฐิของผู้ใดไปประดิษฐานในบริเวณกู่แห่งนี้ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ดูแลรับผิดชอบ 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายสายตระกูล ณ เชียงใหม่ และฝ่ายวัดสวนดอก โดยความเห็นชอบของเจ้าอาวาส จะถือหลักปฏิบัติว่าต้องเป็นอัฐิบุคคลที่เป็นลูกหลานและเครือญาติของเจ้าหลวง
ปัจจุบัน “กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ” ภายในวัดสวนดอก (พระอารมหลวง) แห่งนี้ ได้ถูกจดทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 เป็นที่เรียบร้อย
และในปัจจุบัน กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ประกอบไปด้วยกู่จำนวนมาก ภายในกู่จะบรรจุอัฐิเชื้อพระวงศ์ที่สำคัญ ดังนี้ 1.กู่พระเจ้ากาวิละ 2.กู่พระยาธรรมลังกา 3.กู่พระยาคำฟั่น 4.กู่พระยาพุทธวงศ์ 5.กู่พระเจ้ามโหตรประเทศ 6.กู่พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ 7.กู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ 8.กู่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ 9.กู่เจ้าแก้วนวรัฐ 10.กู่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา 11.กู่แม่เจ้าอุษา 12.กู่แม่เจ้าทิพย์เกษร 13.กู่แม่เจ้ารินคำ 14.กู่แม่เจ้าพิณทอง 15.กู่แม่เจ้าจามรี 16.กู่เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) 17.กู่เจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) 18.กู่เจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) 19.กู่ท่านผู้หญิงฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี และ 20.กู่เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่
สำหรับ “เจ้านายฝ่ายเหนือ” นั้น หมายถึง เจ้านายผู้สืบเชื้อสายในราชวงศ์ที่เคยปกครองอาณาจักรหัวเมืองเหนือ ซึ่งเข้ามาเป็นประเทศราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 อันได้แก่ เจ้าในราชวงศ์ทิพย์จักรที่ปกครองนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน ราชวงศ์น่านที่ปกครองนครน่าน และราชวงศ์เทพวงศ์ที่ปกครองนครแพร่
ในอดีตนั้น เจ้าผู้ครองนครต่างๆ จะมีอำนาจสิทธิ์ขาดปกครองดินแดนของตน แต่มีหน้าที่ต้องส่งเครื่องบรรณาการถวายให้แก่ราชสำนักสยาม เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี อย่างไรก็ตามราชสำนักสยามได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในราชสำนักประเทศราชหลายครั้ง จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกการปกครองแบบประเทศราช เพื่อรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะตำแหน่งเจ้าประเทศราชก็ให้สิ้นสุดเมื่อเจ้านครนั้นถึงแก่พิราลัย
ปัจจุบันเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ทิพย์จักรยังคงมีการสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น โดยคำว่า “เจ้า” เป็นเพียงการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มคนภาคเหนือ เพื่อเป็นการให้เกียรติตามธรรมเนียมล้านนา ไม่ใช่คำนำหน้าชื่ออย่างเป็นทางการตามกฎหมายเหมือนสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง