“เครื่องเขิน” งานหัตถศิลป์ถิ่นล้านนา
“เครื่องเขิน” เป็นงานหัตถศิลป์ของชาวล้านนาอีกอย่างหนึ่ง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวไทเขิน เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงภูมิปัญญาของผู้คนในการปรับแต่งวัสดุพื้นบ้าน ให้กลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประวันที่มีความวิจิตรงดงามและทรงคุณค่า ทั้งบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจของผู้เป็นเจ้าของ
“เครื่องเขิน” คือหนึ่งในงานหัตถกรรมที่มีอยู่แพร่หลายในเอเชียอาคเนย์ ในอดีตเครื่องเขินมีสถานภาพเป็นทั้งของใช้ในครัวเรือน ในชีวิตประจำวัน และเครื่องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตลอดจนรูปเคารพและงานศิลปกรรม สำหรับในประเทศไทยจะพบมากในล้านนา ซึ่งเชื่อว่า เครื่องเขิน ไม่ได้เริ่มมีในสังคมล้านนาช่วงฟื้นฟูเชียงใหม่ ใน “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่ได้ทำการกวาดตอนชาวไทเขินจากลุ่มน้ำแม่เขิน เมืองเชียงตุง แต่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในล้านนาก่อนหน้าที่พม่าจะเข้ามายึดครองดินแดนล้านนา ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารพม่าว่า “เมื่อพม่ายึดครองเมืองเชียงใหม่ ได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่และช่างฝีมือไปไว้ที่เมืองพม่าหลายครั้ง ช่างฝีมือหรือชาวเชียงใหม่ที่ถูกกวาดต้อนได้ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วยรัก เรียกว่า โยนเถ่ แปลว่าเครื่องยวน หรือเครื่องที่ประดิษฐ์โดยชาวยวนหรือล้านนา ปัจจุบันที่พุกามยังมีการทำโยนเถ่ ที่มีการตกแต่งลายขูดขีดแล้วถมลายเส้นด้วยสีต่างๆอยู่”
“เครื่องเขิน” เป็นภาชนะและเครื่องใช้ที่มีโครงสร้างเป็นเครื่องจักสานหรือไม้ เคลือบทาด้วยยางรักเพื่อความคงทน กันน้ำ และความชื้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มความสวยงามแก่พื้นผิวของภาชนะอีกด้วย โดยส่วนใหญ่โครงสร้างของเครื่องเขินจะนิยมใช้ “ไม้ไผ่สาน” เนื่องด้วยหาได้ง่ายในท้องถิ่นและมีน้ำหนักเบา โดยจะทาด้วยยางรักหลายชั้น การทารักในชั้นแรกจะเป็นการยึดโครงสร้างของภาชนะให้มั่นคง ส่วนการทารักในชั้นต่อๆไปเป็นการตกแต่งพื้นผิวให้เรียบ และการทารักชั้นสุดท้ายจะเป็นการตกแต่งให้เกิดความสวยงาม เช่น การเขียนลวดลาย การปิดทอง หรือการขุดผิวให้เป็นร่องลึก แล้วฝังรักสีที่ต่างกันเป็นลวดลายสวยงาม หากเป็นภาชนะของใช้ทั่วไปจะมีน้ำหนักเบา นิยมใช้รักสีดำและตกแต่งด้วยสีแดงของชาด และกรณีภาชนะที่ใช้ในพิธีต่างๆ จะทำการตกแต่งเชิงศิลปะ เช่น ใช้ทองคำเปลวประดับ บางชิ้นอาจมีการปั้น กดรัก พิมพ์รักให้เป็นลวดลาย เพื่อเพิ่มความงดงามให้แก่ภาชนะ โดย เครื่องเขิน ที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย ก็เช่น เชี่ยนหมาก พาน ขันโอ ขันน้ำ และถาด เป็นต้น
รูปทรงของเครื่องเขิน มักจะทำเลียนแบบจากธรรมชาติ โดยเอื้อประโยชน์ในการใช้สอยตามความต้องการของผู้ใช้ รูปทรงเหล่านี้มักจะเลียนแบบจากพืชพรรณไม้ รูปทรงจากสัตว์ รูปทรงกระบอก ทรงกลม ทรงเรขาคณิต รูปรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม และแปดเหลี่ยม รวมถึงรูปทรงที่ช่างคิดสร้างสรรค์ขึ้น ทั้งลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเฟื่อง ลายบัว ลานรักร้อย ลายประจำยาม ลายก้านขด ลายกระจัง ลายธรรมชาติ ตลอดจนภาพนิทานชาดก และลายสิบสองราศี
เครื่องเขิน โดยทั่วไปจะนิยมออกแบบให้มีลักษณะแข็งแรงทนทาน แต่มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นบิดตัวพอสมควร ไม่แตกหักเสียหายในทันทีทันใดเหมือนอย่างเครื่องปั้นดินเผา ซึ่ง เครื่องเขิน จะมีรูปแบบและรูปทรงที่หลากหลาย สนองตอบการใช้สอยในชีวิตประจำวัน ที่แพร่หลายและมีลักษณะเด่นๆ อาทิ…
“ปุง” เป็นภาชนะที่มีโครงเป็นเครื่องสานคล้ายกล่องข้าวเหนียว ก้นเป็นสีเหลี่ยม คอคอดทรงกระบอกมีฝาปิดคล้ายๆขวดโหลแก้ว ฐานของปุงจะทำด้วยไม้เป็นกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีเส้นหวายคาดรัดติดกับปุง โดยยึดกับคอของภาชนะ ตัวปุงมีลักษณะอ้วนป่อง ทาด้วยยางรักหนาพอสมควร จึงมีลักษณะแข็งแรง การตกแต่งส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนลวดลายด้วยชาด เป็นลายพันธุ์พฤกษาแบบพื้นเมือง ไม่นิยมรูปสัตว์ ลวดลายที่ตกแต่งจะเน้นด้านข้างของภาชนะทั้งสี่ด้าน ไม่นิยมติดทองคำเปลวหรืองานประดับกระจก ปกติจะมีรูสำหรับร้อยเชือกจากฐานไม้โยงผ่านหูปลอกหวายที่คอของภาชนะ สำหรับหิ้วหรือหาบ หน้าที่การใช้งานคือเป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืชและของใช้ส่วนตัว
“ขันหมาก” หรือ “เชี่ยนหมาก” ในแบบฉบับของชาวล้านนาจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่และหรูหรากว่าที่อื่นๆ มีโครงเป็นไม้ไผ่สานและขดเป็นทรงกระบอกกลมหรือหักเหลี่ยมโค้ง เป็นกล่องขนาดใหญ่สำหรับใส่ใบพลูข้างล่างและมีถาดเป็นฝาบิดข้างบนเพื่อรองรับตลับหมากขนาดเล็กที่ใช้ใส่เครื่องเคี้ยวอื่นๆ รวมทั้งมีดผ่าหมากและเต้าปูน ขันหมากส่วนใหญ่จะตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีชาดและรักพิมพ์ บางชิ้นมีการเติมทองคำเปลวเพื่อความวิจิตรหรูหรายิ่งขึ้น บางชนิดจะมีการตอดเบี้ยที่ตีนขันหมาก แสดงออกถึงความร่ำรวยและมีกินมีใช้ของเจ้าของ ซึ่งขันหมากเป็นทั้งภาชนะใช้สอยและเป็นหน้าเป็นตาและเป็นความภูมิใจของเจ้าของในการต้อนรับแขกที่มาเยือน
“ขันดอก” หรือพานใส่ข้าวตอก ดอกไม้ และเครื่องเช่นไหว้ มีลักษณะคล้ายจานที่ฐานยกสูง คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากจานเชิงของจีนที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา แต่ขันดอกจะมีส่วนจานและฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายอย่างชัดเจน ขันดอกโบราณนิยมทำจากไม้สักกลึงสองหรือสามตอนแล้วนำมาสวมต่อกันเป็นรูปพานทาด้วยยางรักและตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีดำสีแดงเป็นกลีบบัวสอดไส้ ขัดดอกใช้ใส่ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนไปวัดหรือในพิธีกรรม
“ขันโตก” เป็นภาชนะที่มีโครงสร้างและวัสดุเช่นเดียวกับขันดอก แต่มีขนาด การตกแต่ง และประโยชน์ในการใช้สอยที่ต่างกันออกไป โดยทั่วไปขันโตกจะเป็นไม้กลึง มีลูกติ่ง หรื ลูกกรง ประมาณ 6-8 ขา เป็นขาเชื่อมระหว่างตัวโตกและฐาน ขันโตกของชาวบ้านทั่วไปใช้เป็นโตกไม้ธรรมดาหรือทายางรักสีดำ สำหรับเป็นภาชนะรองถ้วยอาหาร ส่วนขันโตกของชนชั้นสูงและพระสงฆ์ นิยมทาชาดสีแดง มีขนาดใหญ่กว่าขันโตกของชาวบ้าน ในกรณีของขันโตกที่ทาชาดสีแดงมักใช้ในพิธีกรรม เช่น การจัดขันตั้ง (ขันไหว้ครู) ขันขวัญ (บายศรี) และขันใส่เครื่องไทยทานถวายพระ เป็นต้น
ตามบ้านเรือนของล้านนาในอดีต เราจะพบเครื่องเขินในรูปแบบของใช้ต่างๆอยู่ในตำแหน่งที่มีการใช้สอยของบ้าน อาทิ หีบผ้า เอิบ และกล่องใส่ของมีค่าอยู่บนหิ้งหรือฝ้าเพดาน ขันดอกขันไหว้ผีปู่ย่าอยู่ที่หิ้งไหว้ผีหัวนอนของผู้สูงอายุ ขันหมาก ขันเมี่ยง อยู่ที่หน้าเรือนพร้อมที่จะใช้รับแขก ขันโตก ปุงเมล็ดผักพันธุ์พืชอยู่ในครัวไฟ ของใช้เหล่านี้นอกเหนือจากการรองรับหน้าที่ของมันแล้ว ยังเป็นสมบัติที่มีไว้อวดอีกด้วย โดยบ้านเรือนใดที่มีขันหมากลวดลายสวยงามย่อมเป็นเกียรติเป็นศรีแก่เจ้าของบ้าน หีบผ้าเจ้าบ่าวเมื่อแห่ไปถึงบ้านเจ้าสาว บ่งถึงฐานะความมั่งมี อีกทั้งลวดลายประดับ ยังบอกถึงรสนิยมและฐานะทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของ งานประเพณีฟ้อนผีมด ผีเม็ง เซ่นไหว้ผีบรรพชนของแต่ละตระกูล จำเป็นต้องใช้ภาชนะเซ่นไหว้มากมาย ญาติพี่น้องย่อมนำเอาภาชนะขันดอก ขันไหว้ ของตนมาชุมนุมที่บ้านเจ้าภาพสำหรับพิธีการ ตระกูลใดมีเครื่องเขินขันดอกสวยงามก็เป็นที่กล่าวขานไม่น้อยหน้าใคร สายวงศ์ใดไม่มีภาชนะของใช้ที่วิจิตรงดงาม มักจะเป็นที่ดูถูกในสังคม จำต้องขวนขวายหาเก็บหาซื้อไว้เป็นสมบัติ
ทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่า ในอดีตนั้น “เครื่องเขิน” นอกจากจะถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นสิ่งบ่ชี้ถึงความมีฐานและรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของอีกด้วย ดั่งเช่นเครื่องใช้เครื่องประดับบ้านเรือนอันหรูหราในปัจจุบัน