แอมเนสตี้เรียกร้องไทย!!! ให้ความสำคัญเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มชายขอบ

ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างร้ายแรงที่สุดนับแต่เกิดการแพร่ระบาดมา “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” เรียกร้องทางการไทยให้จัดทำและดำเนินการที่ให้ความสำคัญในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มชายขอบ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มที่มักถูกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งผู้ต้องขัง ผู้ลี้ภัย และแรงงานข้ามชาติ แม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยมีสถิติผู้ติดเชื้อครั้งใหม่อยู่ที่ 9,186 คนและผู้เสียชีวิต 98 คน นับเป็นวันที่เกิดความเสียหายมากที่สุดจากการแพร่ระบาด ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคุณ “เอ็มเมอร์ลีน กิล” รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความเห็นว่า ในขณะที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เป็นระลอกที่สามซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนัก และในขณะที่ระบบสาธารณสุขมีความเสี่ยงว่ากำลังจะล่มสลาย ทางการควรดำเนินมาตรการที่ให้บุคคลทุกคนเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรมและเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับประชากรกลุ่มเปราะบางและชุมชนที่มีความเสี่ยง

แม้ว่าทางการจะได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำบางส่วนขององค์การอนามัยโลก โดยให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับผู้ทำงานด้านสุขภาพ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แต่ปัญหาการทุจริตที่รับรู้ในวงกว้างกลับบั่นทอนมาตรการดังกล่าว โดยมีนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มอื่น แทนที่จะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เปราะบาง

“การให้อภิสิทธิกับคนบางกลุ่มจากอิทธิพลของนักการเมือง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการซื้อเสียง และทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการฉีดวัคซีน ทางการต้องประกันอย่างแน่ชัดและเร่งด่วนในการจัดลำดับกลุ่มผู้ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้มีความโปร่งใสและเปิดให้ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นตัวแทนของประชากรกลุ่มเสี่ยงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการจัดลำดับดังกล่าว”

“แผนการจัดสรรวัคซีนในปัจจุบัน เผยให้เห็นการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มชายขอบ รวมทั้งผู้ต้องขัง แรงงานข้ามชาติแม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ลี้ภัย ประชากรที่ยากจนและคนไร้บ้าน กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเสียชีวิตจากโรคนี้”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้านสาธารณสุขต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส และให้มีการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และการรับมือกับโรคโควิด-19 เป็นภาษาที่กลุ่มผู้เข้าเมืองสามารถเข้าใจได้ รวมทั้งผู้ที่มาจากกัมพูชาและเมียนมา รัฐต้องดำเนินการให้บุคคลเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นกลาง และมีหลักฐานสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าใจถึงผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล และผลที่มีต่อสิทธิด้านสุขภาพของพวกเขา ทั้งนี้รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีน หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่แล้ว

“ทางการไทยต้องแก้ไขแผนการระดับชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดกระบวนการฉีดวัคซีนที่ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นธรรม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน”

ข้อมูลพื้นฐาน

ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นรอบที่สาม ซึ่งนับว่ามีความร้ายแรงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรค กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ยังคงเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากสุด

มาตรการการฉีดวัคซีนของประเทศเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยในเบื้องต้นเน้นการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุข ผู้ให้บริการที่จำเป็น และประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ดี กระบวนการนี้ประสบปัญหาเนื่องจากขาดความโปร่งใสในแง่ของการจัดซื้อวัคซีน และความล่าช้าในการจัดส่งหลายครั้ง

จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 มีประชากรเพียง 5.1% และเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม โดยประชากร 14.9% ได้รับการฉีดเข็มเดียว ส่วนใหญ่เป็นการฉีดด้วยวัคซีนซีโนแวค แอสตราเซเนกา หรือซีโนฟาร์ม

ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ทางการไทยประกาศมาตรการควบคุมใหม่ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาตรการใหม่เหล่านี้ รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว การจำกัดการเดินทาง การปิดห้างสรรพสินค้า และการจำกัดการทำกิจกรรมสาธารณะที่มีการรวมตัวของบุคคลห้าคนหรือมากกว่านั้น ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่สามารถออกจากบ้านระหว่างสามทุ่มถึงตีสี่

ตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 กรกฎาคม ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การละเมิดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่ประกาศใหม่นี้ อาจส่งผลให้ถูกจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ทั้งนี้รวมถึงการเสนอข่าวหรือการเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร

ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ มีบุคคลอย่างน้อยเจ็ดคน รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน และประชาชนทั่วไปที่วิจารณ์แผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ต้องถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกฎหมายข้อหลังกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนยันว่า การนำบทลงโทษทางอาญามาใช้ในการข่มขู่ และใช้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันไวรัส ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการปกป้อง คุ้มครองด้านสาธารณสุข การจับกุม ควบคุมตัวผู้ที่ละเมิดข้อห้าม จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น การบังคับใช้ข้อกำหนดเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 โดยใช้กองกำลังความมั่นคง มักส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับสมาชิกกลุ่มชายขอบ

รัฐจะต้องประกันว่า เมื่อมีการออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคก็จะต้องจัดให้มีการเข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายที่นำมาบังคับใช้เหล่านี้ และต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามาตรการควบคุมเหล่านี้ มีความจำเป็นและได้สัดส่วนกับการปกป้อง คุ้มครองด้านสาธารณสุขตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การสั่งห้ามแชร์ข้อมูลแบบเหมารวม ไม่ถือว่าเข้ากับหลักเกณฑ์นี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *