“แบงค์ชาติฯ” สรุปข่าวเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 2 ปี 2564

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดย นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2/2564 และแนวโน้ม” พบว่า เศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 2/2564 หดตัวจากไตรมาสก่อน ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสามตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ทำให้ ภาคการท่องเที่ยวและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวจากไตรมาสก่อน ส่วนรายได้เกษตรกรขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย จากราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ลดลง แต่ราคามันสำปะหลังและลำไยเพิ่มขึ้น ส่วนราคาสุกรเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่มีจำกัดและต้นทุนการป้องกันโรคระบาดเพิ่มขึ้น ด้านผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากข้าวและมันสำปะหลังที่ขยายพื้นที่เพาะปลูก และลำไยเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งจากฐานต่ำในปีก่อน ประกอบกับความต้องการของต่างประเทศในสินค้าหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องประดับ การส่งออกปรับดีขึ้นตามความต้องการของกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ผลผลิตหมวดแปรรูปอาหารหดตัวจากผลของฐานสูง แต่เมื่อหักผลของฐานแล้วยังถือว่าฟื้นตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชน ชะลอลง การลงทุนก่อสร้างกลับมาหดตัว การระบาดของ COVID-19 ระลอกสามทำให้โครงการก่อสร้างชะลอออกไป ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างชะลอลงมากโดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี การลงทุนเพื่อการผลิตขยายตัวเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากฐานต่ำในปีก่อน โดยธุรกิจขนส่งสินค้ายังมีความต้องการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ ส่วนการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรอุปกรณ์มีเฉพาะธุรกิจรายใหญ่บางรายเท่านั้นที่ลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวสูงจากไตรมาสก่อน จากการเร่งรัดการเบิกจ่าย รายจ่ายประจำขยายตัวจากหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มหาวิทยาลัย เทศบาลนคร เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงตามการใช้จ่ายหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ประปาหมู่บ้าน และแหล่งน้ำ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาพลังงานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ปรับลดลงต่อเนื่อง

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 3/2564 คาดว่าได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ที่ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้เร็ว เช่น Facebook Movement Range ที่แสดงการเคลื่อนไหวของคน และ SiteMinder ที่แสดงการจองห้องพักปรับลดลงเร็วหลังการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น และทางการเริ่มใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรภาคเหนือคาดว่าขยายตัวได้ แต่จะชะลอลงบ้างจากด้านราคาทั้งข้าวนาปีและลำไยที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ การเร่งกระจายวัคซีนให้เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัว และมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป

สถานการณ์ที่ธุรกิจและประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ธปท. ได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ โดยสามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564

ส่วนลูกหนี้รายย่อย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท คือ (1) บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล : ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น และจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง (2) สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ (3) เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ : กำหนดแนวทางในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม และปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงที่พักบนค่างวดที่พักชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้ (4) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน : เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท. www.bot.or.th และเว็บไซต์ทางด่วนแก้หนี้ www.1213.or.th/App/Debtcase รวมถึงติดตามโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนเพื่อเป็นแหล่งให้ข้อมูลและข้อแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้รายย่อยและธุรกิจ โดยศึกษาข้อมูลได้ทาง www.bot.or.th/app/doctordebt/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *