“หอคำหลวง” งดงามตระการตา ตามแบบฉบับ “ช่างสิบหมู่ล้านนา”

“หอคำหลวง” ถือเป็นอาคารสถาปัตยกรรมล้านนาที่โดดเด่นที่สุดใน “อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่” สร้างขึ้นโดยผ่านกระบวนการคิด และการออกแบบ จาก “ช่างสิบหมู่” พื้นบ้านล้านนาหลายสิบคน โดยมี “ช่างรุ่ง สล่าล้านนา” นายรุ่ง จันตาบุญ ผู้ชำนาญการด้านสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นล้านนา เป็นผู้ควบคุมการออกแบบ และออกแบบศิลปกรรมภายในอาคาร โดยอาจารย์ปรีชา เถาทอง ที่ปรึกษาโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ และศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรมปี พ.ศ. 2522 ซึ่งสร้างขึ้นจากการจำลองภาพหอคำหลวงของเจ้าเมืองเชียงใหม่ในอดีต

อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนจัดแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นกษัตริย์นักการเกษตรเอกของโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ที่ทรงอัจฉริยภาพ และทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลก ภายใต้แนวคิดว่า “พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว คือ ศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย”

สถาปัตยกรรมล้านนาที่สง่างามนาม “หอคำหลวง” เป็นอาคาร 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ชั้นล่างก่ออิฐถือปูนเป็นฐาน ชั้นบนจะใช้ไม้แดงและไม้สักเป็นองค์ประกอบหลักในการก่อสร้าง โดยตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินดิน มีจุดเด่นและเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมล้านนาที่สำคัญมากมาย ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ได้แก่

“วิหารซด” (หลังคา) ซึ่งจะซ้อนเกยกันตามลักษณะของการก่อสร้างหอคำหลวงเช่นในอดีต นอกจากนี้ วิหารซด ยังเป็นสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกถึงความเป็นที่ประทับของกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถปลูกสร้างเรือนเช่นนี้ได้ คือ มีหน้า 3 หลัง 2 โดยที่โครงสร้างของวิหารจะไม่ใช้ตะปูในการยึดติด แต่จะใช้ลิ่มสลักให้ไม้เชื่อมติดกัน เรียกว่าขึ้น ม้าต่างไหม ( ม้าต่างไหม มาจากลักษณะการบรรทุกผ้าไหมบนหลังม้าไปขายของพ่อค้าม้าในล้านนา) การขึ้น ม้าต่างไหม นั้น ช่างจะนำท่อนไม้มาเรียงซ้อนต่อตัวกันสามระดับ (รูปทรงคล้ายปิรามิด) และจัดวางให้สมดุลกัน โดยมีการลดหลั่นของหลังคาจากห้องประธานลงมาทางด้านหน้าและด้านหลัง เป็นชั้นเชิงที่สวยงาม ส่วนที่เป็นหลังคาก็ใช้ ดินขอ (หรือกระเบื้องดินเผา) มามุง ทั้งหมดนี้สามารถรื้อถอนนำไปประกอบใหม่ได้ ทั้งยังมีเสาไม้ขนาดใหญ่เป็นขารองรับน้ำหนัก ซึ่งเสาไม้นี้ก็มีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า เสาหลวง โดยเสาหลวงนั้น มีลักษณะทรงกลม ทาพื้นสีดำ และเขียนลวดลายรดน้ำปิดทองตลอดทั้งต้น

“ช่อฟ้า” อยู่เหนือจั่วของวิหาร จะมีรูปแกะสลักนกการเวกประดับอยู่ โดยนกการเวกเป็นสัตว์ในวรรณคดีมีปากเป็นจะงอยสวยงามมาก , “นาคทัณฑ์” หรือ คันทวย ซึ่งเป็นไม้ค้ำยัน ช่างแกะสลักเป็นรูปนกหัสดีลิงค์สวยงามและอ่อนช้อย

“หน้าบัน” และ “เสาซุ้มประตู” เป็นผลงานของช่างสิบหมู่พื้นบ้านจากอำเภอต่างๆในพื้นที่ภาคเหนือ โดยถือเป็นการรวมตัวกันครั้งยิ่งใหญ่ของศิลปินสกุลช่างล้านนา ทั้ง เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน โดยช่างทุกคนต่างวาดลวดลายการแกะสลักและปิดทองกันอย่างสุดฝีมือ ส่งผลให้เกิดเป็นชิ้นงานที่ละเอียดอ่อน เป็นความงามบนความเหมือนที่แตกต่าง ตามสไตล์ของช่างแต่ละพื้นที่ ถือเป็นการแสดงออกถึงจินตนาการและความคิดของช่างสิบหมู่ล้านนาแต่ละสกุล

“หน้าบัน” (หน้าแหนบ) มีการตกแต่งที่สวยงามเป็นพิเศษ โดยในส่วนนี้จะแตกต่างจากเรือนไทยภาคกลาง คือ บริเวณที่ต่ำลงมาจากหน้าบัน จะเป็นแผงเรียกว่า คอกีด ซึ่งช่างได้แกะสลักลวดลายต่าง ๆอย่างสวยงาม มีทั้งลวดลายดอกไม้ ลายประจำยาม รูปสัตว์ต่างๆ สุดแท้แต่จินตนาการของช่างล้านนา , “โก่งคิ้ว” คือส่วนที่ต่ำจากคอกีดลงมา มีลักษณะคล้ายกับสาหร่ายรวงผึ้งของภาคกลาง ส่วนด้านข้างที่เป็นปีกนกก็มีการแกะสลักลวดลายไว้อย่างงดงาม , “ปราสาทเฟื่องโคมไฟ” เป็นผลงานปูนปั้นที่ต้องการสื่อถึงความสว่างไสวโชติช่วง และ “พุ่มหม้อดอก” สื่อถึงความจงรักภักดี

ภายใน “หอคำหลวง” แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกแบบ 2 ชั้นด้วยกัน โดย “ชั้นบน” จะจัดให้เป็นหอเฉลิมพระเกียรติฯในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดให้มีการแสดงจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนา บอกเล่าเรื่องราวของพระองค์ อันเป็นพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาด้านต่างๆ ตรงกลางห้องโถง ประดับ “ต้นโพธิ์ทอง” หรือต้นบรมโพธิสมภาร ประกอบด้วยใบทั้งหมด 21,915 ใบ เป็นต้นไม้แห่งทศพิธราชธรรม ที่ใบมีการดูนอักษรนูนต่ำที่มีคำที่เป็นธรรม 10 ประการ เป็นภาษาบาลี อันหมายถึง ทศพิธราชธรรม อันเป็นธรรมะที่พระองค์ยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้เหล่าพสกนิกรอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ส่วน “ชั้นล่าง” เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในเหตุการณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493

ทั้งหมดนี้คือความสวยงามและคุณค่าของ “หอคำหลวง” ที่เหล่าช่างหรือสล่าทั้งหลายต่างพร้อมใจกันมาวาดลวดลายเชิงศิลป์อย่างสุดฝีมือ เพื่อฝากผลงานไว้ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่ลูกหลานสืบไป โดยหากท่านใดที่มีโอกาสมาเยือน “อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่” ไม่ควรพลาดที่จะมาเที่ยวชมและเก็บภาพ “หอคำหลวง” ไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-114110-5 หรือ FB : อุทยานหลวงราชพฤกษ์

(หมายเหตุ : แฟ้มภาพ)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *