“วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง” อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ในอำเภอแม่แตง

“พระพุทธอุตตมะโชติ” (อุดมโชค)

“วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง” ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏณ์แน่ชัด โดยมีตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า “พระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ เสด็จลงมาตามลำน้ำแม่ระมิงค์จนถึงถ้ำหลวงเชียงดาว และเสด็จถึงบริเวณนี้เมื่อสว่างที่เขาแห่งหนึ่งในเขตอำเภอแม่แตง สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า จอมแจ้ง”

วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง ขาดการดูแลมาหลายยุคหลายสมัยและได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ล่วงมาสมัย “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” นักบุญแห่งลานนา ที่ได้มาบูรณะและสร้าง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ประมาณปี พ.ศ. 2470 ครูบาเจ้าศรีวิชัย นิมิตว่ามีเทวดามาบอกว่า มีวัดสำคัญทางทิศเหนือกำลังรอครูบาไปบูรณะ และครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จตกบนดอยแห่งนี้ เมื่อถามชาวบ้านดูว่ามีใครทราบว่ามีวัดพระธาตุดอยจอมแจ้งหรือไม่ ชาวบ้านที่ไปช่วยกันก่อสร้างและทำบุญบอกว่ามี จึงพร้อมด้วยหลวงอนุสารสุนทร พร้อมด้วยชาวพุทธ พระภิกษุ สามเณร มีพระศรีวิชัยวัดแม่ขะจาน คอยอำนวยความสะดวกและเตรียมสถานที่พักครูบาศรีวิชัย ได้บูรณะพระเจดีย์ใหม่สูง 9 วา เปลี่ยนจากเจดีย์แบบพม่ามาเป็นแบบครูบาศรีวิชัย เนื่องด้วยองค์เดิมชำรุดมาก อิฐไม่สามารถใช้ได้ ฐานก็ไม่แข็งแรง เมื่อขุดตกแต่งจึงได้พบพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุไว้ในผอบทองคำและผอบเงินอย่างละ 3 ชั้น มีพระธาตุไหปลาร้าด้านขวา พระธาตุพระอุระ (กระดูกอก) และมีพระพุทธรูปทองคำอายุกว่า 500 ปี ชื่อ “พระเจ้าฝนแสนห่า” สำเภาเงิน สำเภาทอง เพชรนิลจินดา และของมีค่าต่างๆเป็นจำนวนมาก ครูบาศรีวิชัยให้ช่างบรรจุเอาไว้ในไห และเก็บไว้ในองค์พระธาตุตามเดิม ใช้เวลาบูรณะพระธาตุเจดีย์ทั้งสิ้น 30 วัน และได้บูรณะใหม่อีกครั้งโดยหุ้มโมเสทจากอิตาลี และยกฉัตรสมโภช เมื่อปีพ.ศ. 2535

นอกจากพระธาตุเจดีย์จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจในวัดแล้ว วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง ยังมีสิ่งที่นี่สนใจอีกมากมาย ได้แก่

“พระพุทธอุตตมะโชติ” (อุดมโชค) ประดิษฐานอยู่ข้างวิหารครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางที่พระชานุ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นอาการแสดงธรรม ซึ่งเรียกว่า “ปางโปรดสัตว์”

“พระพุทธรูปปางไสยาสน์” (พระนอน) ประดิษฐานภายในศาลาพระนอน เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *