“ผางประทีป” จุดบูชาเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณ และเชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิต

“ผางประทีป” มีลักษณะเป็นถ้วยประทีปหรือถ้วยเล็กๆ ทำด้วยดินเผามีรูปลักษณะแตกต่างกันไปตามฝีมือช่างแต่ละท้องที่แต่ละยุคสมัย โดยผางประทีปแบบเก่าที่พบในหลายแห่งจะมีขนาดใหญ่เท่าชามย่อมๆ ที่เหตุมีขนาดใหญ่นี้ก็เพื่อใส่เชื้อเพลิงได้เยอะ สำหรับให้แสงสว่างนาน ส่วนผางประทีปที่ทำขายสำเร็จรูป ที่มีทั้งประทีปน้ำมัน และตีนกา มักจะมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซ็นติเมตร

“ผางประทีป” คือ ประทีปที่เป็นเครื่องจุดไฟเป็นพุทธบูชาหรือบูชาสืบอายุ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้จุดแทนเทียนให้แสงสว่างเวลากลางคืน ตามความหมายดังกล่าวคำว่า ประทีป หมายถึง แสงไฟ ผาง หมายถึง ภาชนะรองรับน้ำมันหรือไขที่เป็นเชื้อเพลิงของประทีป รวมความ ผางประทีป ก็คือ เครื่องจุดไฟ

นอกจากถ้วยประทีปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ในผางประทีป คือ น้ำมันและตีนกา ซึ่งน้ำมันที่ใช้เติมลงในถ้วยประทีปนั้นสามารถใช้น้ำมันได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันถั่ว น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันงา รวมไปถึงน้ำมันที่ได้จากสัตว์ เป็นต้น โดยในปัจจุบันนิยมใช้ขี้ผึ้ง แต่ไม่พบว่านิยมใช้น้ำมันจากสัตว์ในประทีปที่บูชาพระ

สำหรับ “ตีนกา” หรือสีสาย หรือขี้สาย นั้น ทำจากด้ายฟั่นให้เป็นเชือกสองเกลียว แล้วดึงแยกเกลียวทั้งสองออกจากกัน เมื่อปล่อยมือเชือกเกลียวแต่ละเกลียวก็จะพันกันกลับเป็นเชือกอีกทีหนึ่ง จัดแต่งเชือกทั้ง 4 ชายให้เข้ากัน โดยจัดสามชายแยกออกจากกันเป็นสามแฉก เหมือนตีนกา และอีกชายหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของทั้งสามชาย ก็จะได้ตีนกาหรือสีสายตามต้องการ

ในล้านนา ตามเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของตีนกาที่ใช้เป็นไส้จุดประทีป หรือปรากฏในคัมภีร์ “อานิสงส์ผางประทีป” เล่าว่า เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ มีแม่กาเผือกกำลังกกไข่อยู่บนต้นไม้ใกล้แม่น้ำแห่งหนึ่ง เกิดมีลมพายุพัดรังกา ไข่ตกลงไปในแม่น้ำแล้วไหลไป แม่กาก็พลัดไปอีกทางหนึ่ง พอลมสงบแม่กาก็หาไข่ไม่พบ ก็ร้องไห้จนขาดใจตาย แล้วไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมบนสวรรค์ ส่วนไข่ 5 ฟอง ก็ถูกแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ (หรือบางตำราว่าคนซักผ้านำเอาไปเลี้ยง) เอาไข่ไปฟักตัวละฟอง พอโตขึ้นต่างก็ออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่า วันหนึ่งฤาษีทั้ง 5 มาพบกัน ต่างก็ถามถึงความเป็นมาของกันและกัน แต่ก็ไม่มีใครรู้จักแม่ที่แท้จริงของตนเลย จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ของตน ร้อนถึงท้าวพกาพรหมต้องลงมาพบ เล่าเรื่องอดีตให้ฟังและบอกว่า ถ้าคิดถึงแม่ให้เอาด้ายดิบทำเป็นรูปตีนกา แล้วจุดไฟในประทีปในวันยี่เป็ง คือวันเพ็ญเดือน 12

จากเรื่องเล่าดังกล่าว จึงได้มีการบูชาประทีปในเทศกาลเดือนยี่เป็ง ชาวล้านนาจะนำผางประทีปไปจุดตามวัดและฟังพระธรรมเทศนาอานิสงส์ พร้อมทั้งยังมีการตามประทีปและจุดบูชาตามรอบรั้วบ้าน หัวบันไดบ้าน บ่อน้ำ ครัว โดยกำหนดว่าพอพระเริ่มเทศน์ธรรมหรือคัมภีร์อานิสงส์ผางประทีป ก็จะจุดประทีปที่บ้านของตนขึ้นพร้อมกัน

นอกจากนี้ผางประทีบจะใช้จุดบูชาเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณ เพื่อสักการะต่อสิ่งต่างๆที่ได้ใช้ประโยชน์ อย่าง ประตูบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว ครัว หรือบันได้ แล้วยังเป็นการบูชาแสงสว่าง โดยเชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *