“วัดร้าง” ในเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่มี “วัด” มากมายเป็นพันวัด เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในอดีต ซึ่งจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน วัดหลายๆวัดยังคงสภาพเป็นวัดอยู่ดังเดิม บางวัดกลับกลายเป็นวัดร้าง เสื่อมโทรมไปตามสภาพ เหลือไว้ให้เห็นเพียงซากปรักหักพัง กองอิฐเก่าๆ และเจดีย์ ที่ซุกตัวอยู่ตามชุมชนและสถานที่ต่างๆ โดยวันนี้จะพาคุณๆไปสัมผัสเรื่องราวของ “วัดร้าง” ในเชียงใหม่ จะมีที่ใดบ้างนั้น มาดูกันครับ

เจดีย์ร้าง “วัดป่าแดงมหาวิหาร”

เจดีย์ร้าง “วัดป่าแดงมหาวิหาร”
“วัดป่าแดงมหาวิหาร” หรือที่เรียกติดปากกันว่า “วัดป่าแดง” ตั้งอยู่ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1974 โดยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย เพื่อเป็นที่พำนักของพระญาณคัมภีร์และคณะสงฆ์ที่เดินทางกลับมาจากลังกา เพื่อเผยแผ่ลัทธินิกายลังกาวงค์ใหม่หรือนิกายสิงหล

วัดป่าแดงแห่งนี้ ปรากฎให้เห็น “เจดีย์ร้าง” หนึ่งองค์ เรียก “เจดีย์วัดป่าแดงหลวง” เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บริเวณทางด้านตะวันออกของวัดในส่วนที่มีพระสงฆ์จำพรรษา เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1990 โดยพญาติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิพระราชมารดาและพระบิดา (พญาสามฝั่งแกน) ของพระองค์ ลักษณะประกอบของเจดีย์มีความสัมพันธ์กับเจดีย์ช้างล้อมศรีสัชชนาลัย ประกอบด้วยฐานเขียงทรงสี่เหลี่ยมซ้อนกันสองชั้น แล้วเคยปรากฏรูปปั้นช้างล้อมองค์เจดีย์ ลำตัวของช้างเหล่านั้นติดกับฐานเขียงทรงสี่เหลี่ยม แต่ปัจจุบันชำรุดหลุดร่วงไปหมดแล้ว ถัดจากฐานช้างล้อมเป็นฐานทรงแท่งรูปสี่เหลี่ยมยกสูง เจาะเป็นช่องซุ้มจระนำเป็นกรอบวงโค้งลักษณะคล้ายกรอบซุ้มหน้านางในศิลปะสุโขทัย โดยที่ช่องซุ้มนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 5 ซุ้ม รวม 20 ซุ้ม มีลักษณะคล้ายกรอบซุ้มหน้านางในศิลปะสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกา

ปัจจุบัน เจดีย์วัดป่าแดงหลวง(ร้าง) ยังหลงเหลือและมีความสมบูรณ์ให้เห็น มีบ้านเรือนรายล้อมอยู่รอบองค์เจดีย์

“วัดแสนตาห้อย”

“วัดแสนตาห้อย”
“วัดแสนตาห้อย” ตั้งอยู่ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ภายในบริเวณหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ตรงข้ามโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ วัดแห่งนี้ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียงเจดีย์ 1 องค์ เป็นเจดีย์แบบล้านนา ลักษณะเจดีย์เรือนธาตุสี่เหลี่ยมยกเก็จตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม เหนือเรือนธาตุเป็นชั้นมาลัยเถาซ้อนกันเป็นชั้นๆ และองค์ระฆังกลม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์และปล้องไฉน โดยจากรูปแบบของสถาปัตยกรรมดังกล่าว สามารถกำหนดยุคสมัยได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะแล้ว และได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 65 ลงวันที่ 22 เมษายน 2529

“วัดป่าตาล”

“วัดป่าตาล”
“วัดป่าตาล” ตั้งอยู่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (ซอยโปลี หลังธนาคารไทยพาณิชย์สาขาช้างเผือก) โดยในพงศาวดารโยนกเรียกชื่อว่า “วัดตาลวันมหาวิหาร” ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อมีการสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาโพธาราม (ปัจจุบันคือวัดเจ็ดยอด) พระธรรมทินมหาเถร เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ได้เป็นประธานในการสังคายนาในปี พ.ศ.2030 พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นด้วยทองสัมฤทธิหนัก 33 แสน บรรจุพระบรมธาตุ 500 องค์ ขนานนามว่า “พระป่าตาลน้อย” ประดิษฐานไว้ที่วัดป่าตาล ปัจจุบันคือ “พระเจ้าแข้งคม” ประดิษฐานในพระวิหารวัดศรีเกิด

เจดีย์วัดป่าตาลเป็นเจดีย์ร้างที่ไม่มีแนวเขตที่แน่นอน เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมทั้งสี่ด้าน ฐานด้านล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานซ้อนกันสามชั้น รองรับฐานบัวแบบพิเศษย่อเก็จ เหนือฐานบัวเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุสี่เหลี่ยมมีซุ้มอยู่ทั้งสี่ด้าน มีลวดลายปูนปั้นประดับประดาอย่างสวยงาม เหนือขึ้นไปจากชั้นเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังเจดีย์ แต่ไม่ปรากฏชั้นถลารับมาลัยเถา แต่เป็นชั้นลดที่ควรยกเก็จตามเรือนธาตุด้านล่าง ชั้นลดนี้มีขนาดเตี้ยรับชั้นฐานแปดเหลี่ยม องค์ระฆังกลมบังลังก์กลม ก้านฉัตร บัวฝาละมี ปล้องไฉนอิทธิพลคล้ายแบบสุโขทัย

“วัดปันสาท”

“วัดปันสาท”
“วัดปันสาท” เป็นวัดร้างที่ตั้งอยู่ ณ สถานีขนส่งช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพของวัดในปัจจุบันเหลือเพียงเจดีย์ร้าง เป็นเจดีย์รูปทรงพิเศษที่ไม่ปรากฏแบบแผน เข้าใจว่าคงเป็นเจดีย์ในรุ่นหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา เมื่อศิลปะเชียงใหม่ได้คลี่คลาย รับเอารูปแบบต่างๆมาผสมผสานและพัฒนารูปแบบขึ้นมาใหม่ ซึ่งเข้าใจว่ารูปแบบของเจดีย์น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์ลาวปราสาทหรือปรางค์มาด้วย คือเป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงคล้ายดอกข้าวโพด ประกอบด้วยฐานรองรับส่วนกลางที่เรียกว่าเรือนธาตุ และส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป คล้ายรูปแบบของปราสาทขอม มักนิยมเรียกเจดีย์ทรงปรางค์สั้นๆ ว่า “ปรางค์”

ปัจจุบันเจดีย์ร้างวัดปันสาท กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะและประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 10 ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2523

เจดีย์ร้าง “วัดอินทขีลสะดอเมือง”

เจดีย์ร้าง “วัดอินทขีลสะดอเมือง”
“วัดอินทขีลสะดือเมือง” ตั้งอยู่ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ติดกลับลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ วัดนี้เดิมทีเป็นวัดร้างและเคยเป็นที่ประดิษฐานเสาอินทขีล หรือเสาหลักเมืองของเมืองเชียงใหม่ สร้างโดยพระญามังรายมหาราชผู้ก่อตั้งนครเชียงใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.1839 ซึ่งคำว่า อินทขีล มาจากคำว่า อินทขีละ ในภาษาบาลี แปลว่า เสาเขื่อน , เสาหิน , หรือเสาหลักเมือง ส่วนคำว่า สะดือเมือง นั้นเนื่องจากวัดตั้งอยู่ใจกลางของเมืองเชียงใหม่ ผู้คนทั้งหลายจึงนิยมเรียกกันติดปากว่า วัดสะดือเมือง ดังนั้นทางวัดจึงตั้งชื่อว่า “วัดอินทขีลสะดือเมือง”

วัดอินทขีลสะดือเมือง ปรากฎเจดีย์ร้างให้เห็น 2 องค์ องค์แรกตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นฐานหน้ากระดานสูงใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานทรงกลมสามชั้น รองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตร บัวฝาละมี และปล้องฉไน โดยมีเจดีย์องค์เล็กศิลปะหริภุญชัยอยู่ภายใน ส่วนองค์ที่สอง ตั้งอยู่ในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ (หรือศาลากลางเก่า) เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ที่พงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวว่า บริเวณที่สร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมเคยเป็นสถานที่ที่พญามังรายต้องอัสนีบาตสวรรคต ต่อมาพระยาไชยสงคราม ราชโอรสทรงสร้างเจดีย์บรรจุพระอัฐิไว้ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมผสมเรือนธาตุแปดเหลี่ยม องค์ระฆังคว่ำ ซึ่งนิยมสร้างกันมากในสมัยหริภุญไชย ซึ่งพบที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า เจดีย์ดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19

“วัดเชษฐา”

“วัดเชษฐา”
“วัดเชษฐา” ตั้งอยู่ ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ ในโรงเรียนพุทธิโศภณ ปัจจุบันปรากฎให้เห็นเพียงองค์เจดีย์ วัดนี้สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2092 – 2094 โดยพระไชยาเชษฐาธิราช กษัตริย์เชียงใหม่ที่มาจากล้านช้าง ทรงสร้างเป็นอนุสรณ์ที่พระองค์มาปกครองเมืองเชียงใหม่ ลักษณะขององค์เจดีย์ เป็นแบบที่นิยมสร้างในสมัยพระเมืองแก้วลงมา
เป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมบนฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็ จลักษณะคล้ายเจดีย์วัดหัวข่วง และมีรูปทรงสถาปัตยกรรมอยู่ในกลุ่มเดียวกับพระธาตุดอยสุเทพ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ลักษณะเจดีย์ประกอบไปด้วย ฐานหน้ากระดานใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ มีมาลัยเถา เป็นรูปบัวถลาแปดเหลี่ยม ซ้อนกันห้าชั้นจนถึงองค์ระฆังกลม

ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนด ขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 98 ตอนที่ 177 ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524

“วัดเชียงของ”

“วัดเชียงของ”
“วัดเชียงของ” ตั้งอยู่ริมถนนราชเชียงแสน ตรงข้ามตลาดประตูเชียงใหม่ ปรากฎให้เห็นเพียงเจดีย์ร้างตั้งอยู่ระหว่างอาคารตึกแถว วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย เรียกชื่อว่าวัดเชียงสง เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวคว่ำรองรับชั้นลูกแก้วย่อเก็จสองชั้น ซึ่งมีเส้นลวดคาดชั้นละ 2 เส้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นสี่เหลี่ยมหักมุมมีลวดลายปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ เหลือเพียงองค์ระฆังค่อนข้างสูงไม่มีบัลลังก์

“วัดธาตุกลาง”

“วัดธาตุกลาง”
“วัดธาตุกลาง” ตั้งอยู่ถนนสุริยวงศ์ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย “วัดธาตุกลาง” เป็นชื่อเรียกโบรานสถานตามตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งเจดีย์ตั้งอยู่ระหว่างประตูขัวก้อมของกำแพงดินกับกำแพงเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันเหลือเพียงเจดีย์ 1 องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ ตั้งอยู่บนฐานปัทท์ยกเก็จ 2 ครั้ง เรือนธาตุสี่เหลี่ยมทรงสูงยกเก็จ 2 ครั้ง องค์ระฆังทรงโอคว่ำ บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด นับเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์เพียงองค์เดียวที่เหลืออยู่ในเขตล้านนา แสดงอิทธิพลของศาสนา และสถาปัตยกรรมของสุโขทัย หลังพุทธศตวรรษที่ 21

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งน้อยนิดของวัดร้างในเชียงใหม่เท่านั้น ในเชียงใหม่ยังมีวัดร้างอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วัดป่าอ้อย วัดหนองหล่ม วัดเลาเสียง และวัดพระเจ้าอมเมี่ยง เป็นต้น วัดเหล่านี้รวมถึงโบราณสถานต่างๆ ต่างเป็นเกียรติและสมบัติของชาติ เราคนรุ่นหลังต้องช่วยกันรักษาไว้!!!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *