ตามรอย “พระแก้วมรกต” เมืองเหนือ

“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองไทยมายาวนาน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือวัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร แต่ในอดีตนั้น พระแก้วมรกต ได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานยังเมืองสำคัญต่างๆมากมายในเมืองเหนือ ไม่ว่าจะเป็น เมืองกำแพงเพชร เมืองลำปาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ รวมไปถึง เมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ เป็นต้น ซึ่งการที่ได้มีโอกาสไปนมัสการและเยี่ยมชมโบราณสถานที่เกี่ยวข้องหรือเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตในอดีต นับเป็นการท่องเที่ยวที่มีความคุ้มค่าและเปี่ยมด้วย “คุณค่า” ยิ่งนัก

“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน ซึ่งจากการศึกษาประวัติศาสตร์แล้วนั้น พบว่าก่อนที่ พระแก้วมรกต จะมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร องค์พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานยังที่ต่างๆในแถบภาคเหนือของไทยมาก่อน รวมถึงยังได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันท์เป็นเวลายาวนานถึง 226 ปีอีกด้วย ดังที่วันนี้เราจะพาไปตามรอยเส้นทางประดิษฐานพระแก้วมรกต

“วัดพระแก้ว” กำแพงเพชร

มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระแก้วมรกตว่า ผู้สร้างพระแก้วคือพระนาคเสนเถระ พระอรหันต์เจ้าแห่งประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.500 ท่านต้องการบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป จึงดำริที่สร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วมณี เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเจ็ดพระองค์เข้าประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกต องค์พระแก้วเดิมประดิษฐานที่นครปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย ต่อมาเกิดสงคราม ประชาชนจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังลังกาทวีป และอยู่ที่เกาะลังกาเป็นเวลา 200 ปี

จากนั้นปี พ.ศ.1000 พระเจ้าอนุรุทธมหาราชแห่งเมืองศรีเกษตรพุกามประเทศ ซึ่งมีพระเดชานุภาพมาก ได้ส่งพระเถระไปขอพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกตจากลังกา โดยให้บรรทุกเรือสำเภามา แต่ระหว่างทางเกิดพายุลมแรงจนเรือสำเภาถูกพัดไปขึ้นที่กัมพูชา ภายหลังพระเจ้าอนุรุทธมหาราชได้ส่งคนไปขอพระแก้วมรกตคืน แต่พระนารายณ์วงศ์แห่งกรุงกัมพูชาให้คืนมาแต่พระไตรปิฎก ไม่คืนพระแก้วมรกตมาด้วย

ซึ่งหลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ ณ กรุงอินทปัตถ์ แคว้นกัมพูชา ก็เกิดอุทกภัยขึ้น เนื่องจากพายุฝนตกหนักเป็นเวลานาน พระมหาเถระได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสำเภาหนีไปยังที่ดอน พระเจ้าอาทิตยราชแห่งนครอโยธยา ทราบเรื่องจึงเสด็จกระบวนพยุหยาตราไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ในนครอโยธยา ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระบรมญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น ได้ทูลขอนำพระแก้วมรกตขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายรัชสมัย เชื่อกันว่า พระแก้วมรกตได้มาประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระแก้ว” โดยปัจจุบันอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

“วัดพระแก้ว” กำแพงเพชรนี้ เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีใหญ่ บนฐานยังมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์ล้อมรอบ วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบ

“วัดพระแก้ว” เชียงราย

จากตำนานข้างต้นของการประดิษฐานพระแก้วมรกตยัง วัดพระแก้ว กำแพงเพชร นั้น นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเป็นการแต่งเติมเสริมขึ้น เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่องค์พระแก้วมรกต ส่วนหลักฐานที่ปรากฏชัดจริงๆ เริ่มต้นขึ้นที่ “อาณาจักรเชียงแสน” หรือ “เมืองเชียงราย” ในปัจจุบัน โดยหลังจากที่พระเจ้าพรหมทัศน์ หรือท้าวมหาพรหม พระอนุชาของพระญากือนากษัตริย์เชียงใหม่ ทรงทราบว่าเมืองกำแพงเพชรมีพระแก้วมรกต พระเจ้าพรหมทัศน์มีพระราชประสงค์อยากจะได้ไว้เป็นศรีนครแก่นครเชียงแสน จึงทูลขอต่อพระเจ้ากำแพงเพชรด้วยสันถวไมตรี พระเจ้ากำแพงเพชรจึงได้ถวายพระแก้วมรกตให้นครเชียงแสน ต่อมานครเชียงแสนเกิดมีศึกกับเชียงใหม่ เจ้าผู้ครองนครเชียงแสนจึงได้ทำการพอกปูนองค์พระแก้วไว้จนทึบและลงรักปิดทองเสมือนพระพุทธรูปทั่วไป แล้วบรรจุเก็บไว้ในเจดีย์วัดป่าญะ ต่อมาเมืองเชียงแสนถูกตีแตกและถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในที่สุด

โดย “วัดป่าญะ” นั้น ปัจจุบันคือ “วัดพระแก้ว” อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งการพบพระแก้วมรกต ณ วัดแห่งนี้ เป็นการพบโดยบังเอิญ ใน พ.ศ.1977 สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้เกิดฟ้าผ่าลงบนเจดีย์ร้างองค์หนึ่งจนพังทลาย จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง และได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิก (จมูก) เกิดกระเทาะออก เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ เห็นเป็นเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์

ทุกวันนี้ วัดพระแก้ว เมืองเชียงราย เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตองค์ใหม่ นามว่า “พระพุทธรัตนากรนวุติวัสสานุสรณ์” หรือ “พระหยกเชียงราย” ที่ได้สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ.2533 เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระชนมายุครบ 90 พรรษา ขนาดหน้าตักกว้าง 47.9 เซนติเมตร สูง 65.9 เซนติเมตร (มีขนาดเล็กกว่าพระแก้วมรกตเพียง 1 เซนติเมตร) ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2534 และจังหวัดเชียงรายได้ประกอบพิธีแห่เข้าเมืองเชียงรายในวันที่ 19 ตุลาคม 2534

“วัดพระแก้วดอนเต้า” ลำปาง

จากการที่ได้พบพระแก้วมรกตที่เชียงรายโดยบังเอิญ ข่าวนั้นทราบไปถึงกษัตริย์เชียงใหม่ โอรสของแสนเมืองมาชื่อ “พระญาสามฝั่งแกน” ได้สั่งให้อำมาตย์อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นบนหลังช้างมาประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงใหม่ แต่ช้างที่อัญเชิญพระแก้วมรกตมากลับมุ่งหน้ามายังเมืองลำปางหรือเขลางค์นครแทน ไม่ว่าจะพยายามบังคับยังไงหรือแม้แต่ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาฟ้าดินก็ไม่สัมฤทธิ์ผล สุดท้ายต้องยอมตามใจช้างให้เดินทางมายังเมืองลำปาง และได้นำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ที่ลำปาง ณ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ.1979-พ.ศ.2011 เป็นเวลาถึง 32 ปี

สำหรับ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม มีตำนานที่น่าสนใจเล่าว่า “นางสุชาดาได้พบแก้วมรกตในผลแตงโม (หมากเต้า) และนำแก้วมรกตนั้นมาถวายพระเถระ พระเถระรูปจึงได้ให้ช่างนำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป คือ “พระแก้วดอนเต้า” ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง”

“วัดเจดีย์หลวง” เชียงใหม่

ในปี พ.ศ.2011 ในสมัยของพระเจ้าติโลกราชได้ครองเมืองเชียงใหม่ ครั้งนี้พระองค์จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากลำปางมายังเชียงใหม่ได้สำเร็จ และได้นำองค์พระแก้วไปประดิษฐานที่ซุ้มจระนำซึ่งอยู่ในผนังด้านหลังของพระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง จนถึงปี พ.ศ.2096 รวมระยะเวลาถึง 85 ปี

สำหรับวัดเจดีย์หลวงนั้น ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีองค์เจดีย์ขนาดใหญ่ที่ภายหลังใน พ.ศ.2088 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จึงทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง เหลือแต่เพียงฐานเจดีย์ หน้าประตูทางเข้าวิหารมีบันไดนาคเลื้อยเป็นรูปมกรคลายนาค ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร และในบริเวณวัดยังมีเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมือง ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราช ในปี พ.ศ.1839 และในทุกๆปี ประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีประเพณี “เข้าอินทขิล” เป็นการฉลองหลักเมือง

เมื่อพระแก้วมรกตประดิษฐานยังวัดเจดีย์หลวงมาจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งมีเชื้อสายเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์โพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และเป็นพระราชนัดดา ของมหาเทวีจิรประภาแห่งอาณาจักรล้านนา พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้มาครองเมืองเชียงใหม่ในราวปี พ.ศ.2096 แต่หลังจากนั้นพระองค์ต้องกลับไปปกครองเมืองหลวงพระบาง จึงได้นำพระแก้วมรกตไปยังหลวงพระบาง จนเวลาล่วงเลยมา 12 ปี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอำนาจ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเห็นว่าตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบางจะสู้ศึกมอญไม่ได้ จึงย้ายราชธานีไปตั้งอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พร้อมกันนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย โดยประดิษฐานที่หอพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2096-2322 รวมเวลายาวนานถึง 226 ปี

ก่อนที่ในท้ายที่สุดพระแก้วมรกตจะกลับคืนสู่สยามอีกครั้งในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในขณะนั้น ได้เป็นจอมพลขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อได้เมืองเวียงจันทน์มา จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางลงมายังกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทำการสมโภชแล้วประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณฯ กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.2322-2327 เป็นเวลา 5 ปี ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสร้างพระอารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต ครั้นพอพระอุโบสถสร้างเสร็จ จึงโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตแห่มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ 2327 จนถึงปัจจุบัน

ดั่งมีความในเรื่อง “ตำนานพระแก้วมรกต” ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับอาลักษณ์อ่านในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น เนื่องในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล พิมพ์ในหนังสือ ตำนานพระแก้วมรกตฉบับสมบูรณ์ ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร (พ.ศ.2504) กล่าวถึงพระราชพิธีตอนสถาปนาพระนครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่า…

“ชีพ่อพราหมณ์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร แลสมโภชพระอารามกับทั้งพระนครถ้วนคำรบสามวันเป็นกำหนด จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับพระนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทราอยุธยาบรมราชธานี เพราะเป็นที่เก็บรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ไว้เป็นเครื่องสิริสำหรับพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ผู้สร้างพระนครนี้”

(หมายเหตุ : ในภาพ พระแก้วมรกต วัดพระแก้ว เชียงราย)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *