เที่ยววัดไหว้พระ รับพร ที่ “เชียงราย”

“จังหวัดเชียงราย” จังหวัดเหนือสุดแดนสยาม เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเชียงรายมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคก่อตั้งหิรัญนครเงินยางเชียงแสนและอาณาจักรล้านนา ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และอื่นๆอีกมากมาย โดยวันนี้จะขอพาคุณๆมาสัมผัสเชียงราย กับ “วัด” ที่คุณไม่ควรพลาด

“วัดพระแก้ว”
วัดพระแก้ว เชียงราย ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์ กลางเมืองเชียงราย เดิมมีชื่อว่า วัดป่าญะหรือป่าเยียะ (ป่าไผ่ชนิดหนึ่ง) เป็นวัดที่ค้นพบ “พระแก้วมรกต” หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) กรุงเทพมหานครฯในปัจจุบัน ซึ่งตามประวัติเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 1977 ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นเจ้าเมืองครองเมืองเชียงใหม่อยู่นั้น ได้เกิดฟ้าผ่าลงบนองค์เจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมาจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองต่างๆ คือ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานครตามลำดับ ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478 และได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2521

สิ่งที่น่าสนใจในวัดพระแก้ว ได้แก่
“พระเจดีย์” ที่ค้นพบพระแก้วมรกต ที่กรมศลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว / “พระอุโบสถ” เป็นพระวิหารทรงเชียงแสน มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2433 เป็นที่ประดิษฐานของ “พระเจ้าล้านทอง” พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิปปาละที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย / “หอพระหยก” อาคารทรงล้านนาโบราณ เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” หรือ “พระหยกเชียงราย” บนผนังอาคารแสดงกิจกรรมจากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ 19 ตุลาคม 2534 และ “พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว” เป็นอาคารทรงล้านนาประยุกต์ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 โดยมีคุณอมรา (แสงแก้ว) มุนิกานนท์ เป็นผู้อุปถัมภ์ ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบทันสมัย

“วัดพระสิงห์”
วัดพระสิงห์ เชียงราย เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ปรากฏประวัติการสร้างแน่ชัด โดยวัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ถนนท่าหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองไทย คือ “พระพุทธสิหิงค์” หรือ “พระสิงห์” ปัจจุบันวัดพระสิงห์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์จำลอง ศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 66 เซนติเมตร

ภายในวัดพระสิงห์ เชียงราย มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่
“พระอุโบสถ” ประดิษฐาน “พระสิงห์หลวง” ศิลปะล้านนา ปางมารวิชัย สำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง 2.04 เมตร สูงทั้งฐาน 2.84 เมตร ที่ฐานมีจารึกอักษรธรรมล้านนาว่า “กุลลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพยากตา ธมฺมา” อันหมายถึง ปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ในทางพระพุทธศาสนาที่ระบุว่า สภาวะธรรมทั้งปวงมี 3 ประเภท คือ ธรรมทั้งหลายที่เป็น “กุศล” ก็มี ธรรมทั้งหลายที่เป็น “อกุศล” ก็มี ธรรมทั้งหลายที่อยู่นอกเหนือจาก “กุศลและอกุศล” ก็มี โดยพระอุโบสถสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2433 สันนิษฐานว่าสร้างบนฐานเดิมของวิหารในยุคล้านนา ซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดงามเมือง(หลังเก่า) และวัดพระแก้ว สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบและก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน

“บานประตูหลวง” ทำด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างประณีต เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดย อ.ถวัลย์ ดัชนี เป็นเรื่องราวของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันหมายถึง ธาตุทั้ง 4 ที่มีอยู่ในร่างกาย คนเราทุกคน ดิน คือ เนื้อ หนัง กระดูก น้ำ คือ ของเหลวต่างๆที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต ปัสสาวะ ลม คือ อากาศที่เราหายใจเข้าออก ลมปราณที่ก่อเกื้อให้ชีวิตเป็นไป และไฟ คือ ความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารเกิดพลังงาน ซึ่ง อ.ถวัลย์ ดัชนี ถ่ายทอดธาตุทั้ง 4 ออกมาเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ 4 ชนิด เพื่อการสื่อความหมายโดยให้ ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของ ดิน นาค เป็นสัญลักษณ์ของ น้ำ ครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของ ลม และสิงโต เป็นสัญลักษณ์ของ ไฟ ผสมผสานกันโดยมีลวดลายไทยเป็นส่วนประกอบ

“พระสิงห์น้อย” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา หน้าตักกว้าง 37 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 66 เซนติเมตร สำริดปิดทอง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนบุษบกในวิหารแก้ว พระสิงห์น้อยองค์นี้ ครูบาปวรปัญญาได้นำมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2386 หามนำหน้าขบวนราษฎรที่ถูกเกณฑ์มาฟื้นฟูเมืองเชียงราย / “วิหารแก้ว” เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระสิงห์น้อย เป็นวิหารไม้แบบไม่มีผนังปิดรอบ มีผนังเฉพาะหลังพระประธาน หลังคาทรงมะนิลาแบบมีจั่วเข้าด้านหน้าสร้างคลุมบันไดทางขึ้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์น้อย / “พระเจดีย์” เป็นพุทธศิลป์แบบล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2492 โดยพระครูสิกขาลังการ เจ้าอาวาสในขณะนั้น และได้รับการบูรณะอีกหลายครั้งในสมัยต่อมา

“วัดกลางเวียง”
วัดกลางเวียง วัดจันทโลก หรือวัดจันทโลกกลางเวียง ตั้งอยู่บนถนนอุตรกิจ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีเสาหลักเมืองเชียงรายตั้งอยู่ สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1975 เดิมทีชาวบ้าน เรียกว่า วัดจั๋นตะโลกหรือวัดจันทน์โลก เพราะในวัดมีต้นจันทน์แดงขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ ถือเป็นไม้มงคลใช้บูชาพระตามธรรมเนียมโบราณ จนกระทั่งเมื่อมีการรังวัดเมืองเชียงรายใหม่ และพบว่าวัดแห่งนี้อยู่ใจกลางเมืองพอดี จึงได้สถาปนาสะดือเวียงหรือเสาหลักเมืองขึ้น ปัจจุบันเสาหลักเมืองเก่าได้ล้มไปนานแล้ว ในปี พ.ศ. 2535 จึงได้สร้างเสาหลักเมืองขึ้นมาใหม่ ประดิษฐานอยู่ในมณฑปทรงฟักทองยอดแหลม บริเวณที่ตั้งเสาหลักเมืองเดิม ภายนอกมีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาล ทำหน้าที่พิทักษ์สะดือเวียงตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ส่วนตำแหน่งที่เคยมีต้นจันทน์แดงอยู่นั้น ปัจจุบันทางวัดได้สร้างเจดีย์ขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจในวัด ได้แก่
“วิหาร” สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2534 เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ บันไดทางขึ้นทำเป็นรูปพญานาคคายจากปากมกร มีรูปปั้นพญาราชสีห์และตุงกระด้าง 1 คู่ / “พระประธาน” เป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัย เดิมเป็นศิลปะสกุลช่างไทขืน ต่อมาได้บูรณะโดยก่อพอกทับองค์เดิม เป็นรูปแบบศิลปะล้านนา ลงรักปิดทองทั้งองค์ มีชื่อว่า “พระเจ้าเพชรมงคลมุนี” / “พระเจดีย์” เดิมเป็นพระเจดีย์ปัญจมหาธาตุ พ.ศ. 2539 ได้สร้างพระธาตุช้างค้ำครอบพระเจดีย์ปัญจมหาธาตุ ประดับซุ้มจระนำด้วยพระพุทธรูป ฐานเจดีย์มีช้างทรงเครื่องรายรอบ ฐานรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ฐานสูง องค์ระฆังเล็ก และ “เสาสะดือเมือง” ศาลสะดือเมืองเชียงราย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2417 สมัยพระยารัตนอาณาเขต (เจ้าอุ่นเรือน)

“วัดร่องเสือเต้น”
วัดร่องเสือเต้น ตั้งอยู่ในชุมชนร่องเสือเต้น ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย อดีตเป็นวัดร้าง มีเศษซากอิฐโบราณสถาน ต่อมาชาวบ้านมีความคิดริเริ่มจะสร้างวัด เนื่องจากชาวบ้านร่องเสือเต้น ไม่มีที่ทำบุญในหมู่บ้าน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าว่า “สมัยนั้นบ้านเรือนยังมีไม่มากนัก แต่มีสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเสือ ชาวบ้านที่ผ่านแถวนั้นมักชอบเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไปมา จึงเรียกบริเวณนี้ต่อๆกันมาว่า ร่องเสือเต้น รวมถึงหมู่บ้านก็เรียกว่า บ้านร่องเสือเต้น เมื่อชาวบ้านได้บูรณะวัดร้างจึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดร่องเสือเต้น”

วัดนี้มีพระอุโบสถสีน้ำเงินที่สวยงาม สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบไทยประยุกต์ที่แปลกตา จากฝีมือการรังสรรค์ของ นายพุทธา กาบแก้ว หรือสล่านก ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งเป็นศิลปประยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ใช้เฉดสีเป็นสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทอง ลวดลายต่างๆมีความพริ้วไหว โดยเฉพาะประติมากรรมบันไดพญานาคมีความชดช้อยและลวดลายแตกต่างจากประติมากรรมทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน “พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ” เป็นพระพุทธรูปสิงห์หนึ่งสีขาวมุก ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 6.5 เมตร มีพระรอดลำพูนจำนวน 88,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ใต้พระพุทธรูปองค์นี้ รวมทั้งบริเวณพระเศียรก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ด้านหลังวิหารมีพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติสูงเทียบเท่ากับวิหารตัดกับสีน้ำเงินฟ้าสลับทอง

“วัดห้วยปลากั้ง”
วัดห้วยปลากั้ง ตั้งอยู่ในตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งโดยพระอาจารย์ พบโชค ติสสะวังโส โดยสภาพเดิมนั้นเป็นเพียงเนินเขาที่มีซากของวัดร้างและพงหญ้ารก พระอาจารย์พบโชคซึ่งขณะนั้นเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดร่องธาร มีจิตศรัทธาต้องการบูรณะ จึงได้ย้ายไปพำนักอยู่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 โดยมีชาวชุมชนห้วยปลากั้งร่วมบูรณะ

สิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้ ได้แก่
“พบโชคธรรมเจดีย์” เจดีย์รูปทรงแปลกตา ลักษณะเป็นทรงแหลมผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและล้านนา หลังคาสีแดงมีรูปปั้นมังกรทอดยาวทั้งสองข้างบันได มีทั้งหมด 9 ชั้น ล้อมรอบด้วยเจดีย์เล็กๆ 12 ราศี ชั้นแรกมีองค์เจ้าแม่กวนอิมปางประทานพรที่มีขนาดใหญ่ แกะสลักด้วยไม้จันทร์หอมที่นำมาจากประเทศจีน อินเดีย พม่า ชั้น 2 ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมปางประทับยืน ชั้น 3 เจ้าแม่กวนอิมปางประทับนั่ง ชั้น 4 หลวงพ่อพระพุทธโสธรจำลอง ชั้น 5 เจ้าแม่กวนอิมปางพันมือ ชั้น 6 หลวงปู่โต พรหมรังสี และหลวงปู่ทวด ชั้น 7 พระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งถือเป็นชั้นสวรรค์ดาวดึงห์ ปกป้องคุ้มครองปฐพี ชั้น 8 พระสังกัจจายน์หรือพระศรีอริยเมตไตรย เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ประทานทรัพย์ ประทานพร และชั้น 9 พระอิศวร

“พระอุโบสถ์ขาว” อลังการด้วยลวดลายปูนปั้นทั้งหลัง ภายในประดิษฐานองค์พระประธานสีขาว และยังมีลวดลายปูนปั้นบริเวณผนังที่งดงามไม่แพ้กัน และ “องค์เจ้าแม่กวนอิม” ซึ่งเป็นองค์เจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูงประมาณ 79 เมตร เทียบเท่ากับตึกสูง 25-26 ชั้น เชื่อกันว่าหากใครมาขอพรในเรื่องสุขภาพ การเงิน การงาน จะได้พรนั้นกลับไป ระหว่างทางเดินขึ้นไปสักการะเจ้าแม่กวนอิมประดับด้วยรูปปั้นมังกรสีขาวที่อ่อนช้อยงดงาม ภายในองค์เจ้าแม่กวนอิมสามารถขึ้นไปชมวิวของวัดได้

“วัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ”
วัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณ ตั้งอยู่บนดอย “ม่อนแสงแก้ว” บ้านป่าตึง ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ตรงกับเดือนแปดเป็งของล้านนา ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนหก โดยวัดนี้เกิดขึ้นมาจากนิมิตของ “พระครูบาอริยชาติ อริยจิตโต” ได้นิมิตพบว่า เห็นฝนตกหนัก เดินหลงทาง ก็ได้เห็นป่าทั้งป่าบนภูเขา มีดอกบัวบานเต็มไปหมด มีแสงสว่างไสวสวยงาม แสงเรืองรองเหมือนแสงแก้วกลายเป็นดอกบัว อีกนัยหนึ่งคือ โพธิญาณ หมายถึง หยั่งรู้ เหมือนบัวที่ผุดโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ แล้วเปล่งแสง คล้ายแสงแก้ว ซึ่งหลังจากที่ท่านนำเรื่องนิมิตไปบอกกล่าว กับพ่อหลวงยา ศรีทา และเริ่มเดินทางค้นหาสถานที่ตามนิมิต ก็ได้พบยอดเนินบนบ้านป่าตึงงาม จึงได้จุดธูปเทียนพร้อมทั้งกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล และตั้งจิตอธิษฐานว่า “หากสถานที่แห่งนี้ แม้เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่อันเป็นมังคละคู่บารมีท่านในการที่จะได้จรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไป แล้ว ขอให้ได้ที่ดินผืนนี้มา”

เจ้าของที่ดินทราบข่าวจึงได้ถวายที่ดินประมาณ 19 ไร่เศษให้กับท่านครูบาอริยชาติ อริยจิตโต เพื่อสร้างวัด เป็นศูนย์รวมจิตใจและทำนุบำรุงพุทธศาสนาสืบไป

ในวัดพระธาตุแสงแก้วโพธิญาณมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ รูปเหมือนแทนพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า มีสิงห์คู่ตัวใหญ่ และบันไดนาค / ยักษ์และเทวดา ซึ่งเป็นปริศนาธรรมของพระครูบาอริยชาติ ยักษ์สองตนด้านขวาในมือมีทั้งบุหรี่และเหล้า ทำสัญลักษณ์มือบอกรัก ส่วนที่เท้าก็มีทั้งรองเท้าแตะและรองเท้าผ้าใบคอนเวิร์ส เรียกได้ว่าเป็นปริศนาธรรมที่ผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับวัตถุสมัยนิยม

“วิหารหลวงลายคำ” ประดิษฐาน “พระแสงแก้วโพธิญาณ” พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ทรงเครื่องล้านนา และการจำลองเรื่องโลกและจักรวาล ที่ประกอบไปด้วย เทพนพเคราะห์ 9 องค์ แทนด้วยวันทั้ง 9 มี อาทิตย์ , จันทร์ , อังคาร , พุธ , พฤหัสบดี , ศุกร์ , เสาร์ , ราหู , เกตุ และพระตรีมูรติแทนด้วยโลกทั้งสาม ทั้งยักษ์หลับและยักษ์ตื่นแทนกลางคืนและกลางวันในความหมายทางโลก ซึ่งหากเป็นความหมายทางธรรม หมายถึง พุธโธ คนเราทำอะไรให้มีสติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *