“ฌอน โอนีลล์” เปิดกงสุลพบสื่อ ชูกงสุลแห่งใหม่สถาปัตยกรรมร่วมสมัย กลมกลืนกับวัฒนธรรมล้านนา และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ฌอน เค.โอนีลล์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ เปิดสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดใหม่ ให้สื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และเชียงรายเข้าเยี่ยมชม พร้อมทั้งชูสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่แห่งใหม่ สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกลมกลืนกับวัฒนธรรมล้านนา และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

ฌอน เค.โอนีลล์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ กล่าวว่า “สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 มีหน้าที่ดูแลจังหวัดภาคเหนือ 15 จังหวัด เป็น 1 ใน 5 แห่งของสถานกงสุลในเชียงใหม่ และเป็น 1 ใน 10 แห่งของสถานกงสุลที่ตั้งอยู่นอกกรุงเทพฯ สถานกงสุลฯแห่งนี้เป็นสถานที่อันเก่าแก่ 72ปีที่ผ่านมาสถานกงสุลฯได้ให้บริการแก่ชาวไทยและชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ ทั้งยังทำงานร่วมกับหลายฝ่ายในด้านการสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความความมั่งคั่ง และปกป้องทั้งชาวไทยและอเมริกันในเรื่องของความปลอดภัย

72 ปีของสถานกงสุลแห่งนี้ ที่นี่เป็นเรือนโบราณที่สวยงามมากและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ที่นี่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการทำงานโดยเฉพาะ สองสามปีที่ผ่านมาได้ตระหนักว่าหลังจากที่ใช้สถานกุงสุลแห่งนี้ทำงานมา 72 ปี ถึงเวลาที่จะต้องย้ายไปสถานที่แห่งใหม่ที่ทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสถานที่ที่รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก โดยสถานกงสุลแห่งใหม่ได้มาตราฐานความปลอดภัยทั้งของอเมริกาและไทย ใช้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยที่สุด เพื่อที่จะมั่นใจว่าอาคารแห่งใหม่จะเคารพขนบธรรมเนียมของล้านนา ปกป้องสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้ประโยชน์จากน้ำฝนเพื่อนำไปรดน้ำต้นไม้ ทั้งน้ำทิ้งยังนำมาบำบัดแล้วนำกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้ ไม่ปล่อยน้ำเสียออกไปด้านนอกโดยไม่มีการบำบัด ทั้งอาคารยังมีการปลูกต้นไม้ไว้ด้านบนดาดฟ้าและรอบๆ พร้อมมีแผงโซล่าเซล์ มีสถานที่จอดรถมากขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น มีพื้นที่สำหรับการบริการที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้มาใช้บริการได้รับการบริการที่เร็วขึ้น

สำหรับสถานกงสุลแห่งใหม่ ไม่ได้มีการสร้างบ้านพักกงสุลใหญ่ กงสุลใหญ่ท่านต่อไปอาจจะใช้สถานกงสุลเก่าหลังนี้เป็นที่พัก หรือจัดกิจกรรมต่างๆตามสมควรต่อไป”

สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่แห่งใหม่นี้ สำนักงานปฏิบัติการด้านอาคารในต่างประเทศ (OBO)ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเป้าหมายที่สำคัญหลายประการให้กับทีมงานก่อสร้าง ได้แก่ สร้างอาคารสถานที่ที่ปลอดภัยและใช้งานได้จริงสำหรับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลฯและผู้มาเยือน สร้างพื้นที่ใช้งานทางสังคมที่เหมาะสม มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับการขยายตัวในอนาคต ก่อให้เกิดการใช้งานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น พัฒนาอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่า
และวัฒนธรรมอเมริกันได้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงวัฒนธรรม สภาพอากาศ และรูปแบบดั้งเดิมของท้องถิ่นด้วย

ในการออกแบบได้ออกแบบในลักษณะไทยโบราณของภาคเหนือ แบ่งพื้นที่สำหรับคนทั่วไปและพื้นที่ส่วนตัวออกจากกัน ซึ่งทีมงานได้นำมาใช้ในหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยและการทำกิจกรรมเฉพาะของสถานกงสุล แผนผังสถานกงสุลแบบร่วมสมัยแห่งนี้ใช้แนวคิดสถาปัตยกรรมในโครงสร้างแบบไทย 3 แนวคิดหลักด้วยกัน ได้แก่ 1.กุฏิ เป็นโครงสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็กสำหรับพระภิกษุในบริเวณวัด ซึ่งเรียงกันเป็นแถวและแยกออกจากกันด้วยงานภูมิทัศน์ การใช้แนวคิดกุฏิจะแบ่งพื้นที่การทำกิจกรรมของสถานกงสุลออกเป็น 4 ส่วนย่อยที่เชื่อมต่อกัน 2.ล้านนา สถาปัตยกรรมล้านนาแยกระนาบพื้นออกจากชั้นหลักสำหรับบุคคลทั่วไปของอาคาร พื้นที่ในร่มด้านล่างเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ทั้งยังช่วยระบายอากาศสำหรับโครงสร้างปิดที่อยู่ด้านบนอีกด้วย วิธีการนี้จะแยกสถานกงสุลออกเป็น 2 ส่วน โดยมีระเบียงส่วนกลางที่ยกสูงเป็นตัวเชื่อม และ 3.ชาน บ้านตามแบบชาวเหนือมีการจัดเรียงเป็นห้องๆรอบชาน ซึ่งเป็นระเบียงส่วนกลาง วิธีการนี้จะช่วยให้เกิดพื้นที่ขนาดเล็กเรียงรายรอบพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน เช่นเดียวกับศาลาในสถานกงสุลปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อปรับเปลี่ยนตามกิจกรรมการใช้งานของสถานกงสุลได้

ด้านกาารสร้างพื้นที่ใช้งานทางสังคม พื้นที่หลักทั้ง 4 ส่วนของสถานกงสุลเชื่อมต่อกันด้วยพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่ทำกิจกรรมทางสังคมที่ติดกับงานภูมิทัศน์ แผนผังอาคารเน้นรูปแบบอาคารในเมืองและขยายพื้นที่สาธารณะด้านหน้าให้กว้างที่สุดทั้ง 3 ด้าน ในขณะที่โครงสร้างรองรับและที่จอดรถอยู่ติดกับส่วนการให้บริการที่อยู่ใกล้เคียงทางทิศเหนือ กลยุทธ์นี้ช่วยแก้ปัญหาความหนาแน่น และการใช้งานที่หลากหลายของละแวกใกล้เคียง ในขณะเดียวกันก็สร้างพื้นที่ใช้งานทางสังคมที่เหมาะสมภายในอาณาบริเวณของสถานกงสุล พื้นที่เชื่อมต่อที่ติดกระจกระหว่างศาลาแต่ละหลัง ทำให้เกิดลักษณะของภูมิทัศน์ที่ตัดผ่านอาคารต่างๆ และสร้างการเชื่อมต่อที่มองเห็นได้รอบๆบริเวณ

อาคารสำนักงานของสถานกงสุลแห่งใหม่เป็นแบบร่วมสมัย ซึ่งเป็นการตีความรูปแบบการออกแบบดั้งเดิมที่หลากหลายของภาคเหนือของไทยออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ บ้านทรงล้านนามักจะมีห้องส่วนตัวขนาดเล็กหลายห้องที่ยกสูงจากพื้นดินและเรียงรายอยู่รอบชาน ซึ่งเป็นระเบียงเปิดโล่ง และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับพื้นที่สาธารณะแบบเปิดโล่งและยกพื้นสูงของสถานกงสุล อีกหนึ่งรูปแบบที่น่าสนใจก็คือ รูปด้านโครงสร้างโดยรอบภายนอกอาคารแบบแยกส่วนที่เกิดจากอาคารที่มีขนาดเล็กกว่าประกบกัน เพื่อให้มีลักษณะไม่เหมือนใคร ซึ่งเอื้อทั้งประโยชน์ใช้สอยและการประดับตกแต่ง วิธีการที่มีประสิทธิภาพนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแผงบังแดดและบานเกล็ดโลหะแบบเจาะรู ซึ่งให้ร่มเงาสำหรับหลายพื้นที่ภายในอาคารแผงบังแดดและบานเกล็ด ไม่เพียงแต่เพิ่มพื้นผิวและความลึกให้กับผิวโครงสร้างหน้าอาคารเท่านั้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอาคารอย่างมีนัยสำคัญ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *