เที่ยวย้อนอดีต ดูบ้านเก่า ที่ “พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา”

ท่านที่ชื่นชอบ “บ้านเก่าเรือนโบราณ” ที่สร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ แนะนำให้แวะมาที่นี่เลย กับ “พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา” ซึ่งที่นี่ตั้งอยู่ภายในสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงและอนุรักษ์เรือนล้านนาในรูปแบบต่างๆเอาไว้ให้กับประชาชนทั่วไปได้ศึกษา เรือนแต่ละหลังเป็นเรือนโบราณที่ได้รับการสนับสนุนให้รื้อย้ายนำมาเก็บรักษาไว้ จากหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเรือนล้านนา แต่ละหลังมีที่มาและประวัติอันยาวนาน นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และศึกษาภูมิปัญญาเชิงช่างในอดีต

เรือนโบราณและยุ้งข้าวต่างๆ ประกอบไปด้วย

“เรือนเครื่องผูก”

“เรือนเครื่องผูก” เป็นเรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่ ตัวเรือนขนาดเล็ก มีรูปแบบเป็นเรือนจั่วเดียวยกพื้นสูงเล็กน้อย ในอดีตเรือนเครื่องผูกเป็นของชาวบ้านทั่วไปที่สร้างขึ้นกันเองแบบง่าย โดยการตัดไม้ไผ่มาประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างของเรือน แล้วใช้ตอกยึดให้ติดกัน อาจมีการใช้เสาเรือนด้วยไม้จริงบ้าง แต่โดยรวมแล้วองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเรือนจะทำมาจากไม้ไผ่ นอกจากนั้น เรือนเครื่องผูกยังเหมาะสำหรับคู่แต่งงานที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ มักสร้างเป็นเรือนเครื่องผูกแบบชั่วคราวก่อนที่จะเก็บเงิน และไม้จริงได้มากพอสำหรับขยายเรือนต่อไป

“เรือนชาวเวียงเชียงใหม่”(พญาปงลังกา)

“เรือนพญาปงลังกา” เป็นเรือนพื้นเมืองในเขตเมืองเชียงใหม่ มีรูปแบบเรือนคล้ายเรือนกาแลดั้งเดิม เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรือนของผู้มีฐานะ ลักษณะเป็นเรือนแฝดสองจั่วยกพื้นสูง เรือนใหญ่เป็นเรือนนอน เรือนหลังเล็กเป็นเรือนครัว ไม่มีห้องน้ำบนเรือน ด้านหน้าเรือนมีเติ๋นขนาดใหญ่และมีชานถัดออกมาด้านหน้า สันนิษฐานว่าคงมีพัฒนาการปรับการสร้างผนังเรือนปิดล้อมส่วนชานและเติ๋นในภายหลัง ตรงกลางระหว่างชายคาของเรือนสองหลังมีรางลิน (รางระบายน้ำฝน) มีลักษณะเป็นรางรองรับน้ำฝนที่ติดเชื่อมระหว่างชายคาของเรือนทั้งสองหลัง ทำด้วยไม้ซุงท่อนเดียวขุดร่องตรงกลาง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ ซึ่งมีความลาดชันแบบเรือนกาแล โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคาน โดยสอดแวง(รอด)ยึดระหว่างเสา เพื่อรับน้ำหนักตงและพื้น โครงสร้างหลังคามีรูปแบบเหมือนเรือนกาแล โครงสร้างผนังเป็นรูปแบบฝาแป้นหลั่น (ฝาตีตามแนวตั้ง) มีป่อง (หน้าต่าง) จำนวนน้อย มีการทำฝาไหลบางตำแหน่ง ความงามของเรือนลักษณะนี้ อยู่ที่รูปทรงที่ดูเรียบง่าย ความลงตัวของโครงสร้าง ความเรียบเกลี้ยงของระนาบพื้น ผนัง และหลังคา

เรือนหลังนี้เจ้าของเรือนเดิมคือ พญาปงลังกาและนางคำมูล เรือนไม้ สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2439 ซึ่งตรงกับปีที่อายุเมืองเชียงใหม่ครบ 600 ปี เรือนพญาปงลังกาเป็นสมบัติอันมีค่าของครอบครัววณีสอน ซึ่งมีความประสงค์ที่จะอนุรักษ์เรือนไว้ให้มีอายุยาวนานที่สุด อย่างน้อยก็ในชั่วอายุของพี่น้องทั้ง 5 คนในตระกูลวณีสอน ซึ่งนับเป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของพญาปงลังกา คุณจรัส วณีสอน บุตรชายคนโตของครอบครัววณีสอน เป็นผู้มาติดต่อและขอมอบเรือนพญาปงลังกา ให้สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนการรื้อถอนและย้ายมาปลูกสร้างโดยมูลนิธิจุมภฏ – พันธ์ทิพย์ ทั้งนี้เรือนพญาปงลังกาได้ปลูกสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีตามแบบล้านนาเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547

“เรือนกาแล(พญาวงศ์)”

“เรือนพญาวงศ์” เป็นเรือนที่มีลักษณะเรือนแฝด ประกอบไปด้วยเรือนสองหลังชายคาชนกัน จุดเชื่อมต่อของชายคามีรางลิน (รางระบายน้ำฝน) ใต้รางลินมีฮ่อมลิน (ชานเดินระหว่างเรือนสองหลัง) เชื่อมต่อ ชานด้านหน้าและหลังเรือน เรือนแฝดทั้งสองถูกจัดเป็นเรือนนอนเนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ เรือนหลังเล็กบริเวณชานด้านหลังสร้างเพิ่มเป็นเรือนครัว ไม่มีห้องน้ำบนเรือน พื้นที่หน้าเรือนใต้ชายคาเรียกว่าเติ๋น (ชานร่มยกระดับ) เป็นพื้นที่ทำงานพักผ่อน และเป็นที่นอนของลูกชายเจ้าของเรือนเมื่อเริ่มโตเป็นหนุ่ม ผนังเรือนที่เลยมาจากห้องนอนมาที่เติ๋นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวเวลาที่ลูกสาวเจ้าของเรือนนั่งทำงานเรียกว่าฝาลับนาง ใต้หลังคาเรือนกาแลสูงโล่งเนื่องจากไม่มีเทิง (ฝ้าเพดาน) ทำให้การระบายอากาศร้อนบนเรือนดี นิยมทำควั่น (โครงสร้างไม้หรือไม้ไผ่สาน) สำหรับการเก็บของ เช่น น้ำต้น ที่ตรงระดับเทิงเหนือเสาเรือน มีขัวอย้าน (ไม้สะพานสำหรับขึ้นไปเหยียบซ่อมแซมหลังคา) เป็นไม้เนื้อแข็งหรือลำไม้ไผ่คู่ประกบเสาดั้ง ช่วยยึดโครงหลังคาส่วนหนึ่ง ส่วนใต้หลังคาระหว่างบริเวณเติ๋นและห้องนอนประตูเข้าห้องนอน ประตูห้องนอนมีแซ่ว (ดานหรือกลอน) อยู่ด้านใน กรอบประตูห้องนอนด้านบนมีส่วนตกแต่งและเป็นเครื่องรางประจำเรือนเรียกว่าหำยนต์ ส่วนกรอบประตูบนพื้นด้านล่างมีไม้กั้นให้ก้าวข้ามเรียกว่าข่มตู๋ (ธรณีประตู)

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ “พญาวงศ์” ผู้เป็นเจ้าของเรือนนี้ เป็นนายแคว่น (กำนัน) อยู่ที่บ้านสบทา แขวงปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เฮือนพญาวงศ์เป็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่ที่ใช้การเข้าลิ่มตอกสลักอย่างดีแทบไม่ปรากฏรอยตะปู เป็นเรือนที่ปลูกสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2440 โดยลูกเขยของพญาวงศ์ ชื่อว่า “พญาอุด” นายแคว่นบ้านริมปิง เมื่อไม่มีลูกหลานผู้ใดอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ ท่านพระครูเวฬุวันพิทักษ์ (เขื่อนคำ อตตสนโต) เจ้าอาวาสพระพุทธบาทตากผ้า เจ้าคณะอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ได้ไปพบเรือนหลังนี้จึงถามซื้อและได้รื้อมาปลูกสร้างไว้ที่วัดสุวรรณวิหาร บ้านแม่อาว ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ด้วย หลังจากนั้นนายแฮรี่ วอง ชาวสิงคโปร์ ได้ซื้อไว้และภายหลังเสียชีวิตลง มูลนิธิ ดร.วินิจ – คุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค ได้มอบเรือนหลังนี้และให้การสนับสนุนการรื้อถอนและย้ายมาปลูกตั้ง ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2541

“เรือนกาแล(อุ๊ยผัด)”

“เรือนกาแล” ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเรือนแฝด หันหน้าเรือนไปทางทิศใต้หรือทิศเหนือ โดยเอกลักษณ์ของเรือนที่โดดเด่นคือ “กาแล” ตรงส่วนยอดของป้านลมที่ไขว้กันเป็นทรงตรงหรือโค้ง มีการแกะสลักอย่างงดงามเป็นลายเครือเถา ลายกนกสามตัว หรือลายเมฆไหล สำหรับที่มาของกาแลหรือส่วนป้านลมที่ไขว้กันนี้ ยังค่อนข้างคลุมเครือ บ้างก็ว่าทำเพื่อกันแร้งกามาจับเกาะหลังคา เพราะถือว่าขึด หรือบ้างว่าพม่าบังคับให้ทำเมื่อสมัยเป็นเมืองขึ้นเพื่อให้ดูต่างกับเรือนพม่า อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า กาแลน่าจะมาจากประเพณีของคนลัวะที่ฆ่าควาย เพื่อบวงสรวงบรรพบุรุษ แล้วนำเขาควายไปประดับยอดหลังคาเป็นการอวดถึงฐานะความร่ำรวย ที่สุดจึงทำกาแลขึ้นแทนเขาควาย

จากหลักฐานการศึกษารูปแบบบ้านในเอเชียหลายแห่งพบว่า ลักษณะการประดับจั่วบ้านด้วยไม้หรือเขาสัตว์ไขว้กันนี้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ในเกาะสุมาตรา สิงคโปร์ ชวา รัฐอัสสัมในอินเดีย และศาลที่สถิตดวงพระวิญญาณของจักรพรรดิในญี่ปุ่น กาแลจึงเป็นวิวัฒนาการของการสร้างเรือนที่มีปั้นลมไขว้กัน เพราะสร้างได้สะดวกทำให้ยึดไม้ได้แข็งแรง ต่อมาจึงแกะสลักลวดลายให้สวยงาม ดังนั้นรูปแบบของป้านลมที่ไขว้กันนี้ จึงถือเป็นลักษณะร่วมกันในเรือนของชนชาติต่างๆ มิใช่เป็นของชาติใดโดยเฉพาะ ดังที่มักเข้าใจกันว่าเป็นลักษณะของเรือนล้านนาเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของกาแลล้านนาก็คือ ลายสลัก ซึ่งเรือนอุ๊ยผัดนี้ก็มีกาแลที่สลักลายเป็นแบบกนกสามตัว ประกอบด้วยโคนช่อกนกมีกาบหุ้มซ้อนกันหลายชั้น คล้ายก้านไม้เถาตามธรรมชาติ ตรงส่วนก้านจะสลักเป็นกนกแตกช่อขึ้นไปสลับหัวกันจนถึงยอดกาแล สร้างลวดลายที่อ่อนช้อยแสดงถึงภูมิปัญญาเชิงช่าง และจิตใจที่อ่อนโยนของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง

เรือนกาแลหลังนี้ เจ้าของผู้อาศัยเดิมคือ “อุ๊ยผัด โพธิทา” คนตำบลป่าพลู อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เรือนจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เฮือนอุ๊ยผัด” สันนิษฐานว่าตัวเรือนสร้างขึ้นมาเกือบ 100 ปีแล้ว เป็นเรือนยกพื้นที่ทำจากไม้ทั้งหลัง ขนาดของบ้านก็ดูกระทัดรัด ด้วยความกว้างราว 7 เมตร ส่วนความยาวจากเสาต้นแรกตรงบันไดถึงชานหลังบ้าน ประมาณ 12 เมตร หลังคามุงด้วย “แป้นเกล็ด” หรือกระเบื้องไม้ หากลองเดินไปรอบๆจะเห็นเสาบ้านค่อนข้างมาก นับได้ถึง 48 ต้น

“เรือนไทลื้อ”

“เรือนไทลื้อ” โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคาน เสาเรือนถากเป็นแปดเหลี่ยมและเจาะช่องเพื่อสอดแวง (รอด) เพื่อรับตงและพื้นเรือนที่ยกสูง วัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นไม้สัก หลังคาเดิมมุงด้วยดินขอ ปัจจุบันมุงด้วยแป้นเกล็ด หลังคาค่อนข้างชัน ระหว่างเรือนสองหลังมีรางลิน ทำจากไม้ซุงขุดเป็นราง โครงสร้างรับน้ำหนักของหลังคาคือเสาดั้งและเสาเรือน ใต้หลังคาโล่งไม่มีฝ้าเพดาน มีขัวอย้านตรงระดับเพดานเพื่อใช้ขึ้นไปเดินซ่อมหลังคา ฝาผนังเป็นฝาแป้นหลั่น (ฝาตีตามแนวตั้ง) มีไม้ระแนงตีปิดแนวรอยต่อระหว่างแผ่นฝ้าไม้เหมือนเช่นเรือนกาแล มีป่อง (หน้าต่าง) จำนวนน้อยและติดตั้งชิดระดับพื้นเรือน ภายในเรือนครัวมีกระบะเตาไฟวางบนพื้นเรือน ผนังเรือนครัวมีฝาไหล เหนือเตาไฟมีควั่น (โครงไม้ไผ่สานสำหรับวางผึ่งถนอมอาหาร) บริเวณชานทำช่องราวกันตกเป็นแนวตั้ง ประตูห้องนอนมีลักษณะเป็นกรอบ ที่พื้นเป็นข่มตู๋เหมือนเรือนกาแล แตกต่างกันตรงที่เรือนแบบไทลื้อนี้ไม่มีหำยนต์อยู่เหนือช่องประตู บริเวณเติ๋นทางด้านทิศตะวันออกมีหิ้งพระ

เรือนหลังนี้เดิมเป็นของ “นางตุด ใบสุขันธ์” หรือหม่อน(ทวด)ตุด เป็นชาวไทลื้อบ้านเมืองลวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นจึงเรียกเรือนหลังนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “เรือนหม่อนตุด” นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า คนไทลื้อในจังหวัดเชียงใหม่มีบรรพบุรุษอยู่ในเขตสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน แต่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ประมาณ 200 ปีก่อน ในครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่ร้างผู้คน พระเจ้ากาวิละมีนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” จึงยกกำลังขึ้นไปถึงเมืองเชียงรุ่ง เชียงตุง เมืองยอง เมืองพยาก ฯลฯ และได้กวาดต้อนเอาผู้คนในเขตนั้น ลงมาอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่และลำพูน แต่สำหรับชาวไทลื้อบ้านเมืองลวงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของหม่อนตุดนี้ จากการศึกษาของรัตนาพร เศรษกุล และคณะ ได้ข้อสรุปที่แตกต่างออกไปว่า ชาวไทลื้อได้อพยพมาอยู่บริเวณนี้ได้กว่า 600 ปีแล้ว

เรือนหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2460 พ่อน้อยหลวง สามีหม่อนตุดเป็นผู้สร้างขึ้น โดยซื้อเรือนไม้เก่าจากบ้านป่าก้าง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ใช้ช้างถึง 3 เชือก พร้อมทั้งวัวควายที่พ่อน้อยหลวงมีอยู่ไปชักลากมาเพื่อนำมาสร้างเป็นเรือน ซึ่งมีรูปร่างงดงามเรียบง่าย แบบเรือนสามัญชน ไม่ใช่เรือนของคหบดีผู้มั่งคั่งหรือคุ้มเจ้านาย เรือนหม่อนตุดถูกรื้อย้ายในช่วงวันที่ 1-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 และเริ่มดำเนินการขุดหลุมตั้งเสาเรือนในที่แห่งใหม่ในเดือนมีนาคม สร้างเรือนเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2536 โดยการรื้อถอนปลูกสร้าง และดำเนินงานเกี่ยวกับเรือนหลังนี้ทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนทุนทรัพย์จาก มูลนิธิจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ ในเดือนมกราคม พ.ศ.2537 ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประกอบพิธีขึ้นเฮือนใหม่ โดยมีเจ้าหม่อนคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวสิบสองปันนา เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเรือนและอุทิศส่วนกุศลไปให้หม่อนตุดเจ้าของเรือนผู้ล่วงลับ

“เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)”

“เรือนพื้นบ้านล้านนา(อุ๊ยแก้ว)” ชานหน้าเรือนนอนยกระดับเป็นเติ๋น โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคาน แต่เนื่องมาจากเครื่องผูกที่ใช้ยกใต้ถุนเตี้ย จึงทำให้เรือนลักษณะนี้เตี้ยตาม ทำให้ประหยัดไม้โครงสร้าง ระบบโครงสร้างรับพื้นเรือนเป็นระบบการบากเสาและฝากคานแล้วปูตงและพื้นไม้แผ่น พื้นเรือนปูตามแนวขวาง เป็นยุคสมัยที่เริ่มนิยมใช้ตะปูในการยึดประกอบโครงสร้างมากขึ้น เพราะสร้างได้รวดเร็ว ในยุคนี้มีการทำฝาไหลใช้กันอย่างแพร่หลาย นิยมใช้ฝาขี้หล่าย (ฝาไม้ไผ่สาน) มาประกอบเรือนเหมือนเรือนโบราณ โดยเฉพาะส่วนครัว เพื่อการระบายอากาศที่ดีและประหยัด เรือนในยุคนี้มีการปรับปรุงระบบการมุงหลังคา เชื่อมจั่วหลายจั่ว เพื่อคลุมพื้นที่ใช้งานในเรือนที่มากขึ้น หลังคาเรือนยุคนี้มีความชันลดลง เนื่องจากนิยมปูหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ขนาดใหญ่ทำให้กันฝนได้ดีขึ้น เรือนรูปแบบนี้ส่วนใหญ่สร้างเพื่อเน้นการใช้สอยให้เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชนชั้นกลาง

เรือนอุ๊ยแก้ว เจ้าของเดิมคือ “อุ๊ยอิ่นกับอุ๊ยแก้ว ธาระปัญญา” ชาวบ้านสันต๊กโตหรือย่านสันติธรรม ใกล้กับบริเวณแจ่งหัวลิน ถนนห้วยแก้วในปัจจุบัน เรือนหลังนี้ได้สร้างขึ้นเมื่อ 70 กว่าปีก่อน คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทราบว่าเรือนหลังนี้ มีแนวโน้มจะถูกรื้อถอน อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ จึงติดต่อขอซื้อเรือนเมื่อปี พ.ศ.2530 จากการสนับสนุนของมูลนิธิ มร.ยาคาซากิ มหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะ โดยเมื่อซื้อเรือนแล้วยังคงให้อุ๊ยแก้วเจ้าของเรือนอาศัยอยู่ในเรือนต่อไป ถึงแม้ว่าลูกหลานจะมาสร้างเรือนใหม่ให้และอุ๊ยอิ่นจะย้ายไปอยู่ที่เรือนใหม่แล้วก็ตาม แต่ด้วยความรักความผูกพันกับที่อยู่เดิมของตน อุ๊ยแก้วก็ยังคงใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายของตนเองอยู่บนเรือนที่ตนรักหลังนี้ จนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ.2540 จึงได้มีการย้ายเรือนมาปลูกสร้างที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เรือนพื้นถิ่นแม่แตง”

“เรือนพื้นถิ่นแม่แตง” รูปแบบของเรือนพัฒนามาจากเรือนพื้นถิ่นที่เป็นเรือนเครื่องผูกแบบเรือนเดี่ยว ลักษณะของเรือนเป็นเรือนจั่วแฝดที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง ตัวเรือนยกพื้นสูง มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าและหลังเรือน ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ สองจั่วหลักเชื่อมต่อกันโดยมีฮ่อมลิน (ชานเดิน) ระหว่างเรือนสองหลัง เป็นแนวทางเดินระหว่างเรือนนอนยาวจากพื้นที่เติ๋นไปยังด้านหลังเรือน เหนือฮ่อมลินเป็นรางลิน (รางระบายน้ำฝน) ในจุดเชื่อมต่อระหว่างชายคาสองจั่ว ชายคาด้านหน้ายื่นยาวเหนือกว่าเรือนพื้นถิ่นโบราณโดยยื่นออกมาคลุมพื้นที่เติ๋น (ชานร่ม) และจาน (ชานแดด) ไว้ทั้งหมด โครงสร้างเป็นระบบเสาและคาน ใช้การประกอบแบบเจาะช่องสอดเข้าเดือย บาก พาดผนังเรือน และปูพื้นด้วยไม้แป้น (ไม้แผ่น) โดยมีการยกระดับพื้นห้องนอนและเติ๋นมาหนึ่งระดับเพื่อแบ่งพื้นที่ใช้สอย อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ในการนั่งตรงบริเวณจุดต่างระดับของพื้นอีกด้วย

เรือนหลังนี้เดิมเป็นเรือนของพ่อน้อยปิงและได้ตกทอดมาถึง นางขาล ตาคำ เรือนพื้นถิ่นจากอำเภอแม่แตงหลังนี้ปลูกสร้างครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2460 ที่บ้านป่าไผ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับการสนับสนุนการรื้อถอนและย้ายมาปลูกของมูลนิธิจุมภฏ – พันธ์ทิพย์ เพื่อมาปลูกสร้างที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2551

“เรือนทรงปั้นหยา(อนุสารสุนทร)”

“เรือนทรงปั้นหยา” ได้รูปแบบมาจากเรือนที่รับอิทธิพลแบบวิคตอเรียนหรือสากลนิยม เรียกเรือนคล้ายกันนี้ที่สร้างอยู่ในประเทศอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสทั้งหลายว่าโคโลเนียลสไตล์หรือแบบทรงอิทธิพลตะวันตก การสร้างบ้านเรือนที่ประยุกต์รูปแบบของยุโรปให้เข้ากับภูมิอากาศร้อนชื้นนี้ ผ่านการนำรูปแบบเข้ามาโดย มิชชันนารี พ่อค้าไม้ชาวอังกฤษ และข้าหลวงจากกรุงเทพฯ เป็นการสร้างเรือนในยุคที่มีเครื่องมือก่อสร้างที่ทันสมัย ทำให้การตัดผ่าไม้เพื่อทำเสาเหลี่ยม โครงสร้างคาน ขื่อ และฝาผนัง ทำได้ง่ายและมีความเรียบเกลี้ยง การประกอบโครงสร้างเรือนและการเข้าไม้ทำได้เรียบร้อยสมบูรณ์มากขึ้น ประกอบกับการใช้ตะปูและน๊อตมาช่วยยึดโครงสร้างทำให้สะดวกและลดเวลาการก่อสร้างได้มากขึ้น เรือนทรงปั้นหยารับเอาวัฒนธรรมการใช้พื้นที่ในเรือนแบบตะวันตก คือมีการใช้เฟอร์นิเจอร์ ทำให้ต้องการพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้น หลังคาเรือนมีขนาดใหญ่เพื่อคลุมพื้นที่ใช้สอยไว้ได้ทั้งหมด มีการสร้างระเบียงรอบเรือน เพื่อเป็นส่วนทางเดินหลักของเรือนและเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อน ส่วนใช้สอยหลักถูกจัดไว้กลางเรือน การโชว์เสาลอยและการยื่นชายคาเรือนช่วยลดปริมาตรขนาดใหญ่ที่ดูหนักของเรือนทำให้เรือนดูโปร่งเบาน่าอยู่มากขึ้น ระเบียงด้านบน เป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับบันไดหลักและชานแดดด้านข้างเรือน ตรงบันได มีแง็บ (ไขราปีกนก) คลุมบันไดทางขึ้นเรือน มีการตั้งเสารับหลังคาคลุมบันไดที่มีลักษณะเหมือนเสาแหล่งหมาของเรือนพื้นถิ่นล้านนา หลังคาเรือนนิยมมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์หางว่าว

หลังนี้เดิมเป็นเรือนของหลวงอนุสารสุนทรและนางคำเที่ยง ชุติมา ที่สร้างให้กับบุตรชาย คือ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2467 เดิมตั้งอยู่บริเวณตลาดอนุสารสุนทร ถนนช้างคลาน ในความครอบครองของ บริษัทสุเทพ จำกัด ต่อมาทายาทได้มอบเรือนให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีมูลนิธิจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ ได้ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์และนำมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง ที่สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2547

เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง

“เรือนฝาไหลของแม่นายคำเที่ยง” เดิมเป็นเรือนไม้ที่ปลูกสร้างต่อเติมในตัวอาคารตึกสองชั้นของหลวงอนุสารสุนทร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 ตั้งอยู่บนถนนวิชยานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เรือนไม้หลังนี้มีลักษณะเฉพาะ คือมีฝาผนังของเรือนโดยรอบทั้งสี่ด้านเป็นฝาไม้แบบบานเลื่อน ที่เรียกว่า “ฝาไหล” เพื่อการระบายอากาศของเรือนได้ดี เรือนชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัยของหลวงอนุสารสุนทร และแม่นายคำเที่ยง โดยแบ่งพื้นที่เป็นส่วนของห้องนอน และส่วนพื้นที่โล่งที่เรียกว่า “เติ๋น” ไว้สำหรับใช้สอยและกินข้าว ส่วนชั้นล่างของเรือนใช้สำหรับเก็บสินค้าของอาคารตึก หรือที่เรียกกันว่า บ้านตึก หลวงอนุสารสุนทร และแม่นายคำเที่ยง ได้พักอาศัยในเรือนหลังนี้ จนกระทั่งแม่นายคำเที่ยงถึงแก่กรรมเมื่อปีพ.ศ.2473 และหลวงอนุสารสุนทรถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.2477

ภายหลังในปี พ.ศ.2512 ลูกหลานได้มอบและย้ายเรือนนี้ให้มาปลูกสร้าง ณ วัดสวนดอก พระอารามหลวง ทางวัดจึงปรับใช้เรือนเป็นอาคารสำนักงาน ทั้งนี้ด้วยรูปแบบของเรือนที่สร้างเดิมที่บ้านตึกนั้นมีบันไดที่เคยใช้เป็นทางขึ้นติดอยู่กับตัวอาคารตึก เมื่อย้ายมาทางวัดจึงได้สร้างส่วนบันไดทางขึ้นให้อยู่ข้างนอกตัวเรือน ด้านหน้าทั้งด้านซ้ายและขวาขึ้นไปเชื่อมต่อกับระเบียงเข้าตัวเรือนชั้นบนได้

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ทางวัดสวนดอก พระอารามหลวง ได้พิจารณาเห็นว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของล้านนา จึงขอมอบอาคารเรือนฝาไหลให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำไปปลูกสร้าง ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการอนุรักษ์

“ยุ้งข้าวเปลือย”

“ยุ้งข้าวเปลือย” เป็นหลองข้าวขนาดเล็ก มี 6 เสา แตกต่างจากหลองข้าวทั่วไปที่มีจำนวน 8 เสาขึ้นไป สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยใช้เสาหลองข้าวเก่าและไม้ที่เหลือจากการซ่อมแซมเรือนในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มาสร้างตามต้นแบบหลองข้าวทรงแม่ไก่ในบ้าน อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นรูปแบบหลองข้าวประเภทที่ไม่มีฝาปิด ซึ่งเก็บข้าวโดยใส่ข้าวเปลือกไว้ในเสวียนที่ทำมาจากไม้ไผ่สาน พอกทับด้วยมูลวัวผสมยางไม้

“ยุ้งข้าวสารภี”

“ยุ้งข้าวสารภี” สร้างประมาณปี พศ.2450 เจ้าของเดิมคือ พ่อโต ต่อมาในปี พ.ศ.2509 พ่อเมืองใจ ทองคำมา บ้านสันกลาง อำเภอสารภี ได้ซื้อและทำการปลูกสร้างในแบบเดิม ยุ้งข้าวสารภีมีวิธีทำโครงสร้างแบบโบราณ เสาไม้กลมจำนวน 8 ต้น ยกใต้ถุนสูงเอาไว้เก็บอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร มีระเบียงทางเดินโดยรอบห้อง ที่ใช้เก็บข้าวเปลือก โครงสร้างหลังคาใช้วิธีเจาะเพื่อเข้าเดือยปลายเสา หลังคาเป็นทรงจั่วลาดต่ำ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาปลายตัด

“ยุ้งข้าวป่าซาง(นันทขว้าง)”

“ยุ้งข้าวป่าซาง(นันทขว้าง)” เป็นหลองข้าวขนาดใหญ่ของตระกูลนันทขว้าง เดิมตั้งอยู่ในเขตอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยคุณโสภา เมืองกระจ่าง (นันทขว้าง) เจ้าของหลองข้าวป่าซาง บริจาคให้อยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับงบประมาณการรื้อถอนและชะลอมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ให้คงสภาพเดิม จากงบประมาณรายได้ปี พ.ศ.2559 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนร่วมจากคณะกรรมการมูลนิธิจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ให้กับพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบพื้นที่หลองข้าวป่าซางให้งดงาม

หลองข้าวป่าซาง(นันทขว้าง) เป็นหลองข้าวขนาดใหญ่ สันนิษฐานจากอายุรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมแล้ว ประมาณอายุได้ 150-170 ปี บริเวณเสาช่วงกลางหลองข้าวมีร่องรอยบากไม้ เพื่อนำแผ่นไม้มาใส่กั้นเป็นห้องเก็บข้าว ด้านงานศิลปกรรมมีความโดดเด่น ด้วยลวดลายแกะสลักรูปนกยูงหน้าจั่วทั้งสองด้าน ในอดีตมีการปรับปรุงใส่ไม้ฉลุบริเวณระเบียง และดัดแปลงทางขึ้นหลองข้าวจากรูปแบบดั้งเดิม โดยต่อเติมบันไดถาวรขึ้นลงทางด้านหน้า ซึ่งโครงสร้างหลองข้าวเดิมไม่มีทางขึ้นไปบนหลองข้าวได้นอกจากใช้บันไดไม้พาด

“ยุ้งข้าวเรือนกาแลพญาวงศ์(เลาหวัฒน์)”

“ยุ้งข้าวเรือนกาแลพญาวงศ์(เลาหวัฒน์)” ด้านข้างของเรือนกาแลพญาวงศ์ มีสิ่งปลูกสร้างและเป็นของคู่กันมากับเรือนด้วย นั่นคือ หลองข้าว (ยุ้งข้าว) หลองข้าวนี้ตั้งอยู่บนเสาไม้ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 3 เมตร ไม่มีบันไดขึ้น ใช้เสาไม้ถึง 14 ต้น มีความกว้างราว 1.5 เมตร และยาวเกือบ 10 เมตร ส่วนบนของฝาโดยรอบ ทำเป็นซี่ไม้นำมาไขว้ต่อกันอย่างงดงาม เป็นการนำศิลปะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดี หลองข้าว ถือเป็นหน้าตาของเจ้าของบ้านอีกประการหนึ่ง กล่าวกันว่า หลองข้าวบ้านใครมีขนาดใหญ่ แสดงว่าเจ้าของบ้านมีฐานะที่มั่นคง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *