พิงคนครร่วมกับองค์การสวนสัตว์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการสัตว์ป่า และด้านการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการสัตว์ป่า และด้านการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR)
วันที่ 26 เมษายน 2565 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการสัตว์ป่า และด้านการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) โดยมี นายสายสิทธิ์ เจตสิกทัต ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร, นางสาวฐิติรัตน์ ต๊ะวันวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พร้อมด้วย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย, นายอภิเดช สิงหเสนี รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย, นายยงชัย อุตระ ผู้อำนวยการสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายชาตรี คูหเทพารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการสัตว์ สำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นผู้เซ็นลงนาม และมีคณะผู้บริหารของทั้งสองฝ่าย เข้าร่วมด้วย ณ อาคารวารีกุญชร เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี
นายสายสิทธิ์ เจตสิกทัต ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และข้อมูลเชิงวิชาการสัตว์ป่า การแลกเปลี่ยนต้นพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สารพันธุกรรม ตัวอย่างชิ้นส่วนจากสัตว์ป่าและสารคัดหลั่ง เพื่อการอนุรักษ์ วิจัย และขยายพันธุ์ พร้อมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ด้านสวัสดิภาพสัตว์ การส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ โรคสัตว์ และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า
ในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) นี้ มีข้อตกลงร่วมกันด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการสัตว์ พร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับชุมชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการฝึกอบรมร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองหน่วยงาน ทั้งในด้านการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) จนนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการและการอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป