เที่ยวย้อนรอยประวัติการสร้างเมือง กับ 9 วัดในทักษาเวียงเชียงใหม่

ตามความเชื่อและแนวคิดของคนโบราณในการสถาปนาเมืองนั้น เชื่อว่า เมืองนั้นก็มีชีวิตเช่นเดียวกับคน เมื่อมีการสร้างเมืองขึ้นมาก็เหมือนกับการให้ชีวิตกับเมือง เมืองนั้นมีส่วนต่างๆเหมือนคน มีหัว มีสะดือ มีส่วนต่างๆ อยู่ตามทิศต่างๆ และมีดวงเหมือนเหมือนคน เมืองแต่ละเมืองก็จะมีทิศของดวงต่างๆไม่เหมือนกัน ซึ่งความเชื่อดังกล่าวได้ถูกนำมาสร้างเมืองเชียงใหม่ จนอยู่ยงยืนนานมาถึงทุกวันนี้

ในการสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น พญามังรายได้ทรงให้เหล่าโหราจารย์ ราชบัณฑิต คิดหาฤกษ์ยามในการสถาปนาเมืองตามแนวคิดของคนโบราณที่ว่า เมืองนั้นก็มีชีวิตเช่นเดียวกับคน เมื่อมีการสร้างเมืองขึ้นมาก็เหมือนกับการให้ชีวิตกับเมือง เมืองมีส่วนต่างๆเหมือนคน มีหัว มีสะดือ มีส่วนต่างๆ อยู่ตามทิศต่างๆ และมีดวงเหมือนคน เมืองแต่ละเมืองก็จะมีทิศของดวงต่างๆไม่เหมือนกัน เมื่อใดเมื่อเกิดภัยพิบัติกับเมืองจะต้องมีการสืบชะตาเมืองเหมือนกับคน โดยความเชื่อเกี่ยวกับทิศของดาวเมืองนี้ เป็นสิ่งที่บันทึกไว้ในคัมภีร์มหาทักษา หรือภูมิพยากรณ์ของศาสนาพราหมณ์ ซึ่ง ทักษา หมายถึง ชื่อเรียกกลุ่มดาวอัฐเคราะห์หรือดาวทั้งแปด คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู และศุกร์ ที่จัดเข้าระเบียบเป็น บริวาร อายุ เดช ศรี มูล อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี เวียนขวา (ทักษิณาวรรต) ไปตามทิศทั้ง 8 คือ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ และอุดร

สำหรับทักษาเวียงเชียงใหม่นั้นกำหนดตามทิศต่างๆ ดังนี บริวารเมือง -ประตูสวนดอก , มูลเมือง – ประตูท่าแพ , เกตุเมือง – วัดสะดือเมือง , ศรีเมือง – แจ่งศรีภูมิ , กาลกิณีเมือง – แจ่งกู่เฮือง , เดชเมือง – ประตูช้างเผือก , มนตรีเมือง – ประตูเชียงใหม่ , อายุเมือง – แจ่งหัวลิน และอุตสาหะเมือง – แจ่งขะต้ำ

ส่วนแนวคิดเรื่องวัดทักษาเมืองนั้น เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ในสมัยนั้นอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรอยุธยาได้ทำศึกสงครามเพื่อแย่งชิงเมืองเชลียง ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระเถระมังลุงหลวง ชาวพุกาม มาทำลายล้างเวียงเชียงใหม่ พระเถระมังลุงหลวงได้ออกอุบายลวงพระเจ้าติโลกราชว่า ถ้าหากพระองค์มีพระประสงค์จะมีพระบรมเดชานุภาพปราบไปทั้งชมพูทวีป พระองค์ควรตัดต้นไม้ศรีเมือง และสร้างพระราชฐานบริเวณศรีเมืองนั้น เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทำตามคำยุ ตัดต้นไทร อันเป็นไม้ศรีเมืองทิ้ง ก็เกิดอาเพทเหตุอุบาทว์ต่างๆนานากับเวียงเชียงใหม่ นอกจากนี้ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพวกผาสี (ชาวจีนอิสลาม) มาทำคุณไสยฝังสิ่งอัปมงคลต่างๆภายในทักษาเวียงเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบความจริง จึงทำการฆ่าพระเถระมังลุงหลวงและพวกผาสีทิ้ง ด้วยความเชื่อที่ว่าบ้านเมืองถูกกระทำคุณไสย ทำให้เป็นที่สร้างความวิตกกังวลในหมู่ชาวเมืองและพระเจ้าติโลกราชเป็นอย่างมาก ดังนั้นพระเจ้าติโลกราชจึงได้รับสั่งให้เหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต พระเถระชั้นผู้ใหญ่ กระทำพิธีแก้ขึด โดยการย้ายและสร้างศูนย์กลางเมืองใหม่คือ “พระธาตุเจดีย์หลวง” โดยการเปลี่ยนฐานะจากกู่บรรจุอัฐิพระเจ้ากือนา มาเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งสถาปนาวัดเจดีย์หลวงเป็นเกตุเมือง และทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่องค์พระเจดีย์ อีกทั้งให้หมื่นด้ำพร้าคต เสริมสร้างความใหญ่โตและแข็งแรงให้แก่องค์พระเจดีย์ เพื่อให้เป็นมิ่งขวัญเมือง พร้อมทั้งสถาปนาวัด 8 วัด ซ้อนทักษาเมืองเดิมที่ถูกทำลายไป ซึ่งวัดในทักษาเมืองทั้ง 8 ทิศของเวียงเชียงใหม่ ประกอบด้วย ศูนย์กลางเมือง หรือเกตุเมือง – วัดเจดีย์หลวง , มูลเมือง – วัดบุพพาราม , อุตสาหะเมือง – วัดชัยมงคล , มนตรีเมือง – วัดนันทาราม , กาลกิณีเมือง – วัดร่ำเปิง , บริวารเมือง – วัดสวนดอก , อายุเมือง – วัดเจ็ดยอด , เดชเมือง – วัดเชียงยืน และศรีเมือง – วัดชัยศรีภูมิ

“เกตุเมือง – วัดเจดีย์หลวง”
“วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร” เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมชื่อว่า “วัดโชติการามวิหาร” แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือหรือคำเมือง หลวงแปลว่า “ใหญ่” หมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งวัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1928 – 1945 และมีการบูรณะหลายสมัย

“มูลเมือง – วัดบุพพาราม”
“วัดบุพพาราม” เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยพญาแก้ว (พ.ศ. 2039–2069) มีบันทึกใน ชินกาลมาลีปกรณ์ถึงการสร้างวัดนี้ว่า หลังจากที่พญาแก้วได้อภิเษกแล้วในปีที่สอง ได้โปรดให้สร้างอารามขึ้นอารามหนึ่ง ในหมู่บ้านที่พระราชปัยกา (พระเจ้าติโลกราช) ครั้งเป็นยุพราช และพระบิดาของพระองค์ (พญายอดเชียงราย) เคยประทับมาก่อน เมื่อวันอังคารขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง จุลศักราช 858 (พ.ศ. 2040) พระองค์ตั้งชื่ออารามว่า “บุพพาราม” มีความหมายว่า “อารามตะวันออก” หมายถึง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของราชธานีนครเชียงใหม่ ต่อมาในปีที่ 3 ของการครองราชย์ พญาเมืองแก้วทรงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นองค์หนึ่งท่ามกลางมหาวิหารในอารามนั้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและย่างเข้าปีที่ 4 พญาเมืองแก้ว ทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทองและหอพระมณเฑียรธรรม ที่พระองค์โปรดให้สร้างไว้ในวัดบุพพาราม ตามที่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า

“อุตสาหะเมือง – วัดชัยมงคล”
“วัดชัยมงคล” เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย โดยแต่เดิมเป็นวัดมอญมีชื่อว่า วัดมะเล่อ หรือ วัดมะเลิ่ง มีความหมายว่า “รุ่งแจ้ง” หรือ “รุ่งอรุณ” ในภายหลังได้มีการเรียกชื่อกันใหม่ว่า วัดอุปาเพ็ง หรือ วัดอุปาพอก ถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดบุพพาราม จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดชัยมงคล” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่ามีอายุราว 600 ปี

“มนตรีเมือง – วัดนันทาราม”
“วัดนันทาราม” ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2060 ในสมัยของพระเมืองแก้ว ณ ที่ถวายพระเพลิงพระยอดเชียงราย ผู้เป็นพระราชบิดา แล้วจัดให้มีการสมโภช ซึ่งวัดนี้คงมีมาก่อนแล้ว เพราะในตำนานมูลศาสนากล่าวถึงวัดนันทารามว่าเป็นวัดใหญ่และมีความสำคัญ เมื่อปี พ.ศ.1987 พระนันทปัญญา วัดนันทารามได้เป็นพระสังฆราชและเป็นอาจารย์ของพระมหาญาณคัมภีระ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแดง ผู้ซึ่งนำพุทธศาสนาแบบสิงหลนิกาย หรือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เข้ามาสู่เมืองเชียงใหม่ โดยวันนี้สร้างขึ้นตามแบบศิลปะพื้นเมืองล้านนา

“กาลกิณีเมือง – วัดร่ำเปิง”
“วัดร่ำเปิง” มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวัดนี้ว่า ในสมัยพระเจ้าติโลกราชปกครองเมืองเชียงใหม่ ท่านมีพระราชโอรสนามว่า ท้าวศรีบุญเรือง ต่อมามีคนกล่าวหาว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการจะกบฏ พระเจ้าติโลกราชจึงแก้ไขสถานการณ์ด้วยการให้ไปปกครองเมืองเชียงแสนและเชียงรายแทน ต่อมา ท้าวศรีบุญเรือง มีพระราชโอรส ซึ่งประสูติบนยอดเขาสูงในเชียงราย นามว่า พระเจ้ายอดเชียงราย จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเจ้าติโลกราชถูกเพ็ดทูลจากนางหอมุข พระสนมเอกว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการก่อกบฏอีก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย และหลังจากนั้นโปรดให้ราชนัดดา คือ พระเจ้ายอดเชียงราย ครองเมืองเชียงรายสืบต่อมา

เหตุการณ์ต่อจากนั้น มีพระธุดงค์รูปหนึ่งปักกลดตรงบริเวณวัดร่ำเปิงในปัจจุบัน ท่านทูลพระเจ้ายอดเชียงรายว่า เมื่อตอนกลางคืน ท่านเห็นรัศมีสว่างบริเวณต้นมะเดื่อซึ่งไม่ห่างจากที่ท่านปักกลด จึงสงสัยว่าน่าจะมีพระธาตุประดิษฐานอยู่บริเวณดังกล่าว เมื่อพระเจ้ายอดเชียงรายทราบดังนี้ จึงอธิษฐานว่า ถ้าที่แห่งนั้นมีพระบรมธาตุฝังอยู่จริง ขอให้ช้างพระที่นั่งที่ท่านกำลังทรงไปหยุด ณ ที่แห่งนั้น จากนั้นช้างเดินไปหยุดที่ใต้ต้นมะเดื่อ พระองค์จึงขุดดินบริเวณนี้และพบพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในผอบดินแบบเชียงแสน พระองค์จึงทรงทำพิธีสมโภช และอธิษฐานขอเห็นอภินิหารของพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นจึงบรรจุลงในผอบทอง แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณนั้น และจารึกประวัติการสร้างวัดนี้ลงในศิลาจารึกเป็นตัวหนังสือฝักขาม แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด ปีชวด พุทธศักราชสองพันสามสิบหาปี เวลา 08.20 น. ได้ฤกษ์ภรณี ได้โยคมหาอุจจ์” โดยมีพระนางอะตะปาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสี ดำเนินการสร้างแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งที่เป็นพระมหาเถระและผู้สร้างฝ่ายอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นประธาน และพระพุทธรูปตามซุ้มที่พระธาตุเจดีย์กับได้สร้างพระไตรปิฏกและพระราชทานทรัพย์และเงิน เป็นจำนวนมหาศาล

“บริวารเมือง – วัดสวนดอก”
“วัดสวนดอก” หรือ วัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ[1] สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย ในปี พ.ศ. 1914 พญากือนากษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระสุมนเถระ” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

ในสมัยราชวงศ์มังราย วัดสวนดอกเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป จนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

“อายุเมือง – วัดเจ็ดยอด”
“วัดเจ็ดยอด” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดประจำปีคนเกิดปีมะเส็ง พระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้ทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1998 พระเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้น เลียนแบบมหาโพธิวิหาร ประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2020 วัดโพธารามมหาวิหาร เป็นสถานที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ปัจจุบันเจดีย์เจ็ดยอดหักพังไปเกือบหมด โดย วัดเจ็ดยอด ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่

“เดชเมือง – วัดเชียงยืน”
“วัดเชียงยืน” ในปีพ.ศ. 1836 – 2101 สมัยราชวงศ์มังราย วัดเชียงยืน เป็นพระอารามหลวงนามมงคล มีฐานะเป็นเดชเมืองเชียงใหม่ เพราะสร้างขึ้นในลักษณะการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับชัยภูมิและความเชื่อทางโหราศาสตร์ ชื่อวัดเชียงยืนมีความเป็นมงคล ประดิษฐานมงคลศักดิ์สิทธิ์ คือ พระสัพพัญญูเจ้าเดชเมือง หมายถึง บารมีอำนาจยิ่งใหญ่ ซึ่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ล้านนาในอดีตจะมาทำการสักการบูชาก่อนเข้าเมือง หรือเมื่อมีพิธีราชาภิเษก หรือทั้งก่อน – หลังออกศึกสงคราม เพื่อให้เกิดสิริมงคล

วัดเชียงยืนสร้างขึ้นในสมัยใดไม่มีปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่ที่มีการสันนิษฐานว่า ในสมัยพญามังราย พระองค์ได้สร้างวัดคู่เมืองเชียงใหม่เป็นแห่งแรก คือ วัดเชียงมั่น หมายถึง “มั่นคง” ต่อมาสร้างวัดเชียงยืน หมายถึง “ยั่งยืน” ด้วยจะมีพระราชประสงค์ที่ว่าวัดเชียงมั่นตั้งอยู่เขตพระนครด้านใน เมื่อประตูเมืองปิดอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ที่อยู่นอกกำแพงเมืองจะได้ อาศัยวัดเชียงยืน เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

“ศรีเมือง – วัดชัยศรีภูมิ”
“วัดชัยศรีภูมิ” สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 1985–2000 สมัยพญามังรายเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ มีทหารชื่อพันตำเกินเป็นประธานสร้าง จึงเรียกว่า วัดพันตำเกิน หรือ วัดปันต๋าเกิ๋น เหตุที่เรียกว่าวัดชัยศรีภูมิ หรือ วัดศรีภูมิ เพราะตั้งอยู่ใกล้แจ้งศรีภูมิ สาเหตุที่สร้างวัดเพื่อเป็นศรีเมืองเชียงใหม่ตามทักษาเมืองจาตุรงคทิศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *