ชลประทานฯ แจงผลการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง พร้อมเผยแผนรับมือน้ำในฤดูฝน

ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานชลประทานที่ 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ติดตามผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565 ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ชี้แจงผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมเผยแผนรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1 และนำสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการชลประทานลำพูน เยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำของฝายหนองสลีก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

สำหรับสรุปสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ค. 65) ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1 นั้น ปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน สถานีอุตุฯ จ.เชียงใหม่ (สนามบิน) 451 มิลลิเมตร มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 211% สถานีอุตุฯ จ.ลำพูน 205 มิลลิเมตร มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 126% และสถานีอุตุฯ จ.แม่ฮ่องสอน 230 มิลลิเมตร มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 128%

ปริมาณน้ำท่าในลำน้ำปิงไหลผ่านสถานี P.1 (สะพานนวรัฐ) สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน 71 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 67% ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำ 95.735 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 82.148 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 19 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 62 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 191 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 48 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีแผนการส่งน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่โครงการฯ 40 ล้าน ลบ.ม. ผลการส่งน้ำสะสมตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 64 – ปัจจุบัน 25.960 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าแผน 12.077 ล้าน ลบ.ม. และแผนส่งน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ช่วยเหลือพื้นที่สองฝั่งน้ำปิงตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน) 28 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 6 ม.ค. 65 – 31 พ.ค. 65 ผลการส่งน้ำทั้งหมด 18 รอบเวร ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 65 – 11 พ.ค. 65 ทั้งสิ้น 14.791 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าแผน 13.209 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีแผนส่งน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและระบบนิเวศในเขตพื้นที่โครงการฯ 9 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 65 – 17 พ.ค. 65 ผลการส่งน้ำสะสมตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 65 – ปัจจุบัน 9.842 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนสะสม 0.842 ล้าน ลบ.ม.

และฤดูแล้งที่ผ่านมา การเตรียมการเครื่องจักรเครื่องมือในการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปัจจุบันให้การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 จำนวน 6 เครื่อง ปริมาณน้ำสูบสะสม 1,420,000 ลบ.ม. พื้นที่ช่วยเหลือ 2,578 ไร่

ด้านการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2565 สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า การคาดการณ์ฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2565 กรมอุตุฯได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2565 คาดปริมาณน้ำฝนรวมในช่วงฤดูฝนตะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 3 ซึ่งจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา (ปี 64 มีฝนในฤดูฝนสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 8) ปริมาณฝนทั้งประเทศสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงปัจจุบัน 457 มม. มากกว่าค่าปกติ 62% (ค่าปกติ 282 มม.)

สถานการณ์เอลนีโญ/ลานีญา ปี 2565 ปรากฎการณ์เอนโชที่อยู่ในสถาวะลานีญาจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2565 และยังคงมีโอกาสที่จะอยู่ในสภาวะลานีญาร้อยละ 50-55 ในช่วงปลายปี อุณหภูมิของประเทศไทยมีแนวโน้มใกล้เคียงค่าปกติ ปริมาณฝนของไทยเดือนพฤษภาคมจะสูงกว่าค่าปกติ ส่วนเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมจะใกล้เคียงค่าปกติ ซึ่งการวิเคราะห์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ปี 2565 (คาดการณ์ ณ วันที่ 1 พ.ย. 65) เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ปริมาณน้ำ 161 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 87 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2565 กรมชลประทานได้จัดเตรียม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ดังนี้ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลประทาน พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์และติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ทางสำนักงานฯได้จัดตั้งศูนย์ประมวลและติดตามสถานการณ์น้ำ (ระดับ สขป./โครงการ/จังหวัด) ตรวจสอบความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน 67 แห่ง (100%) การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในเขต สขป. 1 และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 78 เครื่อง เครื่องจักร เครื่องมืออื่นๆ 68 หน่วย พร้อมกันนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ขอความร่วมมือประชาชนงดทิ้งสิ่งของลงในแม่น้ำหรือทางน้ำ เป็นการกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำระบายได้ช้า เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *