เปิดประชุมสุดยอดนวัตกรรมโซลาร์ครั้งแรกที่เชียงใหม่ อนาคตสดใสของพลังงานสะอาดไทย “สร้างงาน และความมั่นคงพลังงาน”
การประชุมสุดยอดนวัตกรรมโซลาร์ ‘Solar Innovation Forum’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ด้วยวัตถุประสงค์ของงานที่ไม่เพียงต้องการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ของระบบพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเป้าไปที่การสร้างความเข้าใจเพื่อให้เข้าถึงความรู้ด้านนี้ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวกับการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้จริง ที่ผ่านมา การเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีข้อจำกัด และไม่ใช่เพียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่รวมไปถึงพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนและเขตภูมิภาค โดยพลังงานแสงอาทิตย์มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุดและเข้าถึงง่ายที่สุด จึงทำให้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาพลังงานที่สำคัญของประเทศ
งานนี้เปรียบเสมือนสารตั้งต้นสำคัญที่ทีมผู้จัดงานตั้งใจให้เกิดการขับเคลื่อนและนำไปสู่การขยายศูนย์ฝึกอบรมเพื่อผู้ประกอบการโซลาร์ (Training Centre) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสำคัญของภาคเหนือ เพื่อขยายขีดความสามารถ กระจายและเพิ่มสัดส่วนตำแหน่งงานสีเขียวจำนวนมากไปยังทุกภูมิภาค โดยก่อนหน้านี้ได้มีโครงการนำร่องจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่ประสบความสำเร็จอย่างดีและมีผลตอบรับน่าพอใจจากผู้ประกอบการ
จิรพัฒน์ ฮ้อแสงชัย ตัวแทนจาก New Energy Nexus ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้การช่วยเหลือด้านกองทุนและเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการด้านพลังงานสะอาด หนึ่งในตัวแทนผู้จัดงาน เผยว่า การจัดงานครั้งนี้มุ่งหวังให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงความรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานสะอาดได้โดยไม่ต้องกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น นำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ ทำให้แต่ละชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้
“นี่คืองานแรกที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับระบบพลังงานโซลาร์ โดยตั้งต้นที่ภาคเหนือ จากนั้นในปีหน้าจะขยายไปทั่วทุกภูมิภาค”
งานประชุมครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ลอนจี (LONGi) ผู้สนับสนุน และ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม (PEA ENCOM) ที่เป็นหน่วยงานร่วมจัด ขณะที่ครั้งต่อๆ ไปจะจัดควบคู่กับโครงการฝึกอบรมในแต่ละภาค โดยเร็วๆ นี้มีแผนขยายเป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อผู้ประกอบการโซลาร์ (Solar STEP Program) เพราะเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัว และภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการผลิตก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันก็มีศักยภาพและตื่นตัวที่จะลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ปัจจุบันที่การใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวมีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะโลกร้อน ประกอบกับกลไกจากการประชุมหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง COP28 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
พโยมสฤษฎ์ ศรีพัฒนานนท์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ พีอีเอ เอ็นคอม (PEA ENCOM) ให้ข้อมูลว่า ในอนาคตอันใกล้ผู้ผลิตสินค้าของไทยจำเป็นต้องใช้พลังงานสีเขียว ทั้งในรูปของกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) และมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ (Renewable 100%: RE100)
“เราสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ใหญ่โตเท่าไรก็ได้ในโลกนี้ แต่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมบนโลก เพื่อปกป้องโลกนี้ให้อยู่กับลูกหลานไปนานๆ นี่เป็นภารกิจที่ทุกคนต้องมาช่วยกัน”
“คงไม่ดีแน่ถ้าเรารวยขึ้น แต่โลกที่เราอยู่กลับเลวร้าย ทางที่ดีคือ เราควรมีความมั่งคั่งขึ้นด้วย ขณะที่โลกก็น่าอยู่ขึ้นด้วย เพราะสองสิ่งนี้ไปด้วยกันได้ อยากฝากไว้ว่า เราทำธุรกิจและต้องรักษาโลกให้น่าอยู่ด้วย”
การผลิตพลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์มีองค์ประกอบสำคัญที่ทราบกันดีคือแผงโซลาร์เซลล์ ในยุคที่ค่าไฟฟ้าขึ้นราคาจนน่าตกใจ อาจถึงเวลาที่เราจะตั้งต้นผลิตพลังงานกันทุกหลังคาเรือน
ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากประเทศไทยได้ให้คำมั่นในงานประชุม COP26 เมื่อสองปีก่อน ที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (‘Net Zero’ Emission) ในปี 2065 ก็เป็นตัวผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันหาทางบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ
ด้าน หม่า เหมิง (Ma Meng) ผู้จัดการประจำภูมิภาคอินโดจีน DG Business Group บริษัท ลอนจี กรีน เอ็นเนอร์จี เทคโนโลยี จำกัด (ลอนจี) หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ชั้นนำของโลก ระบุว่า บริษัทสามารถสนับสนุนนโยบายและแผนความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยโดยใช้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการทำงานร่วมกัน และการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างเช่น BC Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นขึ้นโดย LONGi ทำให้แผงโซลาร์สามารถดูดซับแสงได้ดีกว่า ช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตพลังงานสูงขึ้น ส่งเสริมให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทยเป็นไปได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น
“เราได้สนับสนุนแผงโซลาร์เซลล์ Hi-MO 6 จำนวนหนึ่งให้กับ PEA ENCOM สำหรับการฝึกอบรมภายในและการจัดกิจกรรมร่วมกับ PEA ENCOM และ New Energy Nexus เพื่อเร่งการนำแนวทางด้านพลังงานที่ยั่งยืนมาใช้”
รศ.ดร.สุทธิชัย เปรมฤดีปรีชาชาญ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะนักวิจัยที่มีส่วนสำคัญในโครงการศึกษาวิจัยจำนวนมากซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้ตรงจุด ชี้ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง และให้ข้อมูลว่าพื้นที่ภาคเหนือเหมาะสมกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานทั้งระดับครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม
“ตอนนี้ในระดับโลก ถ้าดูจากแหล่งผลิตหรือผู้ผลิตระบบพลังงานโซลาร์ จะพบการเติบโตแบบก้าวกระโดด นั่นคือยังขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีสะดุด ซึ่งมาจากปัจจัยระดับนโยบายของแต่ละประเทศที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกัน โดยเทคโนโลยีการผลิตตัวโซลาร์เซลล์เองก็ทำให้ราคาลดลงเรื่อยๆ และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น”
จากประสบการณ์ด้านงานวิจัยที่ใช้ได้จริง สุทธิชัยยังเสนอว่า รูปแบบการติดตั้งในแต่ละพื้นที่ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับพื้นที่นั้นๆ รวมถึงส่วนประกอบที่อาจจำเป็นในปัจจุบัน อย่างเช่นแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ช่วงไฟดับหรือหลังพระอาทิตย์ตก และเพิ่มเติมว่าการขายไฟฟ้าเข้าระบบนั้นมีส่วนต่างราว 2 บาทต่อหน่วยเมื่อเทียบกับเก็บไว้ใช้เอง
“เมื่อมีปัจจัย 3 ส่วนคือ ราคาแบตเตอรี่ลดลง ราคาโซลาร์เซลล์ลดลง และค่าไฟที่เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวผลักดันให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและราคาทำให้รูปแบบในการติดตั้งเปลี่ยนไป เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ร่วมกับแบตเตอรี่ ซึ่งจะได้ประโยชน์สองทาง ทั้งในเรื่องส่วนต่างของค่าไฟ ขณะเดียวกันหากไฟฟ้าดับหรือช่วงที่ไม่มีแดด เรายังใช้ไฟฟ้าที่กักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้”
“เวทีครั้งนี้เป็นตัวจุดประกายให้เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานสะอาดมากขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ”
นี่คือจุดเริ่มต้นของเป้าหมายที่มุ่งหวังให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น เพิ่มพูนความรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้ สามารถต่อยอดความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นผู้ประกอบการในชุมชนและท้องถิ่นได้ ทั้งยังตอบโจทย์ประเทศเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และช่วยรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้อย่างยั่งยืน