“นกหัสดีลิงค์” ตำนาน ความเชื่อ “ภูตทูต” นำพาดวงวิญญาณไปสู่ปรโลกของคนล้านนา
“นกหัสดีลิงค์” เป็นชื่อของนกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในเทวนิยาย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีลักษณะผสมของสัตว์ 4 ชนิด ลำตัวเป็นนก ใบหน้าเป็นสิงห์ จะงอยปากเป็นงวงช้างเขี้ยวหน้าเป็นงา มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ 3-5 เชือกรวมกัน
คนล้านนานั้น รู้จักสัตว์ในจินตนาการชนิดนี้มาตั้งแต่ยุค 1,400 ปีก่อน ชื่อของนกหัสดีลิงค์ปรากฏในตำนานการสร้างนครหริภุญไชย ว่า เหล่าฤๅษีทั้งสาม อันได้แก่ วาสุเทพฤๅษี สุกทันตฤๅษี และอนุสิสฤๅษี ที่ช่วยกันวางรากฐานเมืองลำพูน ได้เรียก “นกหัสดีลิงค์” ออกมาจากป่าหิมพานต์ ให้ทำหน้าที่บินไปคาบ “หอยสังข์” (สัญลักษณ์หนึ่งในสี่สวัสดิมงคลของพระนารายณ์หรือวิษณุเทพของฮินดู ประกอบด้วย ดอกบัว สังข์ จักร คทา แทน ดิน น้ำ ลม และไฟ) มาจากห้วงมหาสมุทร เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างเมืองลำพูน
เหล่าฤๅษีใช้ไม้เท้าขีดเส้นเขตแดนเมืองตามขอบรูปร่างของหอยสังข์นั้น กลายเป็นแผ่นดินที่พูนนูนขึ้นตอนกลางคล้ายกระดองเต่าและมีน้ำล้อมรอบ อันเป็นที่มาของผังเมืองโบราณยุคทวารวดีที่มีอายุมากกว่าพันปี เชื่อกันว่าเป็นผังเมืองที่จะทำให้ผู้อาศัยมีความสมบูรณ์พูนสุข
เรื่องราวของ นกหัสดีลิงค์ ยังพบในวรรณกรรมอีกหลายเรื่อง อาทิ นิทานอาหรับราตรี ที่เรียกว่า “นกกินช้าง” ภาพประกอบหนังสือเป็นนกยักษ์หน้าตาคล้ายนกอินทรีย์ เฉี่ยวเอาช้างไปกินหลายตัว ส่วนในนิทานชาดกของศาสนาพุทธ ก็มีการกล่าวถึงนกหัสดีลิงค์หลายครั้ง อาทิ ตอนพระเจ้าอุเทนผู้ทรงบุญญาบารมี ก่อนพระองค์จะประสูตินั้น พระมารดาถูกนกหัสดีลิงค์คาบขณะทรงพระครรภ์แก่ โดยบินโฉบเอาไปวางไว้ในระหว่างคาคบไม้ไทร ครั้นพระนางปรบมือร้องตะโกน นกตกใจบินหนีพระนางจึงลงจากคาคบไม้ได้ แล้วประสูติพระโอรสในขณะที่ฝนตกฟ้าร้อง จึงขนานนามพระโอรสว่า “อุเทน” แปลว่ากึกก้องกัมปนาท
นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ตำนานที่ได้เล่าขานเกี่ยวกับ นกหัสดีลิงค์ เอาไว้ ได้แก่
ตำนานที่ 1 ว่า…
นกหัสดีลิงค์ มีหัวเป็นช้างตัวเป็นนก จะชอบกินช้างหรือสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร เช่น คน เสือ ควาย เป็นต้น อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อนกหัสดีลิงค์ได้จับลูกสาวเจ้าเมืองหลายต่อหลายเมืองมากินเป็นอาหารแล้ว มาหยุดพักที่ปางทุ่งหลวง เมืองสุวรรณภูมิ เพื่อจะรอจับลูกสาวเจ้าเมืองดังกล่าวกินเป็นอาหาร ครั้นเจ้าเมืองทราบข่าวจึงสืบเสาะหาบุคคลที่มีความสามารถที่จะฆ่านกหัสดีลิงค์ได้ จนในที่สุดก็มาถึงเมืองตักศิลาและลูกสาวเจ้าเมืองนั้นชื่อ “เจ้านางสีดา” ซึ่งได้รับมอบคันศรจากพระราชบิดา เพื่อจะนําไปฆ่านกหัสดีลิงค์ และในที่สุดเจ้านางสีดาก็สามารถฆ่านกหัสดีลิงค์ได้
ตํานานที่ 2 ว่า…
ในกาลครั้งหนึ่งมีเมืองๆหนึ่งเกิดอาเพศ เพราะมีนกหัสดีลิงค์คอยเฝ้าจับคนกินเป็นอาหาร ทําให้ผู้คนบาดเจ็บและล้มตายเป็นอันมาก แม้แต่เจ้าเมืองยังทรงสวรรคต พระมเหสีทรงโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก จึงคิดหาหนทางที่จะแก้แค้นโดยการฆ่านกหัสดีลิงค์ จึงได้ป่าวประกาศหาผู้มีความสามารถมาปราบนกหัสดีลิงค์ ในที่สุดเจ้าหญิงแห่งเมืองตักศิลาได้อาสาปราบนก และสามารถปราบนกดังกล่าวได้ โดยมีศรเป็นอาวุธ ดังนั้นประเพณีเจ้าเมืองจึงได้ทําพิธีเผานกหัสดีลิงค์พร้อมศพเจ้าเมือง โดยมีการจัดวางหีบศพบนหลังนก และสร้างหอแก้วกั้นหีบศพให้สวยงาม และสิ่งดังกล่าวได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ตํานานที่ 3 ว่า…
มีนครแห่งหนึ่งชื่อ นครเชียงรุ้งตักศิลา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระมเหสีจึงนําพระบรมศพแห่ไปถวายพระเพลิงที่นอกเมือง นกหัสดีลิงค์ ซึ่งบินมาจากป่าหิมพานต์มาเห็นเข้า จึงได้โฉบลงมาแย่งพระศพ พระมเหสีจึงหาคนมาปราบนกที่แย่งพระศพ ในที่สุดก็มีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อ “เจ้านางสีดา” ที่มีฝีมือในการยิงธนูเป็นเยี่ยม ได้ใช้ลูกศรยิงนกตกลงมาตาย พระมเหสีจึงให้ประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพร้อมนกใหญ่ จึงกลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่นั้นมา
สำหรับความเชื่อเรื่องพิธีกรรมการปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์ในล้านนานั้น เริ่มขึ้นอย่างไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด ทราบแต่ว่าเริ่มมีมาในยุคล้านนาตอนปลาย ดังที่ปรากฏในหนังสือ “พงศาวดารโยนก” ที่กล่าวถึงการสร้างพิมานบุษบกบนหลังนกหัสดีลิงค์ในงานถวายพระเพลิงศพนางพระญาวิสุทธิเทวี กษัตรีย์แห่งราชวงศ์มังรายผู้ครองเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย ราวปี พ.ศ. 2121 เป็นยุคที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ถือเป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมชิ้นแรกที่กล่าวถึงนกหัสดีลิงค์ในล้านนา “จุลศักราช 940 ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ นางพระญาวิสุทธิเทวี ตนนั่งเมืองนครพิงค์ถึงสวรรคต พระญาแสนหลวงจึงแต่งการพระศพ ทำเป็นวิมานบุษบกตั้งอยู่บนหลังนกหัสดินทร์ตัวใหญ่ แล้วฉุดลากไปด้วยแรงช้างคชสาร ชาวบ้านชาวเมืองเดินตามไป เจาะกำแพงเมืองออกไปทางทุ่งวัดโลกโมฬีและทำการถวายพระเพลิง ณ ที่นั้น เผาทั้งรูปนกหัสฯและวิมานบุษบกนั้นด้วย…..”
พร้อมกันนี้ตามคติความเชื่อโบราณของล้านนา เจ้านายและพระเถระได้รับการยกย่องในสังคมว่าเป็นชนชั้นสูง และเมื่อสิ้นชีพไปแล้วจะไปจุติในภพที่สูงกว่า หรือเป็นเทพสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ ของเขาพระสุเมรุ อันเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธและพราหมณ์ผสมกัน
ความเชื่อดังกล่าวนี้ นำไปสู่การสร้างสรรค์และจัดรูปแบบพิธีศพที่ตอกย้ำถึงแนวคิดที่จะมุ่งไปสู่สวรรค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมรุปราสาทอันเป็นตัวแทนของวิมานสถิตบนเขาพระสุเมรุ หรือการจัดพิธีทางพุทธ เช่น บังสุกุล กรวดน้ำให้แก่ผู้ตาย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการสังสมกุศลบารมี อันจะนำไปสู่ภพที่ดีกว่าคือ นิพพาน
ตามประเพณีที่ทำกันมาแต่โบราณ งานศพของเจ้านายหรือพระสงฆ์จะมีพิธีทำบุญทำทานกันอย่างใหญ่โต มีงานมหรสพและการละเล่นต่างๆ เพื่อลดความวังเวงโศกเศร้า ทั้งยังเป็นการเสริมบรรยากาศให้เกิดมโนภาพของวิมานชั้นฟ้า โดยเฉพาะปราสาทใส่ศพอันเป็นที่สถิตของผู้ตายบนสวรรค์นั้น ก็ได้รับการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามอลังการ ซึ่งทำเป็นรูป “นกหัสดีลิงค์” ที่ว่ากันว่า นกหัสดีลิงค์เป็นพาพนะของผู้มีบุญ ดังนั้นในพิธีงานศพของเจ้านายหรือพระเถระจึงเห็นปราสาทบรรจุศพทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์
ปัจจุบันปราสาทนกหัสดีลิงค์นิยมใช้ในพิธีศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น เมื่อพระเถระมรณภาพจะจัดศพอย่างสมเกียรติ คือทำปราสาทตั้งโลงศพบนบุษบกที่ทำเป็นเรือนยอดตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ และทำแม่เรือวางปราสาทสำหรับลากไปสู่สุสาน
เห็นได้ว่า “ปราสาทนกหัสดีลิงค์” นอกจากจะเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณของชาวล้านนาแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึง “ศิลปะ” อันงดงาม ที่ช่างชาวล้านนาได้ฝากฝีมือไว้บนแผ่นดิน ยากที่จะหาใครมาเทียบเคียง