“แม่ข่า” วันวาน…ถึง…วันนี้
“คลองแม่ข่า” หรือ “น้ำแม่ข่า” เป็นคลองโบราณสายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในชัยภูมิในการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังรายเมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว เดิมทีคลองแม่ข่าททำหน้าที่เป็นคูเมืองชั้นนอกที่โอบล้อมเมือง และเป็นทางระบายน้ำล้นจากในเมืองลงสู่แม่น้ำปิง แต่ด้วยการขยายตัวของชุมชนเมืองกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำในคลองแม่ข่าเน่าเสียอย่างหนัก ซึ่งปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะพัฒนาคลองแม่ข่าให้ฟื้นกลับมามีสภาพดังเดิมอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
“คลองแม่ข่า” ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้อธิบายถึงชัยภูมิ 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง อันเป็นเหตุผลที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1839 โดยชัยภูมิ 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง ได้แก่…
“ชัยภูมิ 7 ประการ” 1.กวางเผือกแม่ลูกสองตัวมาจากป่าใหญ่ทางทิศเหนือมาอยู่ชัยภูมิที่นี้ 2.ฟานเผือกสองตัวแม่ลูกมาอยู่ชัยภูมิที่นี้สู้กับหมา หมาพ่ายหนี 3.มีหนูเผือกกับบริวาร 4 ตัวออกมาแต่ชัยภูมิที่นี้ 4.ภูมิประเทศตะวันตกสูงลาดเทมาตะวันออก น้ำจากดอยสุเทพไหลลงมาเลี้ยงตัวเมือง 5.น้ำแม่ข่าไหลมาโอบตัวเมืองเชียงใหม่แล้วไหลไปเวียงกุมกาม 6.มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางทิศอีสานไว้ให้สัตว์กิน และ 7.แม่น้ำปิงไหลผ่านด้านตะวันออกของเมืองเชียงใหม่
“แหล่งน้ำ 4 แห่ง” 1.ดอยสุเทพ เป็นแหล่งกำเนิดลำห้วยหลายสายได้แก่ ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน น้ำแม่ท่าช้าง และห้วยอื่นๆไหลลงสู่เมืองทำให้เชียงใหม่มีน้ำใช้ตลอดปี 2.น้ำแม่ข่า 3.หนองบัว และ4.แม่น้ำปิง
และยังมีความปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อีก ความว่า “…อยู่ที่นี่ หันน้ำตกแต่อุชุปัตตาดอยสุเทพ มาเป็นแม่น้ำไหลไปหนเหนือ แล้วไหลดะไปหนวันออก แล้วไหลไปใต้ แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้…”
“คลองแม่ข่า” ถือเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ เป็นธารน้ำจากภูเขาที่มีต้นกำเนิดจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย คือ ลำห้วยแม่ชะเยืองและห้วยตึงเฒ่า ไหลรวมเข้ากับลำเหมืองกลางและลำเหมืองแม่หยวกเป็นคลองแม่ข่า ที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่โดยมีลักษณะไหลโอบรอบเวียง ที่ไหลเลี่ยงเมืองจากมุมเมืองด้านเหนือลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีกำแพงเมืองชั้นนอกช่วยเบนคลองแม่ข่าห่างเมืองออกไปทางทิศตะวันออก แล้ววกมาทางใต้ สมทบกับห้วยแก้วและลำห้วยต่างๆ ไหลไปตามชุมชนต่างๆ ขนานไปกับแม่น้ำปิง ก่อนไหลรวมเข้ากับแม่น้ำปิงที่สบข่าในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รวมความยาวราว 31 กิโลเมตร
“คลองแม่ข่า” มีลำน้ำสาขาคือน้ำแม่ท่าช้าง โดยไหลเชื่อมเข้ากับคลองแม่ข่าเหนือแจ่งศรีภูมิ 500 เมตร กับอีกสายคือลำคูไหว ที่เริ่มต้นจากแจ่งกู่เฮืองบรรจบกับคลองแม่ข่าที่ถนนสุริยวงศ์ ที่ลำน้ำสองสายนี้ทำหน้าที่ระบายน้ำออกจากคูเมืองเชียงใหม่
ในอดีตคลองแม่ข่าทำหน้าที่ทั้งเส้นทางสัญจร เป็นคูเมืองชั้นนอก เนื่องด้วยคลองนี้โอบรอบเวียง และยังเป็นทางระบายน้ำ ซึ่งมวลน้ำบางส่วนจะไหลไปรวมกันที่หนองบัวเจ็ดกอ (บ้างเรียก หนองบัว, หนองเขียว หรือหนองป่าแพ่ง) ซึ่งเป็นหนองน้ำโบราณที่มีมาตั้งแต่สร้างเมืองเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ก่อนไหลไปสู่แม่น้ำปิง แต่ปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวได้สิ้นสภาพไปแล้วและถูกถนนอัษฎาธรตัดผ่านเพื่อไปบรรจบกับถนนเชียงใหม่-ลำปาง ในอดีตหนองน้ำนี้จะทำหน้าที่รองรับมวลน้ำมหาศาล ถือเป็นการป้องกันอุทกภัย อันแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านการจัดการน้ำของชาวเชียงใหม่ในอดีต และชาวเชียงใหม่ในอดีต กล่าวว่า “หากปีใดหนองบัวไม่มีน้ำจะเกิดทุกข์ เป็นอาทิ” นอกจากนี้คลองแม่ข่ายังทำหน้าที่ส่งน้ำเลี้ยงคูเมืองชั้นนอก และยังรับน้ำจากลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงสู่เมืองเชียงใหม่ไม่ให้ไหลลงแม่น้ำปิงไปเสียก่อน เพื่อกระจายน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคแก่บรรดาชุมชนต่างๆตามลำคลอง
พร้อมกันนี้อดีตคลองแม่ข่ามีความอุดมสมบูรณ์ น้ำใสสะอาด ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้จากคลอง รวมทั้งสามารถจับปลาและปูที่อยู่ในคลองมาบริโภคได้ แต่ด้วยความที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไร้ระบบในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา มีชุมชนแออัดผุดขึ้นรวมทั้งเกิดการบุกรุกคลองแม่ข่า ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น คลองมีขนาดแคบลงกว่าแต่ก่อน และทรุดโทรมอย่างยิ่ง ทั้งยังมีการทิ้งน้ำเสียจากสถานประกอบการต่างๆ รวมถึงครัวเรือนที่ขาดระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้คลองแม่ข่าเน่าเสียมาอย่างยาวนาน จนเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตก
จากการศึกษาคุณภาพน้ำพบว่า น้ำในคลองแม่ข่านั้นเสียอยู่ในระดับที่ 5 คือ คุณภาพเสียสูงสุด ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ มีอ็อกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งพบสารปนเปื้อน อาทิ อีโคไลน์ ไนเตรต และฟอสฟอรัสสูงกว่าปกติ ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นและมีสีขุ่นดำ
เมื่อราวต้นปี 2560 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน วางแผนที่จะฟื้นฟูคลองแม่ข่า ขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืช ติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ใช้พืชน้ำบัดบัดน้ำเสีย และจ้างคนดูแลคลอง อันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ยูเนสโกพิจารณาเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก หลายฝ่ายมองว่าทั้งคลองแม่ข่าและลำคูไหว ซึ่งเป็นคลองสาขาของคลองแม่ข่า ถือเป็นมรดกที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เชียงใหม่ที่ควรได้รับการพัฒนาสำหรับเป็นจุดขายการท่องเที่ยวได้
ล่าสุด การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคลองแม่ข่านั้น จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อรักษาคุณภาพน้ำแม่ข่าตลอดทั้งสาย รวมทั้งจะได้มีการพัฒนาคลองซอยและคลองสาขาต่างๆ เพื่อให้การระบายน้ำได้ดีขึ้น ขณะที่การแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้ทาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย ส่วนการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำและแก้ไขปัญหาที่พักอาศัย ได้มีการสำรวจพื้นที่ พร้อมการเจรจาและบังคับใช้กฎหมายให้ทำการรื้อถอนอาคาร บ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำน้ำแล้ว
“แม่ข่า” วันนี้ยังคงเน่าเสีย ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนแม่ข่าจะกลับมาเป็นดังเดิม หรือจะมีโอกาสกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและประชาชน หากทำด้วยความตั้งใจจริงทุกอย่างก็เป็นไปได้ แต่หากไม่ร่วมมือกันหรือทำเพียงเพื่อให้พ้นๆไป “แม่ข่า” ก็ไม่มีวันกลับมา!!!