(คลิป) บ้านกิ่วแลน้อย…บ้านช่างแกะ…
งาน “แกะสลักไม้” ถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่ประณีตงดงาม และต้องใช้ความพยายาม ความอดทน ความชำนาญ บวกกับฝีมือ จึงจะได้งานออกมา ซึ่งวันนี้จะขอพาคุณๆมาเที่ยวชม “หมู่บ้านคนช่างแกะ” ตาม “โครงการโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา OTOP Backstreet Academy จังหวัดเชียงใหม่”
โดยหมู่บ้านที่ว่าได้แก่ “บ้านกิ่วแลน้อย” อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
บ้านกิ่วแลน้อย เป็นชุมชนคนช่างแกะโดยแท้ เป็นชุมชนที่ยังคงมีการรวมกลุ่มกันอนุรักษ์งานแกะสลักไม้ ไม่ให้สูญไป ที่นี่โดดเด่นในเรื่องของการ “แกะสลักช้าง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในภาคเหนือในอดีต ที่มีชีวิตประจำวันผูกพันกับช้าง ช้างไม้แกะสลักของที่นี่เป็น “ช้างลีลา” ที่มีความเหมือนช้างจริง มีผิวหนัง มีหลายอิริยาบถ มีรายละเอียดที่อ่อนช้อย ราวกับมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น แม่ช้างให้นมลูก ครอบครัวช้าง ที่กำลังหยอกล้อกัน เป็นต้น
ทั้งยังมี “ช้างแกะสลักจิ๋ว” ที่ตัวเล็กจิ๋วไม่ถึงหนึ่งนิ้วให้สัมผัสอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากงานแกะสลักไม้ประเภทอื่นๆ ให้เลือกซื้อเลือกหา เช่น ช้างอึ่ง (ช้างที่นำไปประยุกต์เป็นเก้าอี้) โต๊ะ เก้าอี้ กรอบรูปที่ทำจากไม้ ฯลฯ ซึ่งแต่ละแบบล้วนเกิดจากจินตนาการของบรรดา “สล่า” ที่รังสรรค์งานออกมาอย่างประณีตและงดงาม
งานแกะสลักไม้ของบ้านกิ่วแลน้อยยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ที่นี่ยังมีงาน “แกะสลักไม้ 3 มิติ” ให้ชมกันอีกด้วย โดย “พ่อเจน นวลสุภา” ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558 ได้เปิดบ้านของตนเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้งานแกะสลักไม้ 3 มิติ โดยพ่อเจน มีประสบการณ์การแกะสลักที่ยาวนานกว่า 50 ปี มีผลงานที่ประณีต งดงาม ดูมีชีวิตชีวา ซึ่งลายที่นิยมแกะจะเป็นลายช้างป่า ลายในวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ ลายกุหลาบพันปี ลายเมือง ลายไทย และลายพระเวสสันดร เป็นต้น
สำหรับเรื่องราวความเป็นมาของงานแกะสลักไม้บ้านกิ่วแลน้อยนั้น เป็นงานแกะสลักที่ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น มาเกือบ 60 ปี จากช่างฝีมือด้านการแกะสลัก นาม “พ่อบุญมี ท้าวปินตา” ที่ภูมิลำเนาเดิมอาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2497 พ่อบุญมีได้ย้ายมาสร้างครอบครัวและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านกิ่วแลน้อย ในสมัยนั้นหมู่บ้านกิ่วแลน้อยเป็นหมู่บ้านที่ทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก พ่อบุญมีไม่มีทรัพย์สมบัติใด นอกจากความรู้ที่ตนเองได้เรียนรู้สืบทอดวิชามาจากบิดามารดา นั่นคือ “การแกะสลักช้าง” ท่านจึงได้คิดริเริ่มประกอบอาชีพแกะสลักช้าง เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว จากความวิริยะ อุตสาหะของพ่อบุญมี ทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวมั่นคงเป็นปึกแผ่น
ในปี พ.ศ. 2515 ร้านนารายณ์ภัณฑ์และห้างเซ็นทรัล กรุงเทพมหานครจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้มาติดต่อซื้อขายงานฝีมือแกะสลักของพ่อบุญมีและท่านได้ส่งผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักรูปช้างเข้าประกวด ฝีมืองานหัตถกรรมอันประณีตของท่าน ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง รางวัลในครั้งนี้ทำให้งานแกะสลักไม้ของพ่อบุญมีได้รับความนิยมมากขึ้น ญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียง รวมถึงชาวบ้านในชุมชนกิ่วแลน้อยต่างก็มาเรียนการแกะสลักจากพ่อบุญมี ความสำเร็จในขั้นแรกนี้จึงเป็นกำลังใจครั้งสำคัญที่ผลักดันให้พ่อบุญมีมุ่งมั่นถ่ายทอดภูมิปัญญาในการแกะสลักไม้ให้กับบรรดาลูกศิษย์ต่างๆ เพื่อให้มีอาชีพสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ต่อมา พ่อคำปัน ทองต้น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น เห็นว่าชาวบ้านบางส่วนยังไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง พ่อคำปันเห็นว่าการแกะสลักไม้สามารถสร้างรายได้ดีให้แก่หมู่บ้านและช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพและมีความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ จึงติดต่อ พ่อครูตา ธรรมรังสี ซึ่งเป็นญาติกับพ่อคำปัน เดิมเป็นคนกิ่วแลน้อยแต่ไปตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอฝาง ให้กลับมาช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบิดามารดา โดยการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับงานช่างไม้แกะสลักให้กับคนในหมู่บ้าน เริ่มแรกนั้นมีพ่อครู 2 คนที่เริ่มสอนการแกะสลักลายไทยลงบนแผ่นไม้ คือพ่อครูใจ๋ มโนแก้ว และพ่อครูตา ธรรมรังสี ครูช่างทั้งสองคนนี้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการแกะสลักลายไทย วิถีชีวิตชนบท ช้างลากซุง ภาพวิวป่าต่างๆ
นอกจากพ่อครูทั้งสองแล้ว ยังมีพ่อหนานธงชัย กิ่วแก้ว ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นพ่อครูสอนการแกะสลักไม้ในด้านลายพุทธประวัติและวรรณคดี ซึ่ง พ่อหนานธงชัย เดิมเคยบวชเป็นพระมาก่อน และได้เริ่มฝึกการแกะสลักไม้จากฝาตู้หรือไม้เก่า โดยเริ่มฝึกแกะสลักไม้เป็นลายพุทธประวัติ ต่อมาจึงสึกจากการบวชพระมาเริ่มต้นอาชีพแกะสลักไม้และพัฒนาฝีมือจนมีความเชี่ยวชาญในการแกะสลักลายวรรณคดี รามเกียรติ์ พุทธประวัติต่างๆ ต่อมาในปี 2510 ได้แต่งงานกับคุณแม่บัวเกี๋ยง ซึ่งเดิมเป็นคนอำเภอแม่วาง จากนั้นพ่อหนานธงชัยก็ได้เริ่มถ่ายทอดการแกะสลักไม้ลายพุทธประวัติและวรรณคดีต่างๆให้แก่คุณแม่บัวเกี๋ยงและมีลูกศิษย์อีกประมาณ 10 คน เช่น เดช สถานมูลคำ สนิทและสนอม มะลิกุล ดวงทิพย์ คำเมือง รวมถึง เจน นวลสุภา หนึ่งในช่างไม้แกะสลักที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
การมาเยือน “บ้านกิ่วแลน้อย” ในครั้งนี้ นอกจากจะได้เพลิดเพลินและตะลึงไปกับงานแกะสลักอันประณีตแล้ว ยังได้วิชาความรู้ในเรื่องงานแกะสลักติดตัวออกมาด้วย เรียกได้ว่ามาเที่ยวที่นี่ได้ครบเครื่องเลยทีเดียว โดยจะมาแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือจะมาค้างคืนก็ได้ ที่นี่มีโฮมสเตย์อันแสนอบอุ่นด้วยไมตรีจากเจ้าบ้านไว้บริการด้วย
และหากมีโอกาสมาค้างแรมที่นี่ ก็อย่าพลาดเที่ยวชมตลาดยามเช้าของที่นี่ ในตลาดมีสินค้าให้เลือกซื้อเลือกหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นผักต่างๆ และอาหารปรุงสำเร็จ เป็นต้น
…………………………………………………………………..
(กลุ่มหัตถกรรมไม้สลักบ้านกิ่วแลน้อย โทรศัพท์ 081-885-0075)
(ข้อมูล http://www.handicrafttourism.com)