นั่งรถราง ชมเมืองเก่า เล่าเรื่องเมือง “แพร่”

จังหวัดแพร่นั้น ขึ้นชื่อในเรื่องของ “ไม้สัก” จนได้รับสมญานามว่า “เมืองไม้สัก” นอกจากเมืองแพร่จะมีไม้สักที่เลื่องชื่อแล้ว ที่นี่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่ามาเที่ยวชมอีกมากมาย จะมีอะไรบ้างนั้น วันนี้ผมจะพาทุกท่านไป…นั่งรถราง ชมเมืองเก่า เล่าเรื่องเมืองไม้สัก…กัน

แต่ก่อนที่เราจะมานั่งรถรางชมเมืองกันนั้น ขอเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการ “ทำบุญตักบาตรยามเช้า” กันก่อน ซึ่งงานนี้ตักบาตรแบบธรรมดาๆที่ไหนๆเขาก็มีกัน มาเมืองแพร่ทั้งทีจะให้ธรรมดาได้อย่างไร เปลี่ยนบรรยากาศจากตักบาตรบนพื้น มาเป็น “ตักบาตรบนเมก” กันบ้าง

“ตักบาตรบนเมก” นั้น คำว่า “เมก” ของคนเมืองแพร่หมายถึง กำแพงเมืองโบราณของเมืองแพร่ ที่ยังคงมีความสมบูรณ์อยู่ โดยมีเสียงไปพ้องกับคำว่า “เมฆ” ถือเป็นชื่อที่มีความเป็นมงคล การตักบาตรบนเมกนี้ เทศบาลเมืองแพร่ได้ส่งเสริมมานานแล้ว โดยหวังให้ประเพณีนี้เป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนา และเสริมสิริมงคล จะทำการตักบาตรในทุกวันพุธ เวลา 7 โมงเช้า ณ บริเวณบนกำแพงเมืองเดิม ใกล้ๆตลาดเทศบาลเมืองแพร่

ซึ่งการตักบาตรนั้นจะมีชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา และข้าราชการ มานั่งตั้งแถวรอพระสงฆ์บิณฑบาตรอยู่บนกำแพงเมืองเก่าอันร่มรื่น ที่เป็นภาพที่สวยงามไม่น้อย โดยถือเป็นการตักบาตรบนกำแพงเมืองโบราณหนึ่งเดียวในโลกเลยก็ว่าได้

ตักบาตรกันเสร็จเรียบร้อย ก็ได้เวลาชมเมืองเก่ากัน โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่อยู่ในเส้นทางรถรางก็ได้แก่ คุ้มเจ้าหลวง , วัดพระบาทมิ่งเมือง , ศาลหลักเมืองแพร่, คุ้มวงศ์บุรี , วัดพงษ์สุนันท์ ,วัดหลวง , คุ้มวิชัยราชา , วัดสระบ่อแก้ว , วัดจอมสวรรค์ และประตูชัย

 

คุ้มเจ้าหลวง

“คุ้มเจ้าหลวง” หรือ “คุ้มเจ้าหลวงนครแพร่” เป็นที่ประทับของเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์ที่ 22 และเป็นคุ้มเจ้าหลวงเพียงไม่กี่แห่งในแผ่นดินล้านนาที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2435 โดยเจ้าพิริยเทพวงษ์ ลักษณะตัวอาคารเป็นอาคารโอ่โถง มีประตูหน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลมและชายคาน้ำ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น โดยมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรปหรือทรงขนมปังขิง

 

วัดพงษ์สุนันท์

“วัดพงษ์สุนันท์” เป็นวัดประจำตระกูลวงศ์บุรี เดิมเป็นวัดร้าง ชื่อ “วัดปงสนุก” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2472 ได้มีการบูรณะและสร้างวิหารใหม่ขึ้น โดยมีหลวงพงษ์พิบูลย์ หรือ พระยาบุรีรัตน์(เจ้าพรหม) และเจ้าสุนันตา เจ้าของบ้าน วงศ์บุรี เป็นศรัทธาหลัก  วัดนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพงษ์สุนันท์ ตามชื่อหลวงพงษ์พิบูลย์ และเจ้าแม่สุนันตา ภายในวัดมีพระนอนสีทองอร่ามอยู่ริมกำแพง เป็นสัญลักษณ์ของวัด

 

คุ้มวงศ์บุรี

“บ้านวงศ์บุรี” หรือ “คุ้มวงศ์บุรี” สร้างขึ้นตามดำริของแม่เจ้าบัวถา มหายศปัญญา ชายาองค์แรกในเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เพื่อเป็นของกำนัลในการเสกสมรสระว่างเจ้าสุนันตา ผู้เป็นบุตรีเจ้าบุรีรัตน์ ที่ท่านรับมาเป็นบุตรีบุญธรรม และหลวงพงษ์พิบูลย์  โดยท่านทั้งสองได้ใช้เรือนหลังนี้เป็นเรือนหอในพิธีเสกสมรสด้วย โดยได้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2440 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2443 ได้ช่างชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง มาควบคุมการก่อสร้าง และมีช่างพื้นเมืองเป็นผู้ช่วย

คุ้มหลังนี้ตัวอาคารเป็นแบบไทยผสมยุโรป โดยเป็นเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่ 2  ชั้นทรงไทยล้านนาผสมยุโรป สีชมพูอ่อน ซึ่งเป็นสีแต่ดั้งเดิม ประดับตกแต่งลวดลายด้วยไม้ฉลุที่เรียกว่าลาย “ขนมปังขิง” อยู่ทั่วตัวอาคาร โดยปัจุบันภายในคุ้มได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล จัดแสดงประวัติความเป็นมาของบ้าน วิถีชีวิตของเจ้านายในอดีต ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ล้วนตกทอดลงมากันในตระกูล

 

คุ้มวิชัยราชา

“คุ้มวิชัยราชา”  เป็นคุ้มของพระวิไชยราชา พระวิไชยราชานครแพร่องค์สุดท้าย และอดีตเสนาคลังเมืองนครแพร่ บุตรในเจ้าแสนเสมอใจ เครือญาติเจ้าหลวงเทพวงศ์ลิ้นตอง เป็นเรือนแบบผสมผสานระหว่างเรือนไม้แบบมนิลา และเรือนขนมปังขิง ร่วมกับสถาปัตยกรรมล้านนา

 

วัดจอมสวรรค์

“วัดจอมสวรรค์” เป็นวัดที่มีความงดงามตามแบบศิลปะพุกาม (พม่า) โดยวัดนี้สร้างขึ้นโดยชาวเงี้ยวซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในพม่าและเดินทางเข้ามาค้าขายในเมืองแพร่ ครั้นเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ วัดแห่งนี้จึงถูกปล่อยร้าง ทรุดโทรม และต่อมาได้รับการบูรณะจากชาวไทยใหญ่ นับเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยากที่ใดเทียบ

โดยสิ่งที่น่าชมในวัด ได้แก่ ศาลาการเปรียญและกุฎิ ที่อยู่ในอาคารเดียวกัน ตัวอาคารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีหลังคาเล็กใหญ่ลดหลั่นกันเป็นชั้น รวม 9 ชั้น ฝาผนังแบ่งเป็นตอนๆ คล้ายข้ออ้อย ภายในแสดงให้เห็นฝีมือการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เสาและเพดานประดับกระจกสีงดงาม และในวัดยังมีเจดีย์รูปทรงแบบพม่า ที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ใหญ่อยู่ตรงกลาง และรายล้อมด้วยเจดีย์เล็กทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 องค์

นอกจากในตัวเมืองแพร่จะมีกิจกรรม…นั่งรถราง ชมเมืองเก่า เล่าเรื่องเมืองไม้สัก…ที่น่าสนใจแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในแพร่นั้นยังมีอีกมาก ที่ในวันนี้จะขอแนะนำเพิ่มเติมกับ ร้านแก้ววรรณา หม้อห้อมธรรมชาติ , บ้านนาคูหา และวัดพระธาตุอินทร์แขวน จังหวัดแพร่

“ร้านแก้ววรรณา หม้อห้อมธรรมชาติ” เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการย้อมหม้อห้อมด้วยกระบวนการทางธรรมชาติแบบดั่งเดิม  ปัจจุบันเจ้าของแบรนด์ แก้ววรรณา ได้ผลิตหม้อห้อมซูเปอร์ไฮเอนด์ที่คงความเป็นธรรมชาติ 100% โดยท่านสามารถชมและเลือกซื้อเลือกหาผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นเมืองจากกลุ่ม “Phrae Craft” ได้อย่างจุใจในที่แห่งนี้

 

เก็บเตา บ้านนาคูหา

“บ้านนาคูหา” เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในหุบเขา อากาศดี เย็นสบาย มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ที่มีกิจกรรมมากมายให้คนเมืองอย่างเราๆท่านๆได้เรียนรู้ อาทิ ชมสวนแบบผสมผสาน ทั้งมะระหวาน ซาโยเต้ เมี่ยง กาแฟอาราบิก้า หรือปั่นจักรยานเที่ยวชมหมู่บ้าน ที่ลัดเลาะไปตามหุบเขา ผ่านทุ่งนา และไร่สวน ทั้งยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ให้สัมผัส กับการ “กิ้วเตา” หรือ “เก็บเตา” ที่ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์อันแปลกใหม่ โดยเตานั้นเป็นสาหร่ายสไปรูจีน่า เป็นวิสาหกิจของชุมชนแห่งนี้ เป็นพืชเศรษฐกิจที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ซึ่งสามารถนำมาบริโภคได้หลายรูปแบบ อาทิ ข้าวเกรียบเตา กาละแมเตา วุ้นเตา และยำเตา เป็นต้น

พระเจ้าต๋นหลวง วัดนาคูหา

พร้อมกันนี้ที่บ้านนาคูหา ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ นั่นก็คือ กราบสักการะขอพร และถวายลูกสมอ พระเจ้าต๋นหลวง วัดนาคูหา ซึ่งพระเจ้าต๋นหลวง วัดนาคูหา ถือเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวในประเทศไทย ที่ถือลูกสมอในมือ โดยผู้ที่กราบขอพรจะต้องถวายลูกสมอ ทั้งนี้ลูกสมอที่นำมาถวายเสร็จแล้ว สามารถนำมารับประทานได้เพื่อความเป็นสิริมงคล

วัดพระธาตุอินทร์แขวน

 

และ”วัดพระธาตุอินทร์แขวน” เป็นวัดที่อยู่ท่านกลางหุบเขา มีอากาศบริสุทธิ์ ขึ้นชื่อว่ามีโอโซนที่ดีที่สุดอันดับ 7 ของประเทศ เป็นพระธาตุประจำปีเกิด ปีจอ ที่ในวัดแห่งนี้ท่านจะได้สัมผัสกับองค์พระผุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองแพร่ แพร่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย หากจะเที่ยวให้ครบ คงต้องมากันหลายวัน จะมาวันไหนๆ ไม่ว่าจะเป็น “วันหยุด สุดสัปดาห์” หรือ “วันธรรมดา น่าเที่ยว” แพร่ก็ยินดีต้อนรับด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ เพราะ…คนแพร่นี้ใจงาม….

………………………………………………………………………………………………………..

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (แพร่ น่าน) โทรศัพท์ 054-521127

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *