สวพส. โชว์ผลงานวิจัย “โลกร้อน…กับเกษตรบนดอย” ปรับตัวและแก้ไขอย่างไร กับสภาพอากาศที่แปรปรวน

นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) เผยผลงานวิจัย “โลกร้อน…กับเกษตรบนดอย” หวังเป็นแนวทางในการสร้างกลยุทธการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง ที่พบกับการผันแปรของสภาพอากาศระหว่างปีค่อนข้างสูง โดยบูรณาการจากภาครัฐเอกชนและเกษตรกร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศทั้งระยะสั้นและระยะยาว การวิจัยศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศและการวิจัยพืช เทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการสร้างการรับรู้ของสถานการณ์ ศึกษาวิธีการ และกลยุทธ์การปรับตัวของเกษตรกรที่สามารถนำไปใช้ได้

“นางสาวอัจฉรา ภาวศุทธิ์” นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า ปี พ.ศ.2593 มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.8 พันล้านคน อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียสจากสภาวะโลกร้อน (Global warming) ขณะที่พื้นที่ที่ใช้เพาะปลูกมีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ ส่งผลต่อพืชอาหารที่จะเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง คือ สภาวะจากสิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic stress) เช่น สภาพความร้อน ความเย็น ความแห้งแล้ง ความเค็มของดิน และโลหะหนัก ที่ทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 50-80% และสภาวะจากสิ่งไม่มีชีวิต (Biotic stress) เช่น โรคพืช แมลง และวัชพืช มนุษย์จากการใช้สารเคมีเกษตร ซึ่งทำให้ผลผลิตเสียหาย 5-20%

ภาวะโลกร้อน คืออะไร??? ภาวะโลกร้อน คือ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร โดยมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา คือ พ.ศ.2448-2548 อุณหภูมิเฉลี่ยใกล้ผิวดินทั่วโลกมีค่าสูงขึ้น 0.74 องศาเซลเซียส สภาพอากาศที่ร้อนจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ ทั้งสภาวะแห้งแล้งที่รุนแรง ยาวนาน ปริมาณฝนที่ลดลงหรือเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ความต้องการใช้น้ำของพืช ความชื้นในดิน คุณภาพของดินที่ใช้เพาะปลูก รวมถึงการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีพของมนุษย์

สำหรับประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียสในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิตการเกษตรโดยตรง เนื่องจากร้อยละ 75 เป็นการทำการเกษตรแบบอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ สำหรับพื้นที่สูงของไทย มีรายงานการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิสูงสุดมีแนวโน้มลดลง ขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดมีแนวโน้มสูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนรวมต่อปีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวงพบการผันแปรของสภาพอากาศระหว่างปีค่อนข้างสูง และกระทบต่อพัฒนาการ การให้ผลผลิตของพืช โดยเฉพาะไม้ผลและพืชผักเขตหนาว ปัจจัยซึ่งได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน จำนวนวันที่มีฝนตก สมบัติของดินทางกายภาพ เคมี ความชื้นในดินในแต่ละช่วงของปี รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา แต่ละพื้นที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผลผลิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นการวางแผนกลยุทธการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรทั้งโดยภาครัฐเอกชน และเกษตรกร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศทั้งระยะสั้นและระยะยาวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางดังนี้

1) การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นความท้าทายที่ทำให้เกิดการวิจัยในการหาพันธุ์พืชให้เหมาะสม และสามารถปรับสภาพตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น พันธุ์ที่ทนโรค แมลงศัตรูพืช พันธุ์ที่ทนร้อนทนแล้งได้มากขึ้น ทนดินเค็ม น้ำเค็ม ทนน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่เหมาะสมกับพืช การปรับปรุงพันธุ์หรือคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือให้มีช่วงการเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน รวมไปถึงการอนุรักษ์ คัดเลือกพันธุ์ท้องถิ่น เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่แข็งแรง ทนโรค และเติบโตได้ดีในพื้นที่

2) การพัฒนาการผลิตพืชที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น การปลูกพืชในโรงเรือน การทำเกษตรแบบ Smart farming โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีต่าง ๆ

3) Biotic interaction คือ การใช้สิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ต่างๆ ในการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช เพิ่มการเจริญเติบโตของพืช หรือป้องกันกำจัดโรคพืชแมลงศัตรูพืช ได้แก่ การใช้จุลินทรีย์ Bacillus subtilis Trichiderma sp., Streptomyces sp.ในการควบคุมโรคพืช

4) การใช้สารบางชนิด เช่น ABA, Ethylene, Salicylic acid, GA3 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของต้นพืช เพิ่มคุณภาพผลผลิต หรือลดการสูญเสียผลผลิตจากสภาวะที่ไม่เหมาะสม เช่น ความหนาวเย็น ดินเค็ม ความแห้งแล้ง หรือทนต่อแสงแดดที่รุนแรง

5) การปรับปรุงแนวทางการทำเกษตรของเกษตรกรให้หลากหลาย หรือการปลูกพืชที่หลากหลายที่เหมาะสมกับพื้นที่ การพัฒนาระบบการผลิตกล้าพืชที่แข็งแรงและปลอดโรค การจัดการแบบผสมผสานในระบบเกษตรอินทรีย์ ระบบการเตือนภัยจากแมลงศัตรูพืช เป็นต้น

ดังนั้นการวิจัยศึกษาด้านสภาพภูมิอากาศและการวิจัยพืช เทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการสร้างการรับรู้ของสถานการณ์ และศึกษาวิธีการ กลยุทธ์การปรับตัวของเกษตรกรที่สามารถนำไปใช้ได้ เราต้องเริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิอากาศในพื้นที่แต่ละแห่งให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และต่อเนื่อง มีฐานข้อมูลพืชบนพื้นที่สูง เลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมกับพืชให้กับเกษตรกร และใช้เทคโนโลยีการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพืช พื้นที่ และความพร้อมของเกษตรกร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในภาคเกษตรทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเกษตรกร และนำไปสู่การตัดสินใจของเกษตรกรในการเลือกปลูกพืชบนพื้นที่สูงได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *