“ขนมจ๊อก” ขนมหวานเมืองเหนือ นิยมทำกินกันเมื่อถึงงานบุญสำคัญ

“ขนมจ๊อก” หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “ขนมเทียน” เป็นขนมพื้นบ้านของคนเมืองเหนือ ที่นิยมทำกันทุกบ้านเมื่อมีเทศกาลงานบุญสำคัญต่างๆ เช่น งานปี๋ใหม่เมืองหรือสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันพระใหญ่ต่างๆ และงานบุญงานบวช เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านจะนำขนมนี้ไปทำบุญที่วัด โดยคำว่า “จ๊อก” นั้น เป็นคำเมือง ซึ่งหมายถึง การทำสิ่งของให้มีลักษณะเป็นกระจุกมียอดแหลม จึงเรียกกันว่า “ขนมจ๊อก”

โดยขนมจ๊อก ทำมาจากแป้ง กะทิ น้ำตาลหรือน้ำอ้อย ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวจ้าว น้ำตาลปี๊บ เกลือ และน้ำมันพืช นำมาผสมกันนวดให้เป็นก้อน ส่วนไส้นั้นแต่ดั้งเดิมนิยมทำไส้หวานจากมะพร้าวเท่านั้น ไม่นิยมทำไส้ถั่วหรือไส้เค็มเท่าใดนัก ปัจจุบันมีผู้คนดักแปลงทำไส้ขึ้นมาอย่างหลากหลาย

ไส้หวานที่ทำมาจากมะพร้าว จะใช้มะพร้าวที่ไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป ที่เรียกว่า “มะพร้าวทึนทึก” นำมาขูดเป็นเส้นฝอยเคี่ยวกับน้ำตาลหรือน้ำอ้อยให้เข้ากันและจับตัวกัน ส่วนไส้เค็มนั้น ทำมาจากถั่วเขียวนึ่งแล้วนำมาบด ผสมหรือผัดกับเครื่องปรุงให้มีรสเค็มนำ

จากนั้นนำแป้งที่นวดมาทำเป็นแผ่นกลม ใส่ไส้ที่เตรียมไว้ตรงกลาง แล้วห่อแป้งให้มิดไส้ คลึงเป็นก้อนกลมๆ ทำใบตองเป็นรูปทรงกรวย ใส่ขนมลงไปในใบตอง พับทบล่างซ้ายขวา แล้วนำด้านที่แหลมสอดพับ และห่อจะได้ขนมทรงสามเหลี่ยม เสร็จแล้วก็นำไปนึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 20 นาที หรือสักเกตุดูสีใบตองเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองก็สามารถกินได้แล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *