ย้อนอดีตเมืองหริภุญไชย ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย”

อนาคตนั้นเราไม่อาจหยั่งรู้ได้ แต่อดีตนั้นเรารู้และศึกษาได้จากหลังฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆนานาที่ถูกค้นพบ ซึ่งสถานที่ที่จะศึกษาอดีตได้ดีที่สุดนั้น ก็คือ “พิพิธภัณฑ์” โดย “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภัญไชย” เป็นสถานที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ของเมืองลำพูนและใกล้เคียงเอาไว้ มีการรวบรวมศิลาจารึก และโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาและผู้คนในอดีตเอาไว้มากมาย

ซึ่งวันนี้เรามาเที่ยวย้อนอดีตกันที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภัญไชย” กันนะครับ

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย” จังหวัดลำพูน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของภาคเหนือ ที่รวบรวมศิลาจารึกและโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาชิ้นสำคัญที่พบในภาคเหนือ เดิมตั้งอยู่บริเวณศาลาบาตร ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร โดยการก่อตั้งของพระยาราชนุกูลวิบูลภักดีพิริยพาห (อวบ เปาโรหิตย์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ โดยมีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เป็นผู้อำนวยการ

ต่อมา “กรมศิลปากร” มีโครงการขยายกิจการพิพิธภัณฑ์ หาสถานที่และงบประมาณจะจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรที่ทันสมัยขึ้นใหม่ พระธรรมโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยฯในขณะนั้น จึงมอบศิลปโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมจำนวน 2,013 ชิ้นให้กรมศิลปากร เพื่อนำออกมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จะสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2511 แต่ก็ยังไม่มีสถานที่เหมาะสม

จนกระทั่งกรมศิลปากรได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุ เดิมเป็นที่ตั้งเรือนจำจังหวัดลำพูน ที่ถนนอินทยงยศ ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัย จำนวน 2 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา ในปี พ.ศ. 2515 จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ขึ้น แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2517 จากนั้นได้ขนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารหลังเก่าในวัดพระธาตุหริภุญชัยฯมาจัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุที่รวบรวมเพิ่มเติมจากที่ประชาชนบริจาค และโบราณวัตถุที่ย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เมื่อการดำเนินการจัดตั้งและจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยเรียบร้อย กรมศิลปากรได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522

ในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประกอบด้วยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พบและมีอยู่ในท้องถิ่น แบ่งตามพื้นที่การจัดแสดง ได้แก่

“ห้องโถงยาว”
เริ่มด้วยการจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ สมัยก่อนหริภุญไชยที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ต่อจากนั้นเป็นการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ที่จัดแสดงตามลักษณะทางศิลปะได้ 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มศิลปะหริภุญไชย ศิลปกรรมในกลุ่มนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

1.กลุ่มที่มีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 (ก่อน พุทธศักราช 1600) มีทั้งที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบปาละ และที่แสดงอิทธิพลศิลปะทวารวดี เช่น กลุ่มเศียรพระพุทธรูปศิลา

2.กลุ่มที่มีอายุระหว่างพุทธศักราช 1600 – พุทธศักราช 1835 เป็นศิลปะที่แสดงอัตลักษณ์เฉพาะของหริภุญไชย อันมีวิวัฒนาการสืบต่อจากกลุ่มแรก มีลักษณะพิเศษของศิลปะทวารวดีโดยทั่วๆไป คือ พระขนงเป็นต่อเป็นปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำปลายชี้ พระโอษฐ์แย้มแบบแสยะ พระนาสิกบาน ภาชนะดินเผาเนื้อละเอียดสีเหลืองนวลมีหลายรูปทรงประดับด้วยลายขูดขีดแบบเชือกทาบ ส่วนใหญ่ใช้บรรจุอัฐิ นอกจากนั้นเป็น คนโฑ มีรูปแบบคล้ายคลึงกับคนโฑน้ำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ

กลุ่มศิลปะล้านนา มีอายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 – 25 จำแนกตามลักษณะทางศิลปะได้ 4 กลุ่มดังนี้

1.ศิลปกรรมกลุ่มที่แสดงให้เห็นถึงการแสวงหาเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงมีทั้งกลุ่มที่รับอิทธิพลของเขมร อิทธิพลของหริภุญไชย และอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบปาละ

2.ศิลปกรรมกลุ่มที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของศิลปะล้านนาอย่างเต็มที่ กล่าวคือ มีเอกลักษณ์ของตนเองอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันก็ดึงเอาความงามตามแบบอย่างศิลปะร่วมสมัยของสุโขทัยและอยุธยาเข้ามาผสมผสานบ้างเล็กน้อย ทำให้เกิดสุนทรียภาพในระดับสากล

3.ศิลปกรรมกลุ่มที่แสดงลักษณะพื้นเมืองประจำท้องถิ่น เช่น พะเยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังรับอิทธิพลของล้านช้างจากลาวมาผสมผสานด้วย นอกจากงานพุทธศิลป์แล้ว ศิลปกรรมที่โดดเด่นอีกประเภทคือ เครื่องเคลือบดินเผาจากเตาแหล่งต่างๆ เช่น สันกำแพง เวียงกาหลง ทุ่งเตาไห และพาน เป็นต้น

4.ศิลปกรรมกลุ่มที่สร้างขึ้นร่วมสมัยกับศิลปรัตนโกสินทร์ มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทยแบบต่างๆ โดยมากเป็นงานหัตถศิลป์ ประณีตศิลป์ ที่ใช้สำหรับถวายพระ ทำด้วยวัสดุมีค่า เช่น ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ช้าง ม้าจำลอง และเครื่องไม้แกะสลักต่างๆ เช่น สัตตภัณฑ์ ฯลฯ อันแสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมล้านนา

“ห้องศิลาจารึก”
จัดแสดงศิลาจารึกที่พบในจังหวัดลำพูน พะเยา และเชียงราย เป็นศิลาจารึกสมัยหริภุญไชย ซึ่งจารึกด้วยภาษามอญ มีอายุเก่าที่สุดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 และศิลาจารึกสมัยล้านนา ซึ่งใช้ภาษาไทยล้านนา มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 22

ศิลาจารึกหลักแรกในพิพิธภัณฑ์ฯพบเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2460 เป็นจารึกอักษรมอญโบราณ บริเวณวัดดอนแก้ว (วัดร้าง) ปัจจุบันคือ โรงเรียนบ้านเวียงยอง ปัจจุบันในห้องศิลาจารึกจัดแสดง 20 รายการ (21 ชิ้น) ประกอบไปด้วยศิลาจารึก 20 หลัก และจารึกแผ่นไม้กระดาน 1 แผ่น ประกอบไปด้วยอักษรมอญโบราณ และอักษรล้านนา (ฝักขาม)

โดย ศิลาจารึกกลุ่มอักษรมอญโบราณ มีต้นกำเนิดมาจาก “อักษรคฤนถ์” ที่มีการใช้ในอินเดียทางตอนใต้ เมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว ศิลาจารึกภาษามอญที่พบในจังหวัดลำพูน พบตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัดจามเทวี วัดบ้านหลวย บริเวณริมแม่น้ำกวงฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองลำพูน วัดแสนข้าวห่อ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์ฯในปัจจุบัน วัดมหาวัน และวัดต้นแก้ว ส่วน ศิลาจารึกในกลุ่มอักษรไทยล้านนา (ฝักขาม) มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 ราว 400-600 ปีมาแล้ว ได้รับรูปแบบจากตัวอักษรสุโขทัย ลักษณะตัวอักษรคดงอคล้ายฝักมะขาม พบการใช้ในศิลาจารึกซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการกัลปนาสิ่งของ เช่น ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ เงินทอง ที่ดิน กลุ่มคน โดยจารึกอักษรฝักขามที่เก่าแก่ที่สุด คือ จารึก ลพ.9 พ.ศ.1954

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภัญไชย เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 08.30 – 16.30 น. ปิดให้บริการ วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท ยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม พระภิกษุ สามเณร นักบวช นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือเข้าชมเป็นหมู่คณะ และสามารถชมสื่อการเรียนรู้เสมือนจริง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภัญไชย ได้ที่ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/hariphunchai/index.php/th/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 053-511186 ในเวลาทำการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *