สืบสานคุณค่าวรรณคดีไทย ใน “อุทยานลิลิตพระลอ”

คนที่เกิดในช่วงของ “เจเนอเรชั่น ซี” (Generation Z) นั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะคุ้นหูหรือคุ้นเคยกับวรรณคดีไทยเรื่อง “ลิลิตพระลอ” ส่วนเจเนอเรชั่นก่อนหน้านี้ อย่าง เจเนอเรชั่น วาย  (Generation Y)  เจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation X) หรือ เจเนอเรชั่น บี (Baby Boomer) คงคุ้นเคยกับวรรณคดีไทยเรื่องนี้ กันเป็นอย่างดี ไม่มากก็น้อย

วรรณคดี “ลิลิตพระลอ” นั้น วรรณคดีสโมสรได้พิจารณามีมติให้ลิลิตพระลอเป็นยอดของลิลิต เนื่องด้วยลิลิตพระลอมีอรรถรสที่มีความสมบูรณ์ครบทุกด้าน ทั้งความบันเทิง และปรัชญาที่สะท้อนวิถีชีวิต ซึ่งมีลักษณะเด่นที่แสดงออกถึงความมีอำนาจ ความมีฤทธิ์ ความรัก ความหลง ความกตัญญู  ความจงรักภักดี ความพยาบาท ผูกอาฆาต ความโศกเศร้า และความตาย อันเป็นกฎอนิจจัง

จากหลักฐานต่างๆจึงสรุปได้ว่า ลิลิตพระลอเป็นตำนานเล่าขาน มีโบราณวัตถุและโบราณสถานที่ใช้อ้างอิงและสนับสนุนสอดคล้องตามเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะอรรถรสทางภาษาและสาระของวรรณคดีลิลิตพระลอมีความสมบูรณ์ เป็นอมตะรักแฝงคติธรรม แนววิถีชีวิตมนุษย์ ในลักษณะพุทธปัญญา อวสานลงด้วยกฎธรรมชาติ…อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา…

ลิลิตพระลอเป็นลิลิตเรื่องเอกที่แต่งเป็นลิลิตสุภาพที่มีร่ายและโคลงสุภาพเป็นส่วนใหญ่ บางบทเป็นร่ายต้น ซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานอธิบายเกี่ยวกับหนังสือลิลิตไว้ในหนังสือบันทึกสมาคมวรรณคดีปีที่ 1 ฉบับที่ 5 วันที่ 21 มิถุนายน 2475 ว่า วรรณคดีลิลิตพระลอ แต่งในสมัยอยุธยา เป็นนิทานเรื่องอาณาเขตล้านนา พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นผู้ทรงนิพนธ์ เมื่อดำรงพระยศเป็นพระโอรส แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราว พ.ศ. 1991 ถึง 2026 ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะหนังสือจินดามณีที่พระโหราฯแต่งในรัชกาลนั้น ได้คัดเอาโคลงลิลิตพระลอมาใช้เป็นแบบโคลง 4 สุภาพ เพราะเอกโท ตรงตามตำราหมดทุกอย่าง คือบทที่ว่า

“เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ”

เรื่องราวของวรรณคดีลิลิตพระลอ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 เมือง คือเมืองสรวงกับเมืองสรอง โดยเมืองสรวงมีเจ้าเมืองผู้ครองนครชื่อ ท้าวแมนสรวง มีชายาพระนามว่า พระนางบุญเหลือ ทั้งคู่มีพระโอรสพระองค์หนึ่ง รูปงามมากนาม “พระลอ” ส่วนเมืองสรอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสรวง มีเจ้าเมืองชื่อ ท้าวพิมพิสาคร มีพระโอรสชื่อ ท้าวพิไชยพิษณุกร มีพระชายาชื่อ พระนางดาราวดี  และมีพระธิดาสวยสดงดงามยิ่งนาม “พระเพื่อน พระแพง”

โดยในเนื้อเรื่องมีเรื่องราวมากมายให้ได้สัมผัส ทั้งเรื่องของศึกสงครามระหว่างทั้ง 2 เมืองที่เป็นชนวนเหตุของความแค้น เรื่องราวการทำเสน่ห์ของปู่เจ้าสมิงพราย เรื่องราวการเสี่ยงทายน้ำ เรื่องราวของการเสกไก่แก้วหลอกล่อ เรื่องราวความรักของพระลอ พระเพื่อน พระแพง และทั้งเรื่องโศกนาฏกรรมความรักของสามกษัตริย์ เป็นต้น

เรื่องราวทั้งหลายแหล่ตามท้องเรื่องในวรรณคดีลิลิตพระลอนั้น ถูกถ่ายทอดออกมาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ณ อุทยานลิลิตพระลอ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งที่อุทยานแห่งนี้ท่านจะได้สัมผัสกับ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พระลอ พระเพื่อน พระแพง ในฉากที่ทั้งสามยืนอิงพิงกันตาย มีไก่แก้วที่ปู่เจ้าสมิงพรายใช้หลอกล่อพระลอให้รีบมาหาพระเพื่อน พระแพง ทั้งยังมีถ้ำจำลองของปู่เจ้าสมิงพราย ที่ภายในถ้ำได้จัดแสดงภาพประติมากรรมฝาผนัง เรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดีลิลิตพระลอ พร้อมทั้งด้านหน้าของอุทยานยังมีอาคารแสดงประวัติ และวัตถุโบราณที่ขุดพบในอุทยานอีกด้วย

นอกจากนี้เรื่องราวในท้องเรื่องลิลิตพระลอ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมข้างต้นแล้ว ยังถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความอร่อยอีกด้วย กับเมนูประจำถิ่น “ข้าวห่อพระลอ” ที่ในเรื่องว่าเอาไว้ว่า ครั้นได้ฤกษ์ พระลอ จึงเข้าไปปลอบและอำลามเหสี แม่นมและเหล่าสนมกำนัน ยิ่งก่อเกิดความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ไปทั่วทั้งวัง แม่นมของพระลอชื่อ นางศรีเพ็ญ ได้ทำข้าวห่อให้ด้วยความเป็นห่วงว่า ระหว่างเดินทางหนทางจะทุรกันดาร กลัวพระลอจะอดอยาก จึงได้จัดเตรียมห่อข้าวไว้ให้เสวยระหว่างทางยามหิว ห่อข้าวนั้นห่อด้วยใบตองตึง ภายในมีข้าวเข็มทอง(ข้าวเหนียว)เป็นข้าวพันธุ์ดี จิ้นปิ้ง น้ำพริก ไข่ต้มและผักลวก ระหว่างเดินทางมาเมืองสรอง พระลอได้นำข้าวห่อมาเสวยและรำลึกนึกถึงความห่วงใยของแม่นมที่ได้เลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่ครั้นเป็นทารกจนกระทั่งเติบใหญ่

ด้วยลักษณ์ห่อข้าวดังกล่าว ชาวบ้านได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในการห่อข้าวสำหรับการเดินทาง โดยปัจจุบันข้าวห่อดังกล่าว ก็คือข้าวเหนียวพันธุ์เข็มทอง ซึ่งการห่อข้าวลิลิตพระลอ จะมีการห่อเป็นชั้นๆ ชั้นนอกใช้ใบตองตึงห่อสำหรับห่อกับข้าวต่างๆรวมกัน ชั้นในประกอบด้วยไข่ต้ม เกลือ น้ำพริกตาแดง จิ้นปิ้ง ข้าวเหนียว ส่วนผักนั้นแต่เดิมสามารถหาเก็บระหว่างทาง แต่ปัจจุบันห่อรวมเข้าไปด้วย ทั้งหมดนี้ชาวบ้านนำมาขายในสนนราคา

ห่อละ 60 บาท สามารถอิ่มได้ถึง 2 คนเลยทีเดียว

งานนี้สนใจสัมผัสเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักอันเป็นอมตะ และลิ้มรสข้าวห่อพระลอ ก็แวะมากันได้ที่ “อุทยานลิลิตพระลอ” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ 054-642387

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *